• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • ชีวิต Ph.D. ในแดนมังกรตอนที่ 17 อ.ดร.คัมภีร์ พ่วงทอง อาจารย์ประจำระดับบัณฑิตศึกษา คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ – Thai Ph.D. in China

ชีวิต Ph.D. ในแดนมังกรตอนที่ 17 อ.ดร.คัมภีร์ พ่วงทอง อาจารย์ประจำระดับบัณฑิตศึกษา คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ – Thai Ph.D. in China

สวัสดีค่ะทุกเย็นวันศุกร์เรากลับมาพบกับคอลัมน์ “ชีวิต Ph.D. ในแดนมังกร” กันอีกครั้งนะคะ สัปดาห์นี้เราจะพาไปรู้จักกับดร.คัมภีร์ ดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยถงจี้ (Tongji University) สาขาวิศวกรรมศาสตร์สิ่งแวดล้อม ที่ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำระดับบัณฑิตศึกษา คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เรามาตามติดการเรียนวิศวะในประเทศจีนไปพร้อมๆกับเรื่องราวของพี่คัมภีร์กันเลยค่ะ

1 (1)

Admin: สวัสดีค่ะพี่คัมภีร์

พี่คัมภีร์: สวัสดีครับน้องจี

Admin: แนะนำตัวด้วยค่ะ

พี่คัมภีร์: ครับ ผมชื่อ คัมภีร์ พ่วงทอง จบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยถงจี้เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2559 ที่ผ่านมาครับ

Admin:ตอนที่พี่เรียนอยู่พี่คัมภีร์ทำวิจัยเกี่ยวกับอะไรคะ?

พี่คัมภีร์: ตอนที่เรียนปริญญาเอกผมอยู่ในสถาบัน Institute of Waste Treatment and Reclamation (IWTR) ครับ งานวิจัยจะเกี่ยวข้องกับการจัดการของเสียโดยในส่วนของผมนั้นจะเน้นการนำเถ้า (Ash) ที่ได้จากกระบวนการ Thermal treatment มาศึกษา/วิเคราะห์ทางด้านกายภาพ-เคมี, ทดสอบ Leaching, ทดสอบทางพิษวิทยา (แบคทีเรียและเมล็ดพืช) และการใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อทำนายผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (ในระยะยาว) เมื่อนำเถ้าไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆเช่น เป็นวัสดุก่อสร้าง, ทางการเกษตรหรืออื่นๆครับ

Admin: เรื่อง Course Work กับหน่วยกิต?

พี่คัมภีร์: ปริญญาเอกที่นี่ 15 หน่วยกิตครับ คิดว่าน่าจะมีความคล้ายคลึงกันกับมหาวิทยาลัยอื่นๆโดยมี Coursework ในปีแรก ส่วนปีที่ 2 จะต้องสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์ให้ผ่าน ระยะเวลาในการเรียนตามหลักสูตรคือ 3 ปี โดยมีเงื่อนไขการจบที่แตกต่างกัน ตามแต่ที่คณะนั้นๆเป็นผู้กำหนดครับ

Admin:ตอนที่พี่เรียนเป็นหลักสูตรภาษาจีนหรือภาษาอังกฤษคะ?

พี่คัมภีร์: ภาษาจีนครับ

Admin: แบบนี้ก็ต้องเขียนวิทยานิพนธ์เป็นภาษาจีนด้วยหรือเปล่าคะ?

พี่คัมภีร์: วิทยานิพนธ์ใช้ภาษาอังกฤษครับ ตอนสอบนำเสนอป้องกันวิทยานิพนธ์ก็เป็นภาษาอังกฤษเช่นกันครับ

Admin: แสดงว่าแม้จะเป็นหลักสูตรภาษาจีน ก็ยังสามารถอนุโลมให้ใช้ภาษาอังกฤษได้ใช่ไหมคะ

พี่คัมภีร์: น่าจะขึ้นกับอาจารย์ที่ปรึกษาและทางคณะด้วยครับ เพราะปริญญาเอกวิชาเรียนค่อนข้างน้อย เลยไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไร แต่ถ้าเป็นน้องป.ตรีที่เรียนสาขาวิศวกรรมศาสตร์ก็ใช้ภาษาจีน 100% เหมือนนักศึกษาจีนเลยครับ การเขียนวิทยานิพนธ์ เราก็สามารถเลือกได้ครับว่าจะเขียนเป็นภาษาจีนหรือภาษาอังกฤษ แต่ในส่วนของเปเปอร์ก็ใช้ภาษาอังกฤษอยู่แล้วครับ

3

Admin: อุปสรรค์และปัญหา?

