• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • ชีวิต PhD ในแดนมังกรตอนที่ 20 พี่ป้อม กาญจนา จันทร์สุขพุ่ม นักศึกษาปริญญาเอกสาขา Management Science and Engineering จากมหาวิทยาลัย Wuhan University – Thai Ph.D. in China

ชีวิต PhD ในแดนมังกรตอนที่ 20 พี่ป้อม กาญจนา จันทร์สุขพุ่ม นักศึกษาปริญญาเอกสาขา Management Science and Engineering จากมหาวิทยาลัย Wuhan University – Thai Ph.D. in China

สวัสดีค่ะคอลัมน์ ชีวิต Ph.D. ในแดนมังกรสัปดาห์นี้เราจะพาไปรู้จักกับพี่ป้อม Candidate ด้านการจัดการสารสนเทศจากมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น ที่กำลังคร่ำเคร่งกับงานวิจัยและการตีพิมพ์บทความ ชีวิตปริญญาเอกที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ การต่อสู้กับอุปสรรคทางด้านภาษาและการข้ามสายมาเรียนในด้านนี้ เราไปติดตามเรื่องราวของเธอจากบทสัมภาษณ์กันได้เลยค่ะ

Admin: สวัสดีค่ะพี่ป้อม

พี่ป้อม: สวัสดีค่ะน้องจี

Admin: แนะนำตัวด้วยค่ะ

พี่ป้อม: ค่ะ ชื่อกาญจนา จันทร์สุขพุ่ม ชื่อเล่นว่าป้อมนะคะ ตอนนี้เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยอู่ฮั่น Wuhan University สาขา Management Science and Engineering (管理科学与工程)ค่ะ

Admin: พี่ป้อมทำหัวข้อวิจัยเกี่ยวกับอะไรคะ?

พี่ป้อม: ทำด้าน E-Commerce ค่ะ หัวข้อของพี่คือ ศึกษาพฤติกรรมการใช้เว็บไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ด้านการท่องเที่ยวของผู้บริโภคชาวไทยค่ะ หรือพูดง่ายๆก็คือศึกษาการใช้บริการท่องเที่ยวออนไลน์ของคนไทยค่ะ

Admin: ซื้อตั๋วออนไลน์นี่เป็นที่นิยมมากเลยนะคะในประเทศจีน

พี่ป้อม: ใช่ค่ะ และเพราะว่าที่ปรึกษาท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านระบบสารสนเทศและ E-Commerce ท่านจึงแนะนำให้ทำหัวข้อวิจัยนี้ค่ะ อย่างของพี่ก็แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็นสองกลุ่มคือกลุ่มผู้ที่ไม่เคยใช้บริการอีคอมเมิร์ซมาก่อน กับกลุ่มที่เคยใช้บริการมาแล้ว และศึกษาว่าอะไรที่เป็นสาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคไม่ใช้บริการนี้ ขณะเดียวกันก็ศึกษาว่าปัจจัยใดที่มีอิทธิพลต่อการใช้บริการในครั้งต่อไปของกลุ่มที่เคยใช้บริการแล้ว และก็นำข้อมูลทั้งสองส่วนนี้มาเปรียบเทียบกันค่ะ

Admin: การแบ่งเวลาในการเรียน?

พี่ป้อม: อย่างถ้าหมด Coursework แล้วที่นี่ก็จะจัดให้นักศึกษาไปนั่งทำงานในแลปทุกวันค่ะ คือที่ใช้คำว่า”แลป”นี้ก็เป็นตามคำเรียกของคนจีนที่ถอดมาจากภาษาจีนว่า 实验室  แต่อาจจะไม่ได้เหมือนแลปในความเข้าใจของคนไทยที่เป็นห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์นะคะ เพราะที่นี่เป็นห้องสำนักงานของอาจารย์ที่ปรึกษาที่จัดไว้ให้สำหรับนักศึกษาใช้ทำงานวิจัยค่ะ

Admin: โห มีห้องให้เรียบร้อยเลยหรอคะ

พี่ป้อม: ใช่ค่ะ ปกติพี่ก็จะอยู่แลปตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 2 ทุ่ม เสาร์อาทิตย์ถ้ามีเวลาว่างก็จะออกไปเดินเล่นนอกมหาวิทยาลัยบ้างค่ะ

Admin: ค่ะ พี่ป้อมช่วยเล่าถึงคณะคร่าวๆให้ฟังได้ไหมคะ?

