อิสราเอลไขปริศนากลไกโควิด-19 หลบหนี ‘ระบบภูมิคุ้มกัน’ | XinhuaThai

(แฟ้มภาพซินหัว : บุคลากรการแพทย์อิสราเอลปฏิบัติงานในแผนกแยกโรคโควิด-19 ณ โรงพยาบาลในเมืองรามัตกันของอิสราเอล วันที่ 8 ก.ค. 2020)

 

เยรูซาเล็ม, 14 พ.ค. (ซินหัว) — เมื่อวันพฤหัสบดี (13 พ.ค.) สถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์มันน์ (WIS) ทางตอนกลางของอิสราเอล เปิดเผยว่าคณะนักวิทยาศาสตร์ชาวอิสราเอลค้นพบวิธีที่เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อโรคโควิด-19 ใช้หลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์

การศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารเนเจอร์ (Nature) ระบุว่าคณะนักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์มันน์และสถาบันเพื่อการวิจัยทางชีววิทยา (IIBR) ของอิสราเอล สามารถไขปริศนาการประสานกลไกระดับโมเลกุลหรือ “แขน” สามแบบที่เชื้อ      ไวรัสฯ ใช้เอาชนะระบบภูมิคุ้มกัน รวมถึงระบุโปรตีนเชื้อไวรัสฯ ที่เกี่ยวข้องกับกลไกดังกล่าว ซึ่งอาจนำไปสู่การบำบัดใหม่ที่มีประสิทธิภาพ

กลไกเหล่านี้ทำให้เชื้อไวรัสฯ เข้าควบคุมระบบการผลิตโปรตีนของเซลล์เจ้าบ้าน (host cell) ป้องกันการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และเพิ่มจำนวนโดยไม่มีสิ่งหยุดยั้งได้อย่างรวดเร็ว

แขนแรกทำหน้าที่ช่วยเชื้อไวรัสฯ ลดความสามารถผลิตโปรตีนในเซลล์ลงอย่างมหาศาล แขนที่สองคอยทำลายโมเลกุลเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) ของเซลล์ ซึ่งเป็นตัวขนส่งสูตรการผลิตโปรตีน ขณะเดียวกันโมเลกุลเอ็มอาร์เอ็นเอของเชื้อไวรัสฯ จะเดินทางต่อไปยังสายการผลิต

ส่วนแขนที่สามช่วยเชื้อไวรัสฯ ปิดกั้นโมเลกุลเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) ใหม่ของเซลล์ไม่ให้ออกจากนิวเคลียสของเซลล์ ซึ่งโมเลกุลใหม่เหล่านี้ถูกผลิตขึ้นเพื่อรับมือการบุกรุกของเชื้อไวรัสฯ ทำให้เซลล์ไม่สามารถออกมาต่อสู้กับเชื้อไวรัสฯ และขอความช่วยเหลือจากภายนอก

กระบวนการดังกล่าวทำให้การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันล่าช้าอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยอาการทรุดลงและเสียชีวิตได้

ขอบคุณที่มาของข้อมูล :

Xinhua

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]