พี่คัมภีร์: แน่นอนว่าเป็นภาษาโดยเฉพาะภาษาจีนครับ ต้องยอมรับว่าการมาเรียนที่ประเทศจีน ชีวิตจะดีหรือยากนั้นอยู่ที่ระดับภาษาจีนของเราทั้งในเรื่องการดำรงชีวิตและการเรียนเพราะถึงแม้ว่าจะใช้ภาษาอังกฤษได้ดีเพียงใด การสื่อสารทั้งกับเพื่อนในแล็ป อาจารย์ เจ้าหน้าที่ก็จำเป็นเป็นอย่างมากที่จะต้องได้ภาษาจีนในระดับหนึ่ง ส่วนอีกเรื่องก็คือวัฒนธรรมในการเรียนทั้งระบบของประเทศจีนที่ค่อนข้างตึงและเข้มงวดทั้งเรื่องวินัยและความเข้มข้นในเรื่องที่เราวิจัย (ส่วนนี้ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยอื่นก็เช่นเดียวกัน)

Admin: ค่ะ ที่มหาลัยของหนูก็เป็น ตารางเวลาค่อนข้างตึงและเข้มงวดพอสมควร

พี่คัมภีร์: ครับ

Admin: แล้วแบบนี้พี่คัมภีร์แก้ปัญหายังไงคะ

พี่คัมภีร์: ในส่วนของการแก้ปัญหาผมว่าก็น่าจะเหมือนคนอื่นๆนะ ในเรื่องภาษานั้นเป็นเรื่องของทักษะต้องอดทนฝึกฝนเอา ส่วนเรื่องวินัยและความเข้มข้นในการเรียน ผมคิดว่าควรจะปฏิบัติให้ได้เหมือนกับที่นักศึกษาจีนปฏิบัติ เช่น นักศึกษาจีนมาเช้ากลับดึก เราก็ต้องทำให้ได้ นักศึกษาจีนขยัน เราก็ต้องขยัน (ดูนักศึกษาจีนเป็น Benchmark) เพื่อจะได้รีดศักยภาพของเราออกมาให้ได้มากที่สุด แต่ก็ควรเลือกปฏิบัติในสิ่งที่ดีเท่านั้นและควรปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมที่สุดหรือพอดีกับตัวเรา (อะไรที่ตึงหรือหย่อนไปก็ไม่ดี) เราจะได้มีความสุขที่จะเรียน

 

Admin: การดูแลให้คำแนะนำของอาจารย์ที่ปรึกษา?

พี่คัมภีร์: ผมว่าได้อาจารย์ที่ปรึกษาดี (ดีในที่นี้ของแต่ละคนอาจต่างกัน) เหมือนถูก Lottery เลยนะ ต้องยอมรับเลยว่าอาจารย์แต่ละท่านปฏิบัติกับนักศึกษาไม่เหมือนกัน อาจารย์ท่านเดียวกันก็อาจปฏิบัติกับนักศึกษาต่างกันด้วย ในส่วนที่แล็ปของผมนั้นจะมีการรายงานความก้าวหน้าทุกวันอาทิตย์ โดยจะมีอาจารย์คอยคอมเมนต์ ในงานวิจัยของเราซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากเพราะประสบการณ์ในด้านการวิจัยของอาจารย์ที่มีมากกว่าเราก็จะช่วยแนะนำทิศทางข้อมูลต่างๆให้งานวิจัยของเรามีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ส่วนในเวลาอื่นๆถ้ามีปัญหาใดๆก็สามารถที่จะเข้าไปหาอาจารย์ที่ปรึกษาได้ตลอด นอกเหนือจากการให้คำปรึกษาด้านการเรียนแล้วอาจารย์ยังสอนถึงเรื่องการใช้ชีวิต การวางตัว รวมถึงทัศนคติในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ที่มีประโยชน์สามารถนำมาใช้ได้ในสภาพสังคมยุคปัจจุบันครับ

Admin: เรื่องการเรียนที่นี่ค่ะ

พี่คัมภีร์:ในช่วง 3 ปีแรกนักศึกษาในแล็ปจะต้องเข้าแล็ปทุกวันครับ (ไม่เว้นวันหยุดราชการ)

Admin: เข้าแล็ปทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ?

พี่คัมภีร์: ใช่ครับ ตั้งแต่ก่อนเก้าโมงเช้าจนถึงประมาณหนึ่งทุ่ม

Admin: เรียกว่าฝังตัวในแล็ปเลยทีเดียว

พี่คัมภีร์: ครับผม เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่จะไม่ค่อยว่างหรือจะว่างแค่ช่วงกลางคืนเท่านั้นครับ

Admin:อย่างนี้พี่แบ่งเวลายังไงคะ

พี่คัมภีร์: คิดว่าก็น่าจะเหมือนกันกับคนอื่นๆนะ เพราะฉะนั้นเวลาโดยส่วนใหญ่จะไม่ค่อยว่างหรือจะว่างแค่ช่วงกลางคืนเท่านั้น เวลาว่างก็จะมีการทำอาหารร่วมกันกับคนไทย ไปรับประทานอาหารข้างนอกร่วมกัน เฮฮาปาร์ตี้ ร้องคาราโอเกะบ้าง แต่หลังจากเข้าสู่ปีที่ 4 (ปิดแลปแล้ว) เหลือแต่เพียงเขียนวิทยานิพนธ์ เวลาว่างก็จะมากขึ้นได้มีเวลาไปออกกำลังกายกับพี่ๆเพื่อนๆน้องๆคนไทย เช่น ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ แบดมินตัน รวมทั้งได้มีการท่องเที่ยวไปยังเมืองต่างๆของประเทศจีนและต่างประเทศร่วมกัน ผมมีความเชื่อที่ว่าถึงแม้เราจะมีเวลาน้อยสักแค่ไหนแต่เราก็ควรมีกิจกรรมอื่นๆทำเพิ่มเติมนอกเหนือจากการเรียนเพราะการจัดสรรเวลาที่ดี/แบ่งเวลาที่ดีจะช่วยให้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้นและช่วยลดความเครียด/กดดันจากการเรียน เพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างตนเองและผู้อื่น ที่สำคัญบางกิจกรรมก็สามรถสร้างรายได้ให้กับเราได้อีกด้วยครับ

Admin: อยากให้พี่คัมภีร์พูดถึงมหาวิทยาลัยถงจี้ (Tongji University) บ้างค่ะ

พี่คัมภีร์:มหาวิทยาลัยถงจี้ (Tongji University) คือมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกครับ (ฟังไม่ผิดนะครับ55) อันดับ เป็นมหาวิทยาลัยที่โดดเด่นในด้านต่างๆเช่น Architecture/Built Environment/ Urban Planning อยู่ในอันดับ 22 ของโลก, Engineering – Civil & Structural อันดับ 29, Art & Design อันดับ 34, Environmental Studies ช่วงอันดับ 101-150 เป็นต้น (QS World University Rankings, 2016) ครับ

Admin:แปลว่าการเข้าถึงช้อมูลงานวิจัยที่นี่ถือว่าโอเคเลย

พี่คัมภีร์: ใช่ครับ อย่างในด้านวิศวกรรมศาสตร์/วิทยาศาสตร์/การจัดการสิ่งแวดล้อมนั้นการเข้าถึงข้อมูลด้านงานวิจัยก็จะเหมือนกัน คือเข้าในฐานข้อมูล (วารสาร) ต่างๆเช่น Web of Science, Scopus, Scimago เป็นต้นครับ

Admin:พูดถึงเรื่องการเรียนวิศวะในประเทศจีน?

พี่คัมภีร์:ผมว่าถ้าย้อนกลับไปหลายปีก่อนที่จะเดินทางมาเรียนวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมที่จีนนั้น เมื่อเราไปบอกคนอื่นๆหรือมีคนมาถามว่าจะไปเรียนต่อที่ไหน และเมื่อเอ่ยว่าประเทศ “จีน” เกือบจะทุกคนได้แต่เบ้ปากมองบนและกล่าวว่า “เห้ย!จริงดิ! ทำไมว่ะ? ทำไมไม่ไปประเทศอื่น เรียนที่ไทยดีกว่าไหมว่ะ? ฯลฯ” แต่หลังจากที่ได้เข้ามาเรียนและสำเร็จการศึกษาออกไปนั้น “ผมตัดสินใจไม่ผิด” ทุกวันนี้ในสาขาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศจีนนั้นเหนือกว่าหลายๆประเทศในทุกๆมิติ ทั้งทางด้านศักยภาพของบุคลากรทางการศึกษา เครื่องไม้เครื่องมือและทุนวิจัย ที่มีสูงมาก

2 (1)

Admin:แสดงว่าที่จีนกำลังเปิดกว้างในด้านนี้พอสมควร?

พี่คัมภีร์: ครับ ผมว่าทัศนคติและแนวทางในการพัฒนาประเทศของผู้นำประเทศก็มีส่วนสำคัญครับ จะเห็นได้ว่าประธานาธิบดีของจีนหลายๆท่านจบการศึกษาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ดังนั้นประเทศจีนจึงมีการลงทุนด้านยุทธศาสตร์การศึกษาในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์เป็นอย่างมาก และจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทางด้านวิศวกรรมศาสตร์พบว่ามหาวิทยาลัยของจีน มีผลงานในด้านการวิจัยด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่โดดเด่นและแซงหน้ามหาวิทยาลัยต่างๆที่มีชื่อเสียงทั่วโลก ดังนั้นเราอาจกล่าวได้ว่าการศึกษาในด้านวิศวกรรมศาสตร์เป็นคำตอบที่สำคัญกับประเทศชาติซึ่งจำเป็นต้องการผู้ที่มีความรู้ความสามารถเพื่อเตรียมพร้อมในการแข่งขันต่อไป

Admin: บุคลากรของจีนหลายๆคนก็มีคุณภาพด้วย

พี่คัมภีร์: ครับ ในความคิดพี่คิดว่าประเทศจีนมีตัวเลือกบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งปริมาณและคุณภาพเยอะกว่าประเทศอื่นๆมาก และบุคลากรด้านนี้เองที่กลายมา เป็นแรงขับเคลื่อนอันทรงพลังในการผลักดันให้ประเทศจีนพัฒนาไปอย่างดีและรวดเร็ว รวมไปถึงการแข่งขันทางด้านการศึกษาที่สูงด้วยครับ

Admin: ข้อคิดที่อยากฝากไว้

พี่คัมภีร์:การศึกษาในระดับปริญญาเอกนั้น สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ“เป้าหมาย”คนที่กำลังคิดจะศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกนั้น“จง” มีเป้าหมายที่ชัดเจนตอบให้ได้ว่าเรียนไปทำไหม? จบแล้วไปทำอะไร? เรียนไปขำๆเก๋ๆ? ได้ชื่อว่าเป็นนักเรียนนอก? เรียนไปแล้วคุ้มค่าไหม? เห็นว่าการคัดเลือกไม่ยาก? เพราะการเรียนปริญญาเอกไม่สามารถบอกได้ว่าจะจบตามเวลาที่หลักสูตรกำหนดเมื่อจบช้าแน่นอนว่าจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นและอย่าลืมว่าเวลาเป็นทรัพยากรที่มีค่ามาก

