• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • ชีวิต Ph.D. ในแดนมังกรตอนที่ 18 หวาน สุภินดา รัตนตั้งตระกูล Candidate สาขาคติชนวิทยาและศิลปะวรรณกรรม (Folklore in Literature and Arts) คณะ International College of Chinese Studies, East China Normal University – Thai Ph.D. in China

ชีวิต Ph.D. ในแดนมังกรตอนที่ 18 หวาน สุภินดา รัตนตั้งตระกูล Candidate สาขาคติชนวิทยาและศิลปะวรรณกรรม (Folklore in Literature and Arts) คณะ International College of Chinese Studies, East China Normal University – Thai Ph.D. in China

whan3

สวัสดีค่ะ คอลัมน์ชีวิต Ph.D. ในแดนมังกรสัปดาห์นี้ แอดมินขอเปิดตัวรุ่นน้องทั้งสมัยปริญญาตรีจนถึงปัจจุบัน น้องหวาน สุภินดา รัตนตั้งตระกูล Ph.D. Candidate สาขาคติชนวิทยาและศิลปะวรรณกรรม และเนื่องจากคนต้นเรื่องกับแอดมินมีที่ปรึกษาคนเดียวกันคือศ.เฉินฉินเจี้ยน 陈勤建 (Qinjian Chen, tenured professor at East China Normal University) อีกทั้งแอดมินกับหวานยังมีอายุเท่ากัน สรรพนามที่เรียกกันบางครั้งจึงเหมือนเพื่อนมากกว่ารุ่นพี่รุ่นน้อง ดังนั้นบทสนทนาในครั้งนี้จึงเขียนออกมาในลักษณะเป็นกันเองเหมือนชวนคุยกันมากกว่าบทอื่นๆนะคะ (เช่นอาจารย์ที่ปรึกษาพวกเราเรียกกันเองว่า “พ่อ” ซึ่งในบทสัมภาษณ์ก็จะคงคำเรียกนี้ไว้) และเพื่อไม่เป็นการเสียเวลาเรามาทำความรู้จักกับการเรียนด้านคติชนวิทยาในจีนไปพร้อมๆกับมุมมองด้านการใช้ชีวิต การแบ่งเวลา รวมถึงข้อคิดดีๆจากน้องหวานกันเลยค่ะ

 

Admin: สวัสดีจ้าหวาน

หวาน: สวัสดีพี่จี

Admin: เป็นไงบ้างช่วงนี้?

หวาน: ก็เรื่อยๆ ช่วงนี้ก็อยู่ห้องสมุดตลอด ไม่ค่อยได้เปิดมือถือเท่าไหร่ จะเปิดเล่นเฉพาะตอนพักกลางวัน

Admin: ห้องสมุดคนเยอะไหมตอนนี้?

หวาน: โห…ไปต่อแถวตั้งแต่ห้องสมุดยังไม่เปิดอะ

Admin: เฮ้ย…ตอนนี้ไม่ใช่ช่วงสอบนะ?!?

หวาน: ใช่…คนจีนขยันจะตายไปพี่จี

Admin: อืม…ก็จริงแฮะ มา เข้าเรื่องดีกว่า ก่อนหน้าที่หวานจะมาเรียนคติชนวิทยา หวานเรียนอะไรมาก่อนนะคะ?

หวาน: ป.ตรีธรรมศาสตร์เอกจีน แล้วพอป.โทก็ได้ทุนรัฐบาลจีนมาเรียนต่อโทที่ Yunnan Normal University(云南师范大学)ตอนนั้นเรียนภาษาถิ่นค่ะ

whan1
ถ่ายกับอ.ที่ปรึกษาและเพื่อนร่วมชั้นชาวจีนอีก 2 คน

Admin: เพราะเรียนภาษาถิ่นเลยสนใจคติชน?

หวาน: ใช่ค่ะ คือตอนทำป.โทก็มีลงพื้นที่ด้วยค่ะ ตอนนั้นหวานไปลงพื้นที่ที่อ.ฝาง จ.เชียงราย ก็ไปเก็บข้อมูลอยู่สองอาทิตย์ ทำสัมภาษณ์ บันทึกข้อมูล แล้วเราก็รู้สึกว่าคนเรียนสายภาษามาแล้วอยากรู้อะไรให้มันลึกขึ้นก็ควรจะต้องมาต่อด้านวัฒนธรรม เลยรู้สึกสนใจเรียนต่อคติชน พอได้มาที่นี่ก็รู้สึกไม่ผิดหวังเลยจริงๆ

Admin: ตอนนี้หวานปีสามแล้วใช่ไหมคะ?

หวาน: ใช่ค่ะ ปีสาม

Admin: หัวข้อวิจัยเราคืออะไรแล้วนะ?

หวาน: เอาชื่อไป 2 ภาษาเลยละกันค่ะ หัวข้อของหวานคือ 《泰国东北部民间那伽艺能研究》 ค่ะ ภาษาไทยหวานแปลว่า “ศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ในพิธีกรรมที่เกี่ยวกับพญานาคของพื้นที่ภาคอีสานในประเทศไทย”

Admin: เป็นหัวข้อน่าสนใจมากๆ แล้วของหวานมีไปลงพื้นที่ที่ไหนบ้างคะ?

หวาน: ก็มีที่โพนพิสัย หนองคายค่ะ แล้วก็ที่จังหวัดอุดร ไปลงพื้นที่มาสองครั้งแล้วค่ะ

Admin: เป็นยังไงบ้างคะ?

หวาน: ก็ดีนะ อย่างอันนี้หวานเน้นไปที่พิธีกรรมก็ต้องอาศัยศึกษาให้เยอะหน่อย มีกลับมาดูคลิปเพิ่มเติมบ้างอะไรบ้าง แล้วอีกอย่างเรื่องพญานาคในจีนก็ถือเป็นเรื่องใหม่ด้วย

Admin: อย่างนี้เวลาค้นหาข้อมูลทำยังไงอะ?

หวาน: โห อันนี้คือความยากเลยล่ะ เพราะแหล่งข้อมูลหลักเรื่องนี้จะอยู่ที่ญี่ปุ่นกับไต้หวัน เรื่อง 艺能 ในจีนก็ถือเป็นเรื่องใหม่ ยังไม่ค่อยมีคนทำ หรือหนังสือในห้องสมุดของมอ.เราที่ค้นหาได้ก็เป็นภาษาญี่ปุ่นทั้งหมด ก็อาศัยว่าเราเรียนจีนมาเนอะ ก็พอจะแกะๆ ถอดๆความเอาได้บ้าง แต่ว่าหลักๆเลยคือจะใช้ฐานข้อมูลที่ไต้หวัน เช่นเว็บห้องสมุดไต้หวัน ก็มีไหว้วานเพื่อนที่เรียนอยู่ที่นั่นช่วยค้นข้อมูลให้บ้างค่ะ

Dad
Qinjian Chen, tenured professor at East China Normal University

Admin: พูดถึงคติชนวิทยาบ้าง อย่างเราสองคนถือว่ามีที่ปรึกษาคนเดียวกัน แต่จัดว่าเรียนกันคนละสาขา จบมาก็ได้วุฒิไม่เหมือนกันด้วย?

หวาน: ก็ถือเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่อย่างหนึ่งเช่นกันนะ อย่างที่ ECNU มีเรียนด้านคติชนวิทยาอยู่ 2 คณะ อันแรกก็อยู่ใน对外汉语学院 (International College of Chinese Study) ซึ่งจัดอยู่ในภาควิชา汉语国际教育系(Dept. of Teaching Chinese as a Foreign Language) และอีกอันหนึ่งจะอยู่ในคณะ 社会发展学院 (School of Social Development) ซึ่งจะเรียนที่วิทยาเขตหมิ่นหาง (闵行)อย่างคติชนของคณะเราจะแบ่งออกเป็น 2 สาขาเปิดสลับปีกันคือสาขาคติชนวิทยา (民俗学Folklore) กับ คติชนวิทยาและศิลปะวรรณกรรม (文艺民俗学Folklore in Literature and Arts) อย่างที่หวานเรียนอยู่ก็จะเอาคติชนเป็นพื้นฐาน แล้วก็เอาศิลปะ วรรณกรรม ละคร  ดนตรี อาหาร หัตถกรรมอะไรพวกนี้มารวม ก็ถือเป็นศาสตร์ที่คาบเกี่ยวกับหลายๆด้าน แล้วก็จะเน้นไปที่พิธีกรรม ดูว่ามันสอดแทรกอะไรบ้าง แต่ก็น่าเสียดายที่ตอนนี้พ่อ (อ.ที่ปรึกษา) ไม่รับลูกศิษย์แล้ว ถ้าใครสนใจจะมาเรียนคติชนที่มหาลัยนี้ก็อาจจะต้องไปไปที่คณะ社会发展学院 แทนค่ะ

Admin: น่าเสียดายเหมือนกันเนอะ

หวาน: ใช่ แต่พ่อก็อายุเยอะแล้วนะ 70 แล้ว ที่จริงการได้มาเรียนกับพ่อถือว่าโชคดีมากๆ เพราะพ่อถือว่าเป็นตัวพ่อด้านคติชนวิทยาจริงๆ

Admin: ใช่เลย ถือว่าเราโชคดีมากจริงๆ ปัจจุบันหนังสือที่พ่อเขียน 中国民俗学会 (China Folklore Society, CFS) ยอมรับให้เป็นตำราเรียนพื้นฐานด้านคติชนของนักศึกษาระดับปริญญาตรีด้วยนะ

หวาน: หรือสาขาที่หวานเรียน พ่อก็เป็นคนตั้งขึ้นด้วย

Admin: จริงค่ะ

Admin: ใช่เลย สมัยที่พี่ยังเรียนอยู่ พ่อจะชอบชงชาไปด้วยเวลาเรียน ทั้งๆที่ก็มีเรียนกันอยู่สองคนกับคนจีน แต่มันทำให้บรรยากาศเหมือนมานั่งจิบชายามเช้า ฟังเรื่องเล่าจริงๆ

หวาน: ใช่ค่ะ

Admin: หลังจากอดหลับอดนอนอ่านงานมาทั้งคืน

หวาน: 555 ใช่

whan4
การแสดงคุนฉวี่

Admin: แล้วรุ่นหวานมีไปเรียนนอกสถานที่ที่ไหนไหมคะ?

หวาน: มีค่ะ รุ่นหวานพ่อพาไปซูโจว ไปดูคุนฉวี่ 昆曲 แบบร้องสด ก็เหมือนโรงเตี๊ยมในหนังจีน เราเข้าไปก็จะมีคนร้องคนแสดงอยู่ตรงกลางสองคน มีคนหนึ่งเล่นผีผา อีกคนหนึ่งร้อง แล้วเมนูที่โต๊ะอาหารเราจริงๆแล้วมันคือเพลงที่เราเรียก มีราคาตั้งแต่ 80-200 หยวน คืออยากฟังเพลงไหนก็เรียกชื่อเมนูนั้น แล้วผู้แสดงก็จะเล่นตามที่เราสั่งไป

Admin: เรียกว่าลงไปเรียนในสถานที่จริง เห็นของจริง

หวาน: ใช่เลย แล้วของพี่จีมีไปลงที่ไหนนะ

Admin: ถ้าในเซี่ยงไฮ้ก็มี 七宝 (ชีเป่า) กับ 三塘 (ซานถัง) แล้วก็มีไปลงพื้นที่ตอนที่เรียน Intangible Cultural Heritage ที่ 温州泰顺 (เวินโจวไท่ซุ่น) ส่วนที่เหลือก็ไปเก็บข้อมูลวิจัยเองในเขต浙江 (เจ้อเจียง) ที่เมือง 绍兴 (เซ่าซิง) 宁波 (หนิงโป) 余姚 (อวี๋เหยา) แล้วก็ 杭州 (หางโจว) ประมาณนี้

หวาน: เยอะเนอะ

Admin: อืม เราเป็นคนเยอะ 555

หวาน:  555 ตลอดอะ

Admin: ต่อๆ เธอว่าคติชนวิทยามันคืออะไร?

หวาน: มันเป็นศาสตร์ที่ให้อิสระทางความคิดในการมองสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งแตกต่างจากด้านภาษาตรงที่ภาษาจะมีกรอบมีเกณฑ์มีกฎของมัน แต่คติชนจะให้อิสระทางความคิด ให้เราใช้เหตุผลว่าทำไมสิ่งนี้ถึงเป็นแบบนี้

Admin: ทำให้เข้าใจมิติของคน?

หวาน: ใช่ เข้าใจมากขึ้น อย่างพอเราเรียนคติชนจีน หวานก็มีเชื้อจีนใช่มะ ก็ทำให้ยิ่งรู้จักและเข้าใจวัฒนธรรมจีนมากขึ้น อย่างปัจจุบันนี้คนไทยที่เรียนหรือใช้ชีวิตในจีนมักจะชอบพูดถึงคนจีนในทำนองต่อว่า เช่นทำไมคนจีนเข้าห้องน้ำแล้วไม่ล้าง ทำไมคนจีนถึงยังมีนิสัยถ่มน้ำลาย ทำไมเสียงดังในที่สาธารณะ คืออันนี้ก็เป็นข้อเสียที่เราเองก็ไม่ชอบให้ใครมาเอาเปรียบ แต่พอมาเรียนคติชน เราได้เห็นความเป็นไปของสังคมและผู้คนมากขึ้น นึกถึงตอนปฏิวัติในตอน 1949 สิ คนจีนส่วนใหญ่ยากจน ไม่มีการศึกษา กินไม่อิ่ม ท้องร้อง คนไม่มีเวลามานั่งคิดหรอกว่าฉันจะต้องสุภาพ ฉันจะต้องมีมารยาท ฉันจะต้องเผื่อแผ่ ลำพังแค่ห่วงปากท้องตัวเองก็แย่อยู่แล้ว แล้วจากปีปฏิวัติมาจนทุกวันนี้ปี 2017 พี่จีเห็นไหมว่าเวลามันสั้นมาก

Admin: จริงค่ะ

หวาน: แต่จีนโตเร็วมากๆ ดูจาก 高铁 (รถไฟความเร็วสูง) หรือ 地铁 (รถไฟใต้ดิน) ในเซี่ยงไฮ้สิมากันแบบพรวดๆ ครอบคลุมทั่วทั้งเมือง ทุกอย่างมันรวดเร็ว ตึก ห้างร้าน ธุรกิจ หรืออย่างปัจจุบันการใช้เงินผ่านมือถือ คือมันโตเร็วมาก แต่คนยังตามไม่ทัน เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จึงยังหลงเหลือให้เราได้เห็นกัน ดังนั้นถ้าเราเข้าใจสิ่งเหล่านี้ รับรู้ถึงความเป็นมาของมัน เราจะเข้าใจจีนมากขึ้น หวานว่าคนเราต้องอยู่ด้วยความเข้าใจกัน

Admin: จำได้ว่าสมัยเรียนป.โทพ่อเคยพูดคำนึงว่า 文学就是人学,而民俗学就生活相。(ศึกษาวรรณกรรมก็คือศึกษาเรื่องราวของคน และการศึกษาเรื่องคติชน ก็คือศึกษาเรื่องราวของชีวิตและสภาพความเป็นไป)

หวาน: ใช่ค่ะ คือหวานสังเกตว่าคนเราชอบมองแต่ข้อเสียของสิ่งแวดล้อมรอบข้าง เหมือนกับคนที่รู้จักจีน เรียนจีน แต่ก็กระแนะกระแหน เหน็บแนมหรือว่าจีนต่างๆ นานา แต่ไม่ค่อยมีใครมองข้อดีของเขา เช่นที่จีนห้องสมุดยังไม่ทันเปิดคนจีนก็ไปต่อแถวรอเข้าห้องสมุด ไม่ต้องรอเวลาสอบ คือจะบอกว่ามันเป็นความขยันของเขาไหม ส่วนหนึ่งอาจจะใช่ แต่หวานว่ามันเป็นความเคยชินของเขาด้วย

Admin: จริงนะ ตอนสมัยที่พี่ไปสอนหนังสือที่ CCIT ที่เมืองฉางโจว 7 โมงเช้านี้นักเรียนจีนเต็มโรงอาหารแล้ว เขาตื่นกันเช้ามาก ลองคิดดูว่าถ้าคนในเจเนอเรชั่นนี้เป็นแบบนี้ อนาคตข้างหน้าของจีนจะเป็นแบบไหน

 

book
ตำราเรียนคติชนวิทยาที่แต่งโดย ศ. Qinjian Chen

หวาน: ใช่ บางครั้งเราควรมองโลกให้เห็นให้เป็นอย่างที่มันเป็น เหมือนเหรียญที่มันมีสองด้าน ส่วนคติชน หวานว่าเอกนี้เป็นเอกเปิดโลกนะ ทำให้เรารู้จักมองอะไรได้กว้างขึ้น มันทำให้เราได้เห็นว่าบนโลกนี้ยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่เรายังไม่รู้ เช่นเรื่องความเชื่อ คนที่ไม่เชื่อก็จะมองว่าเรางมงาย แต่ถ้าเราลงไปศึกษาจริงๆ เราจะเห็นว่าที่จริงแล้ว การมีอยู่ของมันนี้มีผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจในพื้นถิ่น คือมันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียของมัน แต่ขึ้นอยู่กับคนว่าจะมองมันในมุมไหน

Admin: ใช่ พี่คิดว่าคนที่ผ่านการเรียนคติชนมาแล้วควรเข้าใจโลกมากขึ้น

หวาน: คือหวานรู้สึกว่าสังคมเราสมัยนี้คนเก่งเพิ่มขึ้นทุกปี คนมาเรียนปริญญาโทปริญญาเอกกันเยอะขึ้น แต่ทำไมสังคมเรามันกลับแย่ลง ทำไมสีดำในสังคมเรามันเยอะจัง หวานว่าคนไม่ดีไม่น่ากลัว แต่คนที่เก่งแล้วไม่ดีต่างหากที่น่ากลัว

Admin: ก็จริง แต่พอเราบอกใครว่าเรียนคติชน หลายคนมักจะโยงเราเข้ากับปรัชญามากกว่านะ

หวาน: แต่หวานว่าคติชนมันต่างจากปรัชญานะ ตรงที่มันเป็นรูปธรรม มองเห็นได้ สัมผัสได้ ในขณะที่ปรัชญาเราอาจเอาแค่คำพูดบางประโยคหรือแนวคิดบางอย่างมาตีความ ซึ่งมันก็สามารถตีความไปได้ร้อยแบบแล้วแต่มุมมอง

Admin: อืม นึกถึงตอนนั่งเรียนวิชาปรัชญาด้วยกันเนอะ

หวาน: 555

Admin: นอกจากจะมีลงพื้นหรือเรียนนอกสถานที่แล้ว การเรียนคติชนในจีนเป็นยังไงบ้าง

หวาน: เรื่องการเรียนทั่วไปก็คิดว่าน่าจะคล้ายๆกับที่อื่น หลักๆเราก็ไปอ่านงาน เอามาถกกันในห้อง แล้วพอถึงเวลาพ่อก็จะพาลงพื้นที่ไปดูนั่นดูนี่

Admin: แนวคิดกับทฤษฎีล่ะ

หวาน: หวานว่าก็ผสมกันนะ ทั้งของจีนและของตะวันตกของญี่ปุ่น อย่างของหวานเป็นเอกที่พ่อเปิด ตอนเรียนก็อ่านงานของพ่อเป็นส่วนใหญ่ แล้วก็อ่านเพิ่มเติมในทฤษฎีเกี่ยวกับอื่นๆประกอบบ้าง คือคติชนมันเป็นศาสตร์ที่กว้าง จับได้หลายเรื่อง อย่างตอนนี้เรื่อง Intangible Cultural Heritage ที่จีนก็ให้ความสนใจมากทีเดียว

whan2

Admin: แล้วนอกจากเรียน ไปห้องสมุดแล้ว เวลาว่างหวานชอบทำอะไรคะ?

หวาน: ทำกับข้าวค่ะ

Admin: 555 มิน่าล่ะปกติเจอตัวหวานได้ที่ห้องครัวเกือบทุกเช้าเลย

หวาน: 555 หวานว่าการทำกับข้าวมันก็เหมือนการผ่อนคลายอย่างหนึ่ง แล้วเหมือนที่บ้านหวานทุกคนก็ทำกับข้าวด้วยมั้ง ก็เลยชอบทำมาตั้งแต่เด็กๆละ

Admin: แล้วนอกจากทำกับข้าวแล้ว หวานยังเป็นศูนย์รวมของการรับบริจาคด้วย

หวาน: 555 ใช่แล้ว คือหวานก็เคยไปลงพื้นที่เนอะ ก็เห็นอะไรมาบ้าง เลยคิดว่าการได้ให้ ได้แบ่งปันมันเป็นเรื่องที่เราสามารถทำได้โดยไม่ต้องรอให้มี อย่างหวานก็จะรวมของบริจาคของน้องๆพี่ๆเอาไว้ พอได้จำนวนเยอะๆแล้วก็จะแพ็คส่งไปยังพื้นที่ต่างๆ คือส่วนหนึ่งหวานก็รู้สึกว่าเราได้รับโอกาสดีๆแบบนี้ในการมาเรียนจากรัฐบาลจีน หอพักฟรี มีเงินเดือน มีที่หลับนอน มีที่เรียน เราได้รับโอกาสมา เราก็ควรที่จะตอบแทนอะไรดีๆเหล่านี้ให้กับเขาบ้าง

Admin: สุดยอดเลย ข้อสุดท้ายละ อยากฝากอะไรไว้ให้คนที่กำลังเรียนปริญญาเอกอยู่ไหม?