พี่ป้อม: คณะที่พี่เรียนอยู่คือคณะ Information Management ค่ะ ก็จะมีชื่อเสียงทางด้านการจัดการสารสนเทศ โดยเฉพาะวิชาเอกสารสนเทศศาสตร์ ได้รับการจัดอันดับในระดับต้นๆของประเทศ เนื้อหาการวิจัย อุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆของที่นี่ค่อนข้างทันสมัยและมีความพร้อมมากค่ะ อย่างเช่นช่วงที่ผ่านมาคณะเพิ่งจัดซื้อเครื่อง Eye-tracking กับเครื่อง Electroencephalography EEG มาเพื่อศึกษาวิจัยในสายของตัวเอง อย่าง Eye-tracking ก็จะใช้ศึกษาทดลองเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้เว็บไซต์ของผู้ใช้ ดูการเคลื่อนไหวของสายตาและการขยายของรูม่านตาว่าในขณะที่เขากำลังเปิดหน้าเพจอยู่นั้น เขาสนใจข้อมูลส่วนใดของเพจมากที่สุดค่ะ

Admin: ค่ะ สาขาที่พี่ป้อมเรียนมีกี่หน่วยกิตคะ

พี่ป้อม: 12 หน่วยกิตค่ะ

Admin: ทราบมาว่าคณะนี้มีเงื่อนไขการจบการศึกษาที่สูงพอสมควรใช่ไหมคะ

พี่ป้อม: ใช่เลยค่ะ คณะนี้มีเงื่อนไขการจบสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานของมหาวิทยาลัย คือมหาวิทยาลัยกำหนดว่าปริญญาเอกจะต้องตีพิมพ์บทความอย่างน้อย 2 ฉบับ (CSSCI, SCI, EI) แต่ของคณะนี้คือกำหนดว่าอย่างน้อยต้องตีพิมพ์ 4 ฉบับ ถึงจะผ่านค่ะ

pom2

Admin: โห….. ถือว่าโหดมากนะคะ

พี่ป้อม: ใช่ค่ะโหดมาก แต่ก็ยังโชคดีค่ะ ที่คณะยืดหยุ่นให้กับนักศึกษาต่างชาติ สามารถตีพิมพ์ 2 ฉบับเทียบเท่ากับมาตรฐานของมหาวิทยาลัยได้ค่ะ

Admin: โชคดีจริงๆค่ะ การเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยนี้เป็นยังไงบ้างคะ

พี่ป้อม: ที่นี่ก็น่าจะคล้ายๆกับที่อื่นๆนะ ก็เน้นที่การศึกษาค้นคว้ามากกว่าเข้าเรียนในห้อง มีการนำงานวิจัยมาอภิปรายกัน จะว่าไปก็แปลกอยู่อย่างนึงนะ เพราะสาขาที่พี่เรียน ที่ม.อู่ฮั่นมีเปิดสอนอยู่สองคณะ คือคณะ Economics and Management (经济管理学院)Information Management (信息管理学院)ชื่อหลักสูตรเหมือนกันเลย แต่เนื้อหาที่เรียนและแนวทางวิจัยจะแตกต่างกันค่ะ อย่างถ้าเป็นของคณะเศรษฐศาสตร์ก็จะเน้นทางบริหารวิศวกรรมโครงการ ห่วงโซ่อุปทาน หรือด้านโลจิสติกส์แนวๆนี้ค่ะ แต่หลักสูตรที่คณะการจัดการสารสนเทศก็จะเน้นวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสารสนเทศ เทคโนโลยีการจัดการระบบสารสนเทศ E-Commerce และการจัดการความรู้อะไรแนวๆนี้ค่ะ ซึ่งคณะที่พี่เรียนจบออกมาก็จะได้วุฒิด้าน Ph.D. in Management ค่ะ

Admin: ค่ะ แบบนี้การเข้าถึงข้อมูลงานวิจัยต่างๆของที่นี่ถือว่าเป็นยังไงบ้างคะ

พี่ป้อม: ก็น่าจะคล้ายๆกับที่มหาวิทยาลัยอื่นนะคะ เข้าผ่านฐานข้อมูลที่ห้องสมุด ก็เข้าได้ทั้งต่างประเทศและของจีนค่ะ

Admin: เล่าถึงอุปสรรคในการเรียนบ้าง?

พี่ป้อม: ขอร่ายยาวไปเลยนะ

Admin: จัดไปเลยค่ะ

พี่ป้อม: สำหรับพี่นะเรื่องแรกคืออุปสรรคด้านภาษา แม้ว่าเมื่อก่อนพี่จะเคยทำงานสอนภาษาไทยให้คนจีนที่เมืองหนานหนิงมณฑลกว่างซี มา 3 ปี แต่พี่มาจีนโดยที่ไม่เคยเรียนภาษาจีนมาก่อนเลย  การเรียนภาษาจีนตอนนั้นจึงเป็นการเรียนด้วยตนเอง เป็นไปแบบครูพักลักจำ ไม่เป็นระบบ เพิ่งจะได้เริ่มมาเรียนภาษาจีนแบบเข้า Class จริง ๆก็ตอนมาอยู่อู่ฮั่น คือ เรียนปรับพื้นฐาน 1ปี  แต่ 1 ปีในการเรียนภาษาจีนมันไม่เพียงพอต่อการเขียนงานในระดับวิชาการ  ทำให้การเขียนงานเป็นไปค่อนข้างช้า  และต้องใช้ความพยายามอย่างมาก   ปัญหาอีกอย่างตอนเรียนคือ อ.ผู้สอนบางท่านจะพูดภาษาจีนสำเนียงท้องถิ่น บางคนสำเนียงอู่ฮั่น บางคนก็สำเนียงที่อื่น  ซึ่งเราฟังไม่ออกเลย ทำให้เรียนไม่ค่อยเข้าใจ  พอไม่เข้าใจอยากขอสไลด์อาจารย์มาอ่านทบทวน  อาจารย์หลายท่านก็ไม่อนุญาตให้ copy สไลด์ที่ใช้สอน ให้เราใช้มือถือถ่ายรูปสไลด์ที่ท่านสอนเอาเอง

Admin: โห… ขอสไลด์ก็ไม่ได้ด้วย

พี่ป้อม:ใช่ค่ะ ส่วนเรื่องที่สองคือพื้นความรู้วิชาเอกไม่เพียงพอ คือ ต้องบอกว่า จริง ๆ แล้วตอนสมัครเรียน  พี่สมัครเรียนเอกในสาขา Information Resources Management เพราะตอนป.ตรี และโท  พี่เรียนมาทางบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์  แต่ไม่รู้ว่าเกิดเหตุขัดข้องอันใด  ทางมหาวิทยาลัยจัดให้พี่มาเรียนเอก Management Science and Engineering  และจะขอเปลี่ยนเอกก็ไม่ให้เปลี่ยน  ภาษาจีนเราเองก็ไม่แข็งแรง จะไปทำเรื่องขอเปลี่ยนสาขาก็ค่อนข้างยุ่งยาก ก็เลยต้องเลยตามเลยค่ะ

Admin: ก็ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งนะคะ

พี่ป้อม: ใช่ พอผ่านจุดนั้นมามันก็ต้องสู้แล้วค่ะ ถึงแม้ว่าการเรียนในสาขานี้จะทำให้ได้รับความรู้อะไรใหม่ ๆ   แต่ด้วยความที่เราไม่มีพื้นฐานเพียงพอ  ทำให้เรียนไม่ค่อยเข้าใจ  บวกกับอุปสรรคทางภาษา  ยิ่งทำให้เรามีปัญหามาก  ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาที่ทำได้อย่างเดียวเลยคือ  ต้องอ่านเยอะ ๆ   ค้นคว้างานวิจัยเยอะ ๆ  ค่ะ

Admin: เรียกว่าเหนื่อยต่อเป็นสองเท่า

พี่ป้อม: ยังไม่จบนะคะ ยังมีเรื่องที่อยากฝากไว้เป็นอุทาหรณ์ด้วยค่ะ

Admin: เรื่องอะไรคะ?

พี่ป้อม: เรื่องจรรยาบรรณนักวิจัยค่ะ

Admin: ค่ะ

พี่ป้อม: พี่ไม่แน่ใจว่าที่อื่นจะเป็นแบบนี้ไหมนะคะ  แต่จากประสบการณ์ที่พี่เจอคือ  เพื่อนคนจีน (ที่ปรึกษาเดียวกัน) เอาข้อมูลที่พี่ไปเก็บมาจากไทยไปเขียนบทความตีพิมพ์เป็นของเขาเองเลย   ซึ่งก็ทำให้พี่รู้สึกไม่ดีและเสียใจอยู่พอสมควรค่ะ

Admin: เคยได้ยินเรื่องนี้ตอนสัมภาษณ์พี่คนหนึ่งเหมือนกันค่ะ

พี่ป้อม: นั่นสิคะ เรายิ่งรู้สึกอึดอัดที่เราทำอะไรเขาไม่ได้ เพราะติดที่อ.ที่ปรึกษา และจากเหตุการณ์นี้ทำให้เราต้องระวังเรื่องข้อมูลมากขึ้น เพราะการที่เราจะหาคนที่ไว้ใจได้มาช่วยเราตรวจภาษางานในงานของเราเป็นเรื่องที่ยากมาก   เพราะเราจะต้องส่งงานให้เขาดู  ถ้าคน ๆ นั้นไม่มีจรรยาบรรณพอหรือขาดจิตสำนึก  เราก็จะเสี่ยงมากที่จะโดนขโมยข้อมูลหรือคัดลอกผลงานค่ะ

Admin: เรียกได้ว่าต้องระวังตัวเองทุกฝีก้าวจริงๆ

พี่ป้อม: จริงค่ะ

pom3.jpg

Admin: อยากให้พี่ป้อมเล่าถึงมหาวิทยาลัยอู่ฮั่นบ้างค่ะ

พี่ป้อม: มหาวิทยาลัยอู่ฮั่น เป็นมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับ Top 10 ของจีน  และได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในจีนค่ะ  ในมหาวิทยาลัยมีภูเขาลั่วเจีย (珞珈山)ที่มีดอกซากุระ  ด้านหลังมอติดทะเลสาบตงหู  มหาวิทยาลัยอู่ฮั่นจึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งที่คนจีนมักมาเยี่ยมเยียนกัน  โดยเฉพาะในช่วงซากุระบานค่ะ  วันหนึ่งมีคนมาชมซากุระมากถึง 1 แสนคน

Admin: แสนคนเลยเหรอคะ?

พี่ป้อม: ใช่ค่ะ เยอะมาก ๆ  แทบไม่มีที่เดินเลยทีเดียว  ตอนมาที่นี่ปีแรกพี่ก็ตกตะลึงมากนะ  ไม่คิดว่าคนจะมาเยอะขนาดนี้

Admin: แสดงว่าที่นี่สวยจริงๆ

พี่ป้อม: ก็คิดว่านะ จริง ๆ ดอกซากุระพี่ว่ามีอยู่หลายที่นะในเมืองจีน  แต่สาเหตุที่คนมาชมที่นี่เยอะเพราะว่าได้บรรยากาศของประวัติศาสตร์ด้วย  คือ ซากุระที่นี่จะปลูกอยู่ใกล้กับอาคาร老斋舍 ซึ่งเป็นหอพักชายสร้างขึ้นในปี 1930  มีลักษณะการก่อสร้างผสมผสานระหว่างศิลปะจีนกับโรมัน  เป็นสิ่งก่อสร้างที่ได้รับการอนุรักษ์จากรัฐบาลจีนด้วย    ในสมัยสงครามต่อต้านญี่ปุ่นในจีน  ทหารญี่ปุ่นใช้มหาลัยแห่งนี้เป็นหน่วยรักษาพยาบาลทหารที่ได้รับบาดเจ็บ   และเพื่อเป็นการช่วยลดอาการคิดถึงบ้านของทหารญี่ปุ่นที่รักษาตัวอยู่ที่นี่   ทางญี่ปุ่นจึงได้นำต้นซากุระจากประเทศตัวเองมาปลูกที่ข้าง ๆ 老斋舍 เพื่อสร้างบรรยากาศให้คล้ายกับประเทศญี่ปุ่นค่ะ

Admin: มีความเป็นมานี่เอง จึงเป็นที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม

พี่ป้อม: ใช่ค่ะ

Admin: พูดถึงกิจกรรมยามว่างกันบ้าง?

พี่ป้อม: ทุกวันจันทร์จะไปตีแบดมินตันค่ะ เพราะอาจารย์ที่ปรึกษาท่านชอบตีแบด เลยจัดกิจกรรมให้นักศึกษาที่อยู่ในความดูแลของท่านได้เชื่อสัมพันธ์กันด้วยการไปตีแบด เวลาไปด้วยกันทีนึงก็ราวๆ 15-20 คนได้ค่ะ

Admin: โห อาจารย์น่ารักจังค่ะ

พี่ป้อม: ค่ะ พี่ว่าการได้ออกกำลังกายบ้างมันก็ทำให้จิตใจเราโล่ง สบาย และคลายเครียดคลายกังวลได้บ้างค่ะ นอกจากนี้ถ้าต้องการสมาธิมากๆ พี่ก็จะออกไปถ่ายรูปค่ะ อย่างในมหาวิทยาลัยนี้ถือว่าถ่ายมาทุกซอกทุกมุมแล้วก็ว่าได้

