• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • ‘ระบบเฝ้าติดตามเป่ยโต่ว’ ฝีมือจีน เปิดใช้งานแล้วที่เขื่อนสูงสุดในโลก | XinhuaThai

‘ระบบเฝ้าติดตามเป่ยโต่ว’ ฝีมือจีน เปิดใช้งานแล้วที่เขื่อนสูงสุดในโลก | XinhuaThai

(แฟ้มภาพซินหัว : ป้อมปราการไฮซอร์ในเมืองไฮซอร์ของทาจิกิสถาน วันที่ 12 มิ.ย. 2019)

ซีอัน, 23 ต.ค. (ซินหัว) — ศูนย์บริการเวลาแห่งชาติ (NTSC) สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) เปิดเผยว่าระบบเฝ้าติดตามความผิดปกติของเขื่อนที่ใช้ระบบดาวเทียมนำทางเป่ยโต่ว (BDS) เป็นพื้นฐาน ได้เปิดดำเนินการแล้วในเขื่อนอูซอย (Usoi Dam) ของทาจิกิสถาน

ทะเลสาบซาเรซ (Sarez Lake) ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคพาเมียร์ทางตะวันออกของทาจิกิสถาน มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 3,263 เมตร โดยเขื่อนอูซอยเกิดขึ้นตามธรรมชาติในปี 1911 หลังแผ่นดินไหวทำให้ดินถล่มก่อตัวเป็นเขื่อนขนาดยักษ์

เขื่อนอูซอยถือเป็นเขื่อนที่ตั้งอยู่สูงที่สุดในโลก เมื่อนับทั้งเขื่อนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือเขื่อนที่สร้างโดยมนุษย์ ฉะนั้นการเกิดแผ่นดินไหวอีกครั้งในพื้นที่โดยรอบจะนำความสูญเสียที่ไม่อาจวัดได้มาสู่ประชาชนหลายล้านคนในพื้นที่ทะเลสาบซาเรซ และส่งผลให้เกิดภัยพิบัติต่อสภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยาของเอเชียกลาง

รายงานระบุว่าระบบเฝ้าติดตามความผิดปกติถูกพัฒนาร่วมกันโดยศูนย์บริการเวลาแห่งชาติ ศูนย์วิจัยนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมเอเชียกลาง สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์ทาจิกิสถาน และคณะกรรมการสถานการณ์ฉุกเฉินและการป้องกันพลเรือนแห่งทาจิกิสถาน

ระบบดังกล่าวเป็นระบบเฝ้าติดตามแบบเรียลไทม์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อเขื่อนอูซอย โดยระบบเฝ้าติดตามนี้ใช้การบอกตำแหน่งความแม่นยำสูงและเทคโนโลยีสื่อสารของระบบดาวเทียมนำทางเป่ยโต่วมาตรวจจับความเปลี่ยนแปลงระดับมิลลิเมตรในเขื่อน รวมถึงสามารถเชื่อมต่อ ส่งต่อ และวิเคราะห์ข้อมูลได้แบบเรียลไทม์

คณะนักวิจัยสามารถใช้ระบบดังกล่าวทำการเฝ้าติดตามได้แบบเรียลไทม์และออกการแจ้งเตือนระยะแรกในกรุงดูชานเบ เมืองหลวงของทาจิกิสถาน และศูนย์บริการเวลาแห่งชาติในนครซีอัน เมืองเอกของมณฑลส่านซีทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน

ทั้งนี้ ศูนย์บริการเวลาแห่งชาติระบุว่าแพลตฟอร์มเฝ้าติดตามของเป่ยโต่วที่ทะเลสาบซาเรซถูกพัฒนาเพื่อส่งเสริมบริการเฝ้าติดตามสะพาน เหมืองแร่ ดินถล่ม อาคาร และเขื่อน โดยอ้างอิงระบบเป่ยโต่วเป็นหลัก

ขอบคุณที่มาของข้อมูล :

Xinhua

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]