ส่องเศรษฐกิจกว่างซี จบ 3 ไตรมาสแรก ปี 2564 เศรษฐกิจโต 9%

หลังจากสิ้นสุดไตรมาสที่ 3/2564 พบว่าภาวะเศรษฐกิจของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงยังคงรักษาระดับการขยายตัวได้ดี โดยได้รับอานิสงส์จากมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการขับเคลื่อนนโยบายกระตุ้นการบริโภค การผลิต การลงทุน และการนำเข้า-ส่งออก สรุปได้ดังนี้

เศรษฐกิจมหภาค ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) มีมูลค่า 1,804,696 ล้านหยวน ขยายตัว 9.0% (YoY) อัตราขยายตัวเฉลี่ยในช่วง 2 ปีอยู่ที่ 5.4% (ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 5.2%) ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจของกว่างซีมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากช่วง 2 ไตรมาสแรก โดยไตรมาส 1/2564 ขยายตัวที่ 16.1% และไตรมาส 2/2564 ขยายตัวที่ 12.0% ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ภาพรวมของทั้งประเทศ

ภาคการเกษตร ปศุสัตว์ ประมง และป่าไม้ มีอัตราขยายตัว 8.6% ผลผลิตทางการเกษตรและปศุสัตว์มีความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะตลาดสุกรในกว่างซีที่ฟื้นตัวดีขึ้นจากสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever : ASF) ส่งผลให้จำนวนสุกรโตเต็มวัยเพิ่มขึ้น 13.3% (YoY) และจำนวนสะสมของสุกรที่เข้าสู่โรงฆ่าสัตว์เพิ่มขึ้น 45.4% (YoY)

ภาคอุตสาหกรรม พบว่า มูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขยายตัว 11.3% (YoY) โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงพลังงาน (ปิโตรเลียม ถ่านหิน และเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ) เพิ่มขึ้น 36.7% และการถลุงและแปรรูปแร่โลหะนอกกลุ่มเหล็ก (Non-ferrous metals) เพิ่มขึ้น 25.5%

นอกจากนี้ สินค้าอุตสาหกรรมดาวรุ่งหลายประเภทเป็นที่น่าจับตามอง ยอดการผลิตพุ่งสูงขึ้นอย่างชัดเจน อาทิ รถยนต์พลังงานทางเลือก 3.4 เท่า แผงวงจรรวