• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • ชีวิต Ph.D. ในแดนมังกรตอนที่ 22 ผิงผิง ดวงพร แซ่พาน นักศึกษาปริญญาเอกสาขาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัย Renmin University of China – Thai Ph.D. in China

ชีวิต Ph.D. ในแดนมังกรตอนที่ 22 ผิงผิง ดวงพร แซ่พาน นักศึกษาปริญญาเอกสาขาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัย Renmin University of China – Thai Ph.D. in China

ping1

สวัสดีค่ะ ชีวิต Ph.D. ในแดนมังกรสัปดาห์นี้ เราจะพาไปรู้จักกับผิงผิง นศ.ปริญญาเอกสาขาสังคมศาสตร์ กับชีวิตการเรียน และมุมมองของเธอที่มีต่อสังคมและประเทศจีนในประเด็นต่าง ๆ เช่น เรื่องการเคลื่อนย้ายประชากร การจัดลำดับช่วงชั้นทางสังคม กรณีสยงอันและเรื่องอื่น ๆ เราไปติดตามเรื่องราวน่าสนใจได้ในบทสัมภาษณ์นี้กันเลยค่ะ

 

Admin: สวัสดีค่ะผิง แนะนำตัวด้วยค่ะ

ผิงผิง: สวัสดีค่ะ ชื่อดวงพร แซ่พาน ชื่อเล่นชื่อผิงค่ะ ตอนนี้กำลังเรียนปริญญาเอกสาขาสังคมศาสตร์ ที่ School of Sociology and Population Studies ที่มหาวิทยาลัย Renmin University of China ค่ะ

Admin: ค่ะ ก่อนหน้าที่ผิงมาเรียนสังคมศาสตร์นี้ ผิงเรียนอะไรมาก่อนคะ

ผิงผิง: คือจริง ๆ ตอนปริญญาโทผิงเรียนภาษาศาสตร์และภาษาศาสตร์ประยุกต์ค่ะ พอปริญญาเอกก็ข้ามสายมาเรียนสังคมศาสตร์ค่ะ

Admin: จากสายภาษาข้ามมาเรียนด้านสังคม?

ผิงผิง: ใช่ค่ะ

Admin: อะไรเป็นสิ่งที่จุดประกายให้มาเรียนในสายนี้คะ?

ผิงผิง: ต้องบอกว่าผิงเองอยากเข้าใจคนจีนให้มากขึ้น ซึ่งตรงกับหัวใจสำคัญของสาขาสังคมศาสตร์ก็คือเข้าใจถึงแรงผลักดันที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมของมนุษย์“理解人们行为背后的动机。”ซึ่งพอมาเรียนเราก็ได้เข้าใจอะไรมากขึ้น ได้เห็นภาพของสังคมที่เป็นอยู่ว่ามันเป็นมายังไงค่ะ

Admin: ค่ะ แล้วที่ผิงเรียนอยู่ตอนนี้เป็นหลักสูตรกี่ปี ใช้ภาษาอะไรคะ?

ผิงผิง: ของผิงเป็นหลักสูตรภาษาจีนค่ะ สายสังคมศาสตร์ไม่มีภาษาอังกฤษ ใช้ภาษาจีนล้วน ดังนั้นใครจะมาเรียนต่อสายนี้ต้องเตรียมภาษาจีนมาให้พร้อมระดับนึงค่ะ ส่วนรุ่นผิงนั้นเป็นปีสุดท้ายที่เป็นหลักสูตร 3 ปีค่ะ รุ่นปี 2016 เป็นต้นมาจะเป็นหลักสูตร 4 ปีค่ะ

Admin: ที่นี่เรียนกี่หน่วยกิตคะ?

ผิงผิง: ไม่ต่ำกว่า 22 หน่วยกิตค่ะ

Admin: มีไปฟังบรรยายพิเศษนอกสถานที่บ้างไหมคะ?

ผิงผิง: ก็มีค่ะ อยู่ที่นี่บางทีก็จะไปฟังบรรยายที่ม.ปักกิ่งกับที่ชิงหัว 北大清华讲座 คือที่นั่งมันจะเต็มเร็วมาก ถ้าอันไหนเราสมัครได้ก็สมัครไปก่อน บางครั้งสมัครไว้แล้วแต่ไปถึงแล้วห้องเต็ม ก็ต้องยืนฟังก็เคย อย่างที่มหาลัยที่ผิงเรียนนี้มีอาจารย์ท่านหนึ่งทำเรื่องเพศที่สาม ซึ่งก็จะดังมากในจีน เวลาท่านบรรยายก็จะมีคนมาฟังเยอะแบบนี้เช่นกันค่ะ

Admin: ฟังดูน่าสนุกนะคะ

ผิงผิง: ค่ะ

Admin: พูดถึงการเรียนที่นี่บ้าง?

ผิงผิง: ที่จริงก็น่าจะคล้าย ๆ กับที่อื่นนะคะ มีการ discuss กันในห้องเรียนทั่ว ๆ ไป แต่ผิงว่าในคลาสจริง ๆ วิชาเรียน เนื้อหาเราอาจจะได้อะไรไม่เยอะมาก เพราะใคร ๆ ก็อ่านเองได้ แต่ในส่วนที่ผิงว่าได้เยอะที่สุดก็คือมุมมองจากเพื่อน ๆ เวลาที่กำลังถกประเด็นกันค่ะ เพราะเพื่อนร่วมชั้นของผิงแต่ละคนเป็นอาจารย์กันหมดแล้วค่ะ เค้ามาเรียนเพื่อพัฒนาในสายอาชีพ แต่ละคนก็มาจากต่างที่ทั้ง ยูนนาน เหอเป่ย หรือบางคนก็เป็นกรรมการพรรคในมหาวิทยาลัย พื้นเดิมพวกเขาจะทฤษฎีแน่นอยู่แล้ว และเคยทำโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลมาก่อน ดังนั้นกรอบแนวคิด หรือการมองปัญหาของพวกเค้าก็จะไม่เหมือนกับเรา บางเรื่องตามทฤษฎีกับความเป็นจริงมันก็สวนทางกัน เราก็ต้องหักล้างกันไป ก็ได้เห็นว่าเรื่องนโยบายของรัฐนี่มีผลกับประชาชนชัดเจนมาก ๆ เช่นกันค่ะ

ping2

Admin: พอจะเล่าให้ฟังคร่าว ๆ ได้ไหมคะ

ผิงผิง: ได้ค่ะ ยกตัวอย่างกรณีผลักดันประชากรชนชั้นแรงงานให้ออกจากปักกิ่งเพื่อลดจำนวนประชากรให้เหลือไว้เฉพาะคนปักกิ่งจริง ๆ

Admin: ถือเป็นประเด็นร้อนที่น่าสนใจมากเลยค่ะ

ผิงผิง: ค่ะ อย่างกรณีนี้รัฐบาลก็จะพยายามผลักดันให้คนที่ไม่ได้ถือทะเบียนบ้านของปักกิ่งออกไป เพราะคนพวกนี้มาอยู่แล้วเป็นสลัม รัฐบาลก็ไม่อยากให้มี เพราะอาจจะเกิดเป็นปัญหาอาชญากรรมหรืออื่น ๆ ก็เลยพยายามผลักดันให้ออกไป อย่างพวกขายของข้างทางตอนนี้ในปักกิ่งก็หายไปได้ 90% แล้ว หรือว่าตลาดค้าส่งเสื้อผ้าก็จะย้ายไปอยู่ทีเหอเป่ยแทน พวกพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของอยู่ตรงนั้นก็ต้องย้ายตามไปด้วย

Admin: ก็พอดีเลยกับที่จะสร้างเมืองใหม่ที่สยงอัน 雄安?

ผิงผิง: ก็ประมาณนั้นค่ะ อย่างกรณีสยงอันนี้คือบางคนทำงานอยู่ปักกิ่งแต่ว่าพักที่เหอเป่ยซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กัน นั่งรถไฟฟ้าสิบนาทีก็ถึง ดังนั้นก็จะมีคนบางส่วนที่พักอยู่ที่นั่นแล้วมาทำงานในเมือง แล้วเมื่อก่อนคนจะมาซื้อบ้านซื้อคอนโดในปักกิ่งกันเยอะมาก พอรัฐบาลออกกฎข้อบังคับออกมาก็ทำให้ซื้อได้ยากขึ้น พอข่าวออกมาว่าจะมีการย้ายเมืองไปที่สยงอัน ราคาบ้านก็ขึ้นเป็นเท่า ๆ ตัว อย่างผิงมีเพื่อนคนหนึ่งเป็นคนสยงอัน เขามาเล่าให้ฟังว่ามีคนจีนมาเคาะห้องเพื่อติดต่อขอซื้อห้องเขาในราคา 2 ล้าน แต่เขาก็ไม่ได้ขาย คนจีนคนนั้นก็เลยบอกกับเพื่อนผิงว่าถ้ารู้ข่าวว่าคนแถวนี้มีใครจะขายบ้านให้รีบบอกเขา เขาจะมาซื้อและจะแบ่งค่านายหน้าให้ด้วยกี่เปอร์เซ็นต์ ประมาณนี้ค่ะ

Admin: เคาะประตูบ้านเพื่อขอซื้อบ้านจากเจ้าของเนี่ยนะคะ?

ผิงผิง: 55 ใช่ค่ะ

Admin: แสดงว่าการได้ใช้ชีวิตในเมืองหลวง หรือเมืองที่อาจจะกลายเป็นเมืองใหม่ในเร็ว ๆ นี้ถือเป็นความใฝ่ฝันอย่างหนึ่งของคนจีน

ผิงผิง: ก็อาจจะประมาณนั้นค่ะ

Admin: พูดถึงกรณีของทะเบียนบ้านกันบ้าง จริง ๆ จีเองก็เห็นเพื่อน ๆ คนจีนหลายคนเวลาเรียนจบแล้วจะหางานทำต่อในเซี่ยงไฮ้ก็ต้องวุ่นวายกับเรื่องนี้พอสมควร ผิงผิงพอจะเล่าให้ฟังคร่าว ๆ ได้ไหมคะ

ผิงผิง: อย่างเรื่องทะเบียนบ้านหรือฮู่โข่ว 户口 เนี่ยค่ะ อย่างที่ปักกิ่งคือถ้าใครทำงานในหน่วยงานรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจก็จะมีทะเบียนบ้านของที่นี่ ถ้าเป็นงานอื่น ๆ เขาก็จะมีเกณฑ์ค่ะว่าจะยื่นขอทะเบียนบ้านที่นี่ต้องจ่ายภาษีอย่างน้อยกี่ปี และล่าสุดได้ยินมาว่าต้องทำงานที่นี่อย่างน้อยสามปีหรือห้าปีถึงจะมีสิทธิยื่นขอได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่ายื่นขอแล้วครั้งเดียวจะผ่านเลยนะคะ อย่างเมื่อก่อนถ้าแต่งงานกับคนปักกิ่งก็อาจจะได้ทะเบียนบ้านที่นี่เลย แต่ปัจจุบันนี้มันไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าแต่งงานกับผู้ชายปักกิ่ง เราไม่ได้ทะเบียนบ้านที่นี่ มีลูก ลูกก็จะถือทะเบียนบ้านตามเราค่ะ นั่นหมายถึงสิทธิในการรักษาพยาบาลตั้งแต่ตอนฝากท้องจะคลอด ก็ต้องเลือกโรงพยาบาลอีกแบบหนึ่ง ถ้าจะไปโรงพยาบาลดี ๆ ก็ต้องรอคิวค่ะ ถ้ามีลูกแล้วลูกจะเรียนหนังสือในปักกิ่ง คุณก็ต้องมีทะเบียนบ้านที่นี่ ไม่งั้นก็ต้องให้ลูกไปเรียนเอกชนหรือไปเรียนโรงเรียนในเกรดสามแทน ซึ่งนั่นหมายถึงสิทธิในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยหรือที่นี่เรียกว่า “เกาข่าว” 高考 เพื่อเรียนต่อมหาวิทยาลัยในปักกิ่งก็จะน้อยลงไปด้วยค่ะ

ping3

Admin: เป็นชีวิตที่มีความกดดันและต้องแข่งขันตลอดเวลา

ผิงผิง: ใช่ค่ะ ผิงว่าคนจีนมีความอดทนมากนะคะ

Admin: จริงค่ะ คนจีนอดทนมาก

ผิงผิง: อย่างขอยกตัวอย่างเพื่อนผิงอีกคนละกันค่ะ เป็นคนจีนที่เรียนด้วยกันตอนสมัยปริญญาโท เพื่อนผิงคนนี้จบออกมาก็มีเลือกงานอยู่ 2 ที่ ที่แรกเป็นบริษัทเอกชน ให้เงินเดือน 14,000 หยวนพร้อมสวัสดิการดีมาก แต่ไม่มีทะเบียนบ้านปักกิ่ง กับอีกที่หนึ่งเป็นหน่วยงานรัฐได้เงินเดือน 4,000 หยวน พร้อมหอพักธรรมดา แต่ว่าได้ทะเบียนบ้านปักกิ่ง เพื่อนผิงก็เลือกทำงานที่นี่เพื่อจะได้ทะเบียนบ้าน

Admin: เงินเดือน 4,000 หยวนในปักกิ่งเนี่ยนะคะ?

ผิงผิง: นั่นสิจี คิด ๆ ดูว่าเขาจะอยู่ได้ยังไง แต่เขาก็เลือกแล้ว และบริษัทมีข้อแม้ว่าต้องทำงานที่นี่ 5 ปี ถึงจะได้ทะเบียนบ้านปักกิ่งนะ

Admin: ห้ะ! ไม่ได้ทันทีแต่จะได้ภายใน 5 ปี

ผิงผิง: ใช่ค่ะ

Admin: ต้องมีความอดทนและมุ่งมั่นมากจริง ๆ แล้วตอนนี้เขายื่นเรื่องได้หรือยังคะ?

ผิงผิง: ยังค่ะ ยื่นรอบแรกแล้วยังไม่ผ่าน ต้องรอยื่นปีต่อไป

Admin: โห หมายความว่า 5 ปีที่รอคอย ยังต้องรอต่อไปอีกเหรอคะ

ผิงผิง: ค่ะ เมื่อเลือกแล้ว ก็ต้องอดทน

Admin: ฟังแล้วเราได้เข้าใจคนจีนมากขึ้นว่าทำไมพวกเขาถึงได้ขยันและมุ่งมั่น จนหลาย ๆ ครั้งเรามองว่าเขาเป็นคนเห็นแก่ตัว ไร้น้ำใจหรือไร้มารยาทเลยนะคะ

ผิงผิง: ค่ะ ผิงจะเล่าอีกเรื่องให้ฟังเอาไหมคะ

Admin: ได้เลยค่ะ เล่ามาเลย

ผิงผิง: ตอนที่เรียนอยู่มีอยู่คลาสนึงเรียนเกี่ยวกับเรื่องการจัดลำดับช่วงชั้นทางสังคม อาจารย์ท่านพูดถึงว่าทำไมหลาย ๆ ประเทศรวมถึงประเทศจีนมีคนจนเยอะมาก แต่คนพวกนี้ล้มคนด้านบนไม่ได้ เพราะว่าคนที่มีเงินมาก ๆ ระดับที่อยู่บนยอดนี้ มีไม่เยอะ แต่คนตรงกลาง ๆ ที่อยู่ในระดับมีกินมีใช้มีจำนวนเยอะมากถึง 70% ในขณะที่สัดส่วนของคนที่เป็นชนชั้นแรงงาน หรือกรรมกรนั้นยังมีอยู่น้อย พวกเขาจึงไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ พวกเขาเองก็ต้องถีบตัวเองขึ้นมาให้อยู่ในระดับกลาง เพื่อให้ตัวเองอยู่รอดได้

Admin: และเป็นธรรมดาของคนที่เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้วจะต้องปกป้องรักษาตัวเองก่อน

ผิงผิง: ใช่ พวกเขาก็จะปกป้องรักษาสถานภาพของตัวเองที่ก้าวเข้ามาอยู่ในระดับนั้นได้แล้วให้ดีที่สุด อาจารย์ผิงใช้คำว่า คุณจะไม่มีวันรู้ว่าคุณเป็นคนยังไงจนกว่าคุณจะไปยืนอยู่บนจุดนั้น

Admin: จริงค่ะ

ผิงผิง: มีเพื่อนผิงคนหนึ่งค่ะเค้าทำวิจัยเกี่ยวกับชาวนา คือชนชั้นนี้ดูเหมือนจะมี reflection สูง แต่เอาเข้าจริง ๆ พวกเขากลับไม่ได้รู้สึกว่าชีวิตของเขาต้องเข้าไปอยู่ในเมือง หรือว่าต้องการแบบนั้น เพราะมนุษย์เราจะเปรียบเทียบตัวเองกับสภาพแวดล้อมที่เราเป็นอยู่

Admin: จีเคยอ่านบทความหนึ่งของอ.อาร์ม ตั้งนิรันดร ก็เขียนทำนองนี้ค่ะ

ผิงผิง: ใช่ค่ะ ในขณะที่คนในชนบทส่วนหนึ่งซึ่งเมื่อได้เข้าไปในเมืองแล้ว ก็จะไม่ยอมกลับบ้านเกิด เพราะทำงานในเมืองมันไม่เหนื่อย เงินเดือนก็คงที่ แม้ว่าจะเป็นเพียงลูกจ้าง พนักงานเสิร์ฟ หรืออื่น ๆ แต่มันก็ไม่เหนื่อยเหมือนทำไร่ แถมโดยมากก็ทำงานในห้องแอร์ และในเมืองก็ยังมีสิ่งบันเทิงอื่น ๆ ให้พวกเขาอีก

Admin: ธรรมดาของมนุษย์เมื่อได้เจอสิ่งที่ดีกว่าก็จะไม่อยากกลับไปกินของเก่าที่เคยกิน

ผิงผิง: ใช่ แต่เอาเข้าจริง ๆ มันก็จะมีบางคนล่ะ ที่จะกลับบ้านเกิดไปพัฒนา แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น

Admin: ค่ะ พูดถึงกิจกรรมยามว่างของผิงบ้าง?

ผิงผิง: ผิงก็จะออกไปเที่ยว ชอบเที่ยวแบ็คแพ็คค่ะ แต่มาช่วงนี้กำลังติดเกมในโทรศัพท์ค่ะ 555

ping4

Admin: 555 ให้ผิงเล่าถึงอาจารย์ที่ปรึกษาบ้าง?

ผิงผิง: อาจารย์ที่ปรึกษาท่านดูแลดีมากค่ะ อย่างเพื่อน ๆ ในคลาสพวกเราก็จะสนิทกัน เพราะผิงจะอยู่มหาวิทยาลัยตลอด เวลาเพื่อน ๆ แวะมาก็จะมาชวนไปกินข้าว แล้วก็เล่าโน่นนี่ให้ฟัง ก็ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันตลอดค่ะ แต่ก็ต้องเล่าด้วยว่าก่อนหน้านี้อาจารย์ที่ปรึกษาของผิงประสบอุบัติเหตุตกจากที่สูงต้องรักษาตัวอยู่ใน ICU สองเดือน ตอนนั้นทุกคนก็คิดว่าอาจารย์คงจะไม่รอดแน่ๆ เราเองก็ท้อแท้มากเช่นกันแต่ก็ยังไม่กล้าบอกกับที่บ้าน ตอนนั้นอาจารย์ที่คณะก็บอกเรานะว่าจะรอที่ปรึกษาหรือว่าจะเปลี่ยนคนใหม่ คือถ้าเราเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยนแนววิจัยใหม่ หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องรอดูอาการของอาจารย์ไป ตอนนั้นเราเลยปล่อยวาง ออกไปเที่ยวไปใช้ชีวิตอย่างเดียวเลย จนตอนนี้อาจารย์ออกจากไอซียูแล้ว เราจึงได้บอกกับที่บ้าน ช่วงนี้ก็อยู่ในช่วงรอเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์ค่ะ

Admin: เป็นกำลังใจให้นะคะ

ผิงผิง: ขอบคุณมากค่ะ

Admin: สุดท้ายแล้วค่ะ อยากให้ฝากข้อคิดเกี่ยวกับคนที่จะเข้ามาเรียนต่อในประเทศจีน

ผิงผิง: ส่วนตัวนะ ผิงว่าการมาเรียนจีนไม่ว่าจะมีจุดหมายเป็นการเรียนด้านภาษา หรือเรียนเพื่อไปทำงาน หรือเพื่ออะไรก็ตาม ก็ล้วนเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีทั้งนั้น แต่ในการมาอยู่มาใช้ชีวิตที่นี่ เราจำเป็นต้องปรับตัวและทำความเข้าใจ แล้วเราจะมีความสุขในการใช้ชีวิต เพราะที่จริงคนจีนก็มีด้านดี ยิ่งในเมืองใหญ่ ยิ่งมีความซับซ้อนมากว่าที่อื่น อย่างเรื่องห้องน้ำเราจะได้ยินคนพูดถึงบ่อยมากนะ แต่เอาเข้าจริง ๆ หากเรามองให้ดีจะเห็นว่า จีนพัฒนาไปไกลกว่าเรื่องนี้แล้ว ก้าวล้ำประเทศไทยไปมากแล้ว ดังนั้นการมาอยู่ที่นี่ มาเรียนมาใช้ชีวิตหรืออะไรก็แล้วแต่ เราจึงควรที่จะปรับตัว ผิงคิดว่าปรับตัวอยู่ที่นี่ได้ ก็สามารถไปอยู่ที่อื่นได้

Admin: ขอบคุณมากค่ะผิง ที่สละเวลาให้สัมภาษณ์ในวันนี้

ผิงผิง: ยินดีค่ะแอดมินจี

 

เป็นอย่างไรบ้างคะกับบทสัมภาษณ์ในวันนี้ เราได้เห็นภาพของสังคมจีนในอีกมุมหนึ่งซึ่งน่าจะทำให้เราเข้าใจคนจีนได้มากขึ้น ในขณะที่โลกกำลังก้าวไปข้างหน้า โครงการและความร่วมมือต่าง ๆ ระหว่างไทยและจีนนับวันก็จะยิ่งครอบคลุมและแผ่ขยายออกไปในหลากหลายสาขา ทั้งภาครัฐและเอกชนรวมถึงภาคธุรกิจรายย่อย แทบจะไม่มีใครไม่เคยประสบกับชาวจีน ดังนั้นการทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน รู้จักกันให้รอบด้าน ก็จะเป็นทางหนึ่งที่ทำให้เราสามารถอยู่ร่วมกัน ทำงานร่วมกันได้อย่างเข้าใจกันและกันมากขึ้น หวังว่าบทสัมภาษณ์ในวันนี้จะให้ทั้งสาระความรู้และอรรถรสความสนุกกับผู้อ่านทุกท่านนะคะ วันนี้สวัสดีค่ะ

 

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย: Admin G 走遍江湖 ผู้ท่องไปในยุทธภพ

ขอบคุณที่มาของข้อมูล :
Thai Ph.D. in China

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]