หวาน: อันแรกฝากถึงคนที่สนใจด้านวัฒนธรรมและภาษาจีน หวานคิดว่าคติชนวิทยานี้เป็นตัวเลือกที่ดีอีกทางหนึ่ง อันที่สองก็ฝากถึงคนที่กำลังเรียนปริญญาเอก ไม่ว่าจะเรียนสายอะไรก็ตาม ทุกคนเรียนหนังสือโดยเฉพาะช่วงเขียนวิทยานิพนธ์ก็อย่าลืมกินอาหารที่มีประโยชน์ ทำงานเก่งแล้วก็ต้องรู้จักรักตัวเองด้วย เพราะการเรียนปริญญาเอกไม่ใช่ทุกอย่างของโลกใบนี้ เราจะต้องประสบความสำเร็จในแบบที่สุขภาพแข็งแรง คือทุกคนมีเวลา 24 ชม.เท่ากัน เวลาเป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่าเงินทอง ถ้าจัดสรรให้ดีบวกกับมีระเบียบวินัยในตารางเวลาชีวิตของทุกวันก็สำเร็จแน่นอน

Admin: กราบบบ…

หวาน: เดี๋ยวพี่จีแกไม่ต้องกราบ ฟังต่อ

Admin: 555 เคๆ

หวาน: คนเรามันต้องรู้จักให้อภัยตัวเองบ้างเวลาที่ทำไม่ได้แบบที่วางเป้าไว้ ที่เราเข้มงวดกับตัวเองมันเป็นเพราะเราใจร้อน คือเราต้องรู้ว่าทุกอย่างมันต้องใช้เวลา อย่างไอน์สไตน์ไม่ได้ทำทดลองหรือคิดทฤษฎีได้ภายในวันเดียว มันต้องใจเย็นๆ ให้เวลากับมัน อะไรที่ทำไม่ได้ก็อย่าโทษตัวเอง ต้องพยายามต่อไป คิดว่าโชคดีแค่ไหนที่เราได้มาเรียนที่นี่ ทุกวันที่เขียนวิทยานิพนธ์อย่าคิดว่าตัวเองกำลังทำงานวิจัยเคร่งเครียด ให้คิดว่าเรากำลังจะเล่าเรื่องที่น่าสนใจให้คนอื่นฟัง

Admin: จริง กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียว

หวาน: เออพี่จี เสาร์อาทิตย์นี้หวานจะไปตลาดใหญ่ จะเอาอะไรปะ?

Admin: ฮะ.. เอ่อ… ไม่เป็นไร รอบนี้เราสั่งของสดจาก 饿了么 (Eleme) มาละ ขอบใจมาก

หวาน: โอเค ดีๆล่ะพี่จี ไม่สบายก็พักบ้างอะไรบ้าง

Admin: Thank you

หวาน: ลุ่นเหวิน (วิทยานิพนธ์) ก็สู้ๆนะพี่

Admin: เฮ้อ…….. ##&#$$**==##!!

หวาน: พอเลยแก หยุดเวิ่นเว้อ

Admin: ง่าาา!!!!

หวาน: สู้ๆอะ โค้งสุดท้ายแล้ว

Admin: ขอบคุณง้าบ หวานก็เช่นกันนะง้าบ

 

จบไปแล้วสำหรับบทสัมภาษณ์ในสัปดาห์นี้นะคะ สำหรับผู้ที่สนใจกำลังหาแนวเรียนต่อสายคติชนวิทยาในประเทศจีน นอกจากที่ 华东师范大学 (East China Normal University) แล้ว ก็มีอีกหลายมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนในสาขานี้เช่นกันอย่าง 北京师范大学 (Beijing Normal University) 复旦大学 (Fudan University) 中山大学 (Sun Yat-sen University) 山东大学 (Shandong University) หรือที่中央民族大学 (Minzu University of China) เป็นต้น สนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ CFS http://www.chinesefolklore.org.cn/ ได้นะคะ

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย: Admin G 走遍江湖 ผู้ท่องไปในยุทธภพ

ขอบคุณที่มาของข้อมูล :
Thai Ph.D. in China

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]