หัวเจาะอุโมงค์รถไฟความเร็วสูง อีกความท้าทายด้านวิศวกรรมในกว่างซี

ไฮไลท์

  • รถไฟความเร็วสูง เส้นทาง นครหนานหนิง-เมืองฉงจั่ว เป็นรถไฟความเร็วสูงสายแรกของกว่างซีที่ใช้เทคโนโลยีการขุดเจาะอุโมงค์ด้วยโล่ขุดเจาะขนาดใหญ่ (Shield Tunneling Method) ซึ่งเป็นวิธีการขุดเจาะแบบไม่เปิดหน้าดินคล้ายกับการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินในตัวเมือง
  • ตัวอุโมงค์ได้รับการออกแบบให้เป็น “อุโมงค์รถไฟทางคู่” ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของผนังอุโมงค์รอบนอก4 เมตร และผนังอุโมงค์รอบใน 11.3 เมตร แผ่นคอนกรีตผนังอุโมงค์แบบโค้งวงกลมมีความกว้าง 2 เมตร ความหนา 0.55 เมตร ซึ่งระหว่างการขุดเจาะก็จะทำการติดตั้งผนังคอนกรีตไปด้วย
  • การก่อสร้างอุโมงค์ได้นำโซลูชันการจัดการก่อสร้างอัจฉริยะผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย ได้แก่ ระบบควบคุมตรวจสอบระยะไกลแบบอัตโนมัติและระบบการจัดการทำงานร่วมกัน (Collaborative Management) มาใช้เพื่อให้สามารถควบคุมงานก่อสร้างแบบอัจฉริยะได้ตลอดทั้งกระบวนการ
  • อุโมงค์รถไฟความเร็วสูงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่จะแวะจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง ทำให้สนามบินกับสถานีรถไฟความเร็วสูงสามารถเชื่อมต่อแบบไร้รอยต่อได้อย่างสมบูรณ์ และสามารถต่อขยายไปยังอำเภอระดับเมืองผิงเสียง(ในอนาคต) ซึ่งเมืองที่มีบทบาทสำคัญในระบบงานขนส่งและโลจิสติกส์ระหว่างจีนกับอาเซียนในฐานะ “ข้อต่อ” ของแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมทางบก

 

บริษัท China Railway 14th Bureau Group Co.,Ltd. (中铁十四局集团有限公司) ได้เริ่มขุดเจาะอุโมงค์สำหรับรถไฟความเร็วสูง เส้นทาง นครหนานหนิง-เมืองฉงจั่ว ที่มีชื่อว่า “อุโมงค์หลิวชุน” (Liucun tunnel/留村隧道) นับเป็นอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงแห่งแรกในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงที่ใช้วิธีการขุดเจาะอุโมงค์ด้วยโล่ขนาดใหญ่ (Shield Tunneling Method) โดยอุโมงค์มีความยาวรวม 5,725 เมตร เป็นการขุดเจาะอุโมงค์แบบเปิดหน้าดินบริเวณปากทางอุโมงค์ 1,240 เมตร และการขุดเจาะแบบปิดด้วยโล่ขุดเจาะขนาดใหญ่ 4,006 เมตร

อุโมงค์รถไฟความเร็วสูงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่จะแวะจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง ทำให้สนามบินกับสถานีรถไฟความเร็วสูงสามารถเชื่อมต่อแบบไร้รอยต่อได้อย่างสมบูรณ์ และสามารถต่อขยายไปยังอำเภอระดับเมืองผิงเสียง(ในอนาคต) เมืองที่มีบทบาทสำคัญในระบบงานขนส่งและโลจิสติกส์ระหว่างจีนกับอาเซียนในฐานะ “ข้อต่อ” ของแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมทางบก

การขุดเจาะอุโมงค์หลิวชุนเป็นงานวิศวกรรมที่มีความท้าทายสูง เนื่องจากจะต้องขุดเจาะลอดใต้รถไฟความเร็วสูง 6 สาย รถไฟใต้ดิน 1 สาย ถนนสายหลัก 6 เส้น และกลุ่มอาคารปลูกสร้างอีก 12 แห่ง กอปรกับสภาพแวดล้อมทางธรณีวิทยาที่มีความซับซ้อนของชั้นดินและชั้นหินในพื้นที่ก่อสร้าง หน้าตัดในการขุดเจาะอุโมงค์คิดเป็น 4 เท่าของการก่อสร้างรถไฟใต้ดิน ปริมาณเศษดินจากการขุดเจาะ 7 แสน ลบ.ม. และเศษวัสดุอื่นอีก 1.2 ล้าน ลบ.ม.

ดังนั้น บริษัทผู้รับเหมาจึงนำเทคนิคการขุดเจาะอุโมงค์ด้วยวิธี Earth Pressure Balance (EPB) หรือสมดุลแรงดันดินด้วยโล่หัวเจาะขนาดใหญ่มาใช้ ซึ่งมีความแม่นยำสูง (สามารถควบคุมความคลาดเคลื่อนของระดับอุโมงค์ให้อยู่ภายใน 2 มิลลิเมตร) ทำงานที่ความลึกใต้ดิน 40 เมตร โดยโล่หัวเจาะมีขนาด 12.86 เมตร และสามารถสร้างอุโมงค์ได้วันละ 8 เมตร หากทำงานตลอด 24 ชั่วโมง

ตัวอุโมงค์ออกแบบเป็น “อุโมงค์รถไฟทางคู่” ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของผนังอุโมงค์รอบนอก 12.4 เมตร และผนังอุโมงค์รอบใน 11.3 เมตร แผ่นคอนกรีตผนังอุโมงค์แบบโค้งวงกลมมีความกว้าง 2 เมตร ความหนา 0.55 เมตร ซึ่งระหว่างการขุดเจาะก็จะทำการติดตั้งผนังคอนกรีตไปด้วย ทำให้มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งช่วยลดผลกระทบต่อการจราจรบนถนน ลดเสียงรบกวนและแรงสั่นสะเทือนในบริเวณรอบ ๆ ระหว่างการก่อสร้าง

ที่สำคัญ การก่อสร้างอุโมงค์ได้นำโซลูชันการจัดการก่อสร้างอัจฉริยะผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย ได้แก่ ระบบควบคุมตรวจสอบระยะไกลแบบอัตโนมัติ (Remote Automatic Monitoring System) และระบบการจัดการทำงานร่วมกัน (Collaborative Management) มาใช้เพื่อให้สามารถควบคุมงานก่อสร้างแบบอัจฉริยะได้ตลอดทั้งกระบวนการ

ตามรายงาน รถไฟความเร็วสูง เส้นทาง นครหนานหนิง-เมืองฉงจั่ว เป็นรถไฟความเร็วสูงสายแรกที่รัฐบาลกว่างซีลงทุนก่อสร้างเอง มีระยะทาง 119.3 กม. วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปลายปี 2565 ช่วยย่นระยะเวลาเดินทางจากเดิม 2 ชั่วโมงเหลือเพียง 30 นาทีเท่านั้น

 

จัดทำโดย นางสาววัชราภรณ์  พรหมพินิจ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中国新闻网) ประจำวันที่ 27 ธันวาคม 2562
      เว็บไซต์ www.nanning.gov.cn ประจำวันที่ 26 ธันวาคม 2562
รูปประกอบ http://sllii.com/
                http://hnrb.hinews.cn

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]