Admin: เก่งจังค่ะ ถ่ายรูปก็ฝึกสมาธิได้

พี่ป้อม: ใช่ค่ะ เพราะว่าแต่ละรูปมันต้องใช้สมาธินะ เราต้องคิดว่าเราอยากได้ภาพแบบไหน อยากให้ภาพมันบอกอะไร จะเลือกมุมกล้องแบบไหน จะปรับกล้องอย่างไร และการที่ใจเราได้จดจ่อกับการถ่ายรูป มันทำให้เรานิ่งขึ้น ไม่ฟุ้งซ่าน แต่มันก็จะมีข้อเสียอย่างหนึ่งนะ เพราะถ้าจะถ่ายแบบนี้ก็ต้องปลีกวิเวกออกไปคนเดียว มันจะช่วยให้เราครีเอทภาพถ่ายโดยไม่ต้องกังวลหรือเกรงใจเพื่อนที่ไปด้วยว่าจะรอเรานานแค่ไหน

Admin: จริงค่ะ

พี่ป้อม: นอกจากนี้พี่ก็จะมีไปร่วมกิจกรรมของคณะที่จัดขึ้นทุกปีค่ะ เช่นงานวัฒนธรรมนานาชาติ ก็จะมีออกบูธขายของและมีการแสดงต่าง ๆ ของนักศึกษาต่างชาติ รวมถึงกิจกรรมอบรมครูอาสาสมัครชาวจีนที่จะไปสอนภาษาจีนในประเทศไทยของฮั่นปั้น (汉办)ค่ะ ซึ่งพี่ก็รับสอนมาได้ 3 ปีแล้วค่ะ นอกจากนี้บางครั้งก็ออกไปเป็นล่ามนอกสถานที่ด้วย

Admin: สุดยอดเลยค่ะ นอกจากเรียนหนักแล้วยังสามารถทำกิจกรรมได้ด้วย

พี่ป้อม: ค่ะ

pom4.jpg

Admin: สุดท้ายแล้วค่ะ พี่ป้อมอยากจะฝากอะไรถึงคนที่จะเข้ามาเรียนต่อปริญญาเอกไหมคะ?

พี่ป้อม: สำหรับพี่นะ การเรียนปริญญาเอกเป็นเรื่องที่จะต้องใช้ความอดทนและความมุ่งมั่นเป็นอย่างมาก ระหว่างทางจะมีความเครียด ความท้อแท้ รู้สึกหมดกำลังใจเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้นการเรียนรู้ที่จะปรับทัศนคติและปรับสภาพจิตใจของตัวเองในช่วงเวลาที่ท้อแท้ให้กลับมาเข้มแข็งเหมือนดังปกติได้เร็วที่สุดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ต้องรู้จักหาวิธีผ่อนคลายความเครียดที่เหมาะสมกับตัวเอง สร้างกำลังใจให้ตัวเอง คิดบวก ก็จะช่วยให้เราเดินไปสู่จุดหมายที่หวังไว้ได้สำเร็จ และจากประสบการณ์ตรงของพี่เองที่เจอกับอุปสรรคด้านภาษา ก็อยากจะฝากคนที่จะมาเรียนต่อที่จีนว่า ถ้าหากต้องเรียนหลักสูตรที่เป็นภาษาจีนและทำวิทยานิพนธ์เป็นภาษาจีนก็ควรจะเตรียมพื้นฐานภาษาของตนเองให้ดีในระดับหนึ่ง เพราะภาษาดีก็มีชัยไปกว่าครึ่งจริงๆค่ะ

Admin: ขอบคุณมากๆเลยค่ะพี่ป้อมสำหรับข้อมูลดีๆในวันนี้ ยังไงจีและทีมงานเพจก็ขอเป็นกำลังใจให้พี่ป้อมด้วยนะคะ

พี่ป้อม: ขอบคุณมากๆค่ะ

เป็นอย่างไรบ้างคะสำหรับบทสัมภาษณ์ในวันนี้ เราได้เห็นอีกด้านหนึ่งของการเรียนปริญญาเอกที่ต้องฝ่าฝันกับอุปสรรคมากมาย และเป็นเส้นทางที่ไม่ได้เดินง่ายอย่างที่ใครคิด แต่เมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเราจึงจะรู้ว่าเรามีความเข้มแข็งมากเพียงใด สำหรับทุกคนบนเส้นทางสายปริญญาเอกนี้ แอดมินและทีมงาน Thai Ph.D. in China ทุกคนขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านผ่านพ้นไปด้วยดี เพราะในบ้านหลังนี้ พวกเราคือครอบครัวเดียวกัน ^^

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย: Admin G 走遍江湖 ผู้ท่องไปในยุทธภพ


ขอบคุณที่มาของข้อมูล :
Thai Ph.D. in China

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]