“เล่าเรื่องเมืองจีน ตอน ประวัติศาสตร์จีน: หนังสือเรียนภาษาอังกฤษสมัยราชวงศ์ชิงของจีน อายุมากกว่า 150ปี กับระบบการเรียนการออกเสียงในภาษาต่างประเทศของคนจีน”

หนังสือเรียนภาษาอังกฤษเล่มนี้ ถูกเขียนขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิง เมื่อปี ค.ศ. 1860 หรือเมื่อ 156ปีที่ผ่านมา ในสมัยนั้นยังไม่มีระบบสัทอักษรสากล หรือ IPA เพื่อใช้แทนเสียงของภาษาทุกภาษารวมถึงภาษาอังกฤษว่าควรออกเสียงอย่างไร โดยระบบ IPA ถูกสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1886 หรือ 26ปี หลังจากที่มีการเขียนหนังสือเรียนภาษาอังกฤษสมัยราชวงศ์เล่มนี้ โดยเนื้อหาภายในหนังสือจะเป็นภาษาอังกฤษที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้ในการค้าขายกับชาวตะวันตก

– “ถ้าหากไม่มีระบบสัทอักษรสากล (IPA) ดังนั้น คนจีนในสมัยนั้น เรียนการออกเสียงภาษาอังกฤษอย่างไร? ”

ตามหลักฐานในหนังสือเรียนภาษาอังกฤษสมัยราชวงศ์ชิงเล่มนี้ พบว่า ผู้เขียนใช้การเลียนเสียงจากเสียงของอักษรจีน แทนเสียงขอคำในภาษาอังกฤษ

ตัวอย่างเนื้อหาการออกเสียงภาษอังกฤษจากหนังสือเล่มนี้

To do ออกเสียงว่า 土度 ถู ตู้

Tomorrow ออกเสียงว่า 托马六 ทัวหม่าลิ่ว

Tomorrow I give you answer อ่านว่า

托马六、唵以、及夫、尤、唵五史为
ทัวหม่าลิ่ว อันอี่ จี๋ฟู โหยว อันอู่สือเหวย

Less one half of your prices อ่านว่า

肋司、氓、哈夫、哑夫、尤、濮癵司
เล่ยซือ เหมิง ห้าฟู ยาฟู โหยว ผูหลวนซือ

ในปัจจุบันยังคงมีให้เห็นการเลียนเสียงภาษาอังกฤษด้วยเสียงของอักษรจีน อย่างการสอนเด็กเล็ก ก็ยังคงใช้การเลียนเสียงเพื่อช่วยให้เข้าใจได้ง่าย

– “นอกเหนือจากภาษาอังกฤษ ยังมีการใช้เสียงของอักษรจีน เพื่อเรียนการออกเสียงของภาษานั้น หรือไม่?”

การใช้เสียงของอักษรจีนเพื่อเรียนการออกเสียงของภาษาต่างประเทศ นอกเหนือจากภาษาอังกฤษ …มีแน่นอนครับ ก็เหมือนกับคนไทยเรียนภาษาอื่น ก็ยังมีการเทียบเป็นภาษาไทย เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น

โดยจากประสบการณ์ของอ้ายจงเอง พบว่าอย่างตำราหรือสื่อการสอนภาษาไทยสำหรับคนจีน บางเจ้า โดยเฉพาะฉบับเร่งรัดที่เน้นการพูด จะใช้การเรียนการสอนแบบการเลียนเสียงด้วยอักษรจีน ซึ่งผู้เรียนจะสามารถเรียนได้เร็ว แต่ข้อเสียคือการออกเสียงจะไม่ถูกต้องนัก เพราะเสียงบางเสียงของภาษานั้น ไม่มีในภาษาจีน เช่น แม่กด หรือเสียง ด.เด็ก ของไทย ไม่มีในระบบเสียงของภาษาจีน คนจีนเลยมักจะออกเสียงคำว่า “สวัสดี” เป็น “萨瓦迪 ซ่าหว่าตี๋”

——————-

-“การเรียนการสอนภาษาอังกฤษในจีนสมัยราชวงศ์ชิงตอนปลาย”

ดร.ซุนกว่างผิง นักวิจัยทางด้านวัฒนธรรมจีน-ตะวันตก ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในจีนสมัยราชวงศ์ชิงตอนปลาย และแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ดังนี้

1. ช่วงต้น ( 1807 – 1840)

ชาวจีนเริ่มเรียนภาษาอังกฤษเพื่อติดต่อค้าขายกับชาวตะวันตก โดยเรียนจากหนังสือเรียนภาษาอังกฤษแบบผสม (Pidgin English) โดยใช้การเลียนเสียงภาษาอังกฤษด้วยเสียงของอักษรจีน

2. ช่วงพัฒนา ( 1840 – 1895)

ในช่วงนี้ เป็นช่วงพัฒนาของการเรียนภาษาอังกฤษในสมัยราชวงศ์ตอนปลาย เริ่มมีโรงเรียนตะวันตกเปิดในจีน และเริ่มมีหนังสือเรียนภาษาอังกฤษที่เขียนโดยชาวอเมริกัน ทำให้การเรียนภาษาอังกฤษมีความถูกต้องมากกว่าช่วงต้น

3. ช่วงหลังสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่1 (หลังปี 1895)

เริ่มมีหนังสือเรียนภาษาอังกฤษแบบต้นฉบับจากต่างประเทศ เข้ามาในจีน

สมัยอดีต ชาวจีนพยายามเรียนภาษาอังกฤษเพื่อติดต่อค้าขายกับชาวตะวันตก แต่ในปัจจุบัน ชาวตะวันตกเริ่มพยายามเรียนภาษาจีนเพื่อติดต่อค้าขายกับชาวจีน เช่นกัน 😀

อ้ายจงนำรูปและเรียบเรียงข้อมูลบางส่วน จาก Chinadaily.com, 央视新闻(CCTVNEWS)

#อ้ายจง #เล่าเรื่องเมืองจีน





ขอบคุณที่มาของข้อมูล :
แฟนเพจอ้ายจง