Admin: ใช่ค่ะ เวลาผ่านไปแล้วไม่หวนกลับคืน

พี่คัมภีร์: ครับผม แล้วยังมีเรื่องของความเครียดที่สะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเมื่อสุขภาพจิตแย่ร่างกายก็แย่ตามได้โรคภัยต่างๆตามมานอกเหนือจากวุฒิการศึกษา (ซึ่งไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไร) เช่นโรคนอนไม่หลับไมเกรนซึมเศร้าโรคอ้วนเพราะกินมากเมื่อมีความเครียดฯลฯ ในส่วนคนที่มีครอบครัวอยู่แล้วแน่นอนครับว่าสิ่งต่างๆที่พูดมาก็จะมีความรุนแรงทวีขึ้นไปอีก ในกรณีที่ลามาศึกษาต่อก็จะต้องรีบให้จบตามเงื่อนไขที่ทางต้นสังกัดกำหนดส่วนคนที่ยังไม่มีต้นสังกัดก็จะเจอกับความท้าทายที่น่าสะพรึงกลัวคือถึงแม้ว่าจะจบปริญญาเอกก็ไม่ได้การันตีว่าจะหาง่านได้ง่ายได้ทันที

Admin: มีแนวโน้มตกงาน?

พี่คัมภีร์: คือผมเชื่อนะว่าหลายคนที่มาศึกษาในระดับปริญญาเอกนั้นมีเป้าหมายที่ค่อนข้างชัดเจนว่าเมื่อจบไปแล้วจะกลับไปเป็นอาจารย์ตามมหาวิทยาลัยต่างๆหรือนักวิจัยตามสถาบันต่างๆในประเทศไทย แต่ก่อนอื่นเราต้องยอมรับว่าปัจจุบันมีคนจบระดับปริญญาเอกเยอะมากในบางสาขารับ 1 ตำแหน่งแต่มีผู้สมัครมากกว่า 10 คน อีกทั้งการเปิดรับของมหาวิทยาลัยต่างๆตอนนี้เปิดรับน้อยมาก และเป็นเรื่องปกติมากที่อาจจะต้องรองานเป็นเวลานานมากกว่าหนึ่งปีหรือมากว่านั้นนะครับ

4

Admin: หนูฟังแล้วรู้สึก…เสียวสันหลังเลยค่ะ

พี่คัมภีร์: ครับ ฟังถึงตรงนี้ผมว่าหลายๆคนที่คิดจะมาเรียนอาจจะตกใจได้! (ไม่ต้องตกใจไปครับเป็นแบบนี้จริงๆ 55) เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ชัดว่าถ้าเรามีเป้าหมายเราก็ต้องโฟกัสและทำให้ได้ต้องตั้งเป้าว่าจะต้องเรียนให้จบและจบแบบมีคุณภาพ (โดยใช้เวลาให้เร็วที่สุด) เพื่อที่จะได้มีศักยภาพไปแข่งขัน (สมัครงาน) กับคนอื่นๆได้เพราะหลายๆครั้งเราอาจจะไม่ใช่คนที่ดวงดีหรือมีโชคที่ดี (เราไปทำอะไรกับมันไม่ได้นอกจากคิดดี/ทำดี) แต่สิ่งที่เราสามารถทำได้แน่นอนนั่นก็คือการเตรียมให้ตัวเองมีความพร้อมที่สุดต่อโอกาสที่จะเข้ามา

Admin:เตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์

พี่คัมภีร์: ใช่ครับ ยังไงก็เป็นกำลังใจให้กับทุกคนนะครับ

Admin: ขอบคุณพี่คัมภีร์มากนะคะที่สละเวลามาให้สัมภาษณ์กับเราในวันนี้

พี่คัมภีร์: ยินดีครับ

 

จบไปแล้วสำหรับบทสัมภาษณ์ในสัปดาห์นี้นะคะ หวังว่าเรื่องราวของพี่คัมภีร์จะให้ข้อคิดดีๆ และเปิดมุมมองกับการเรียนในประเทศจีนมากขึ้น สุดท้ายแอดมินขอให้ทุกคนเที่ยวสงกรานต์อย่างมีสติ และอย่าลืม “ลุ่นเหวิน” อันเป็นที่รักยิ่งนะคะ แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ

 

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย: Admin G 走遍江湖ผู้ท่องไปในยุทธภพ

ขอบคุณที่มาของข้อมูล :
Thai Ph.D. in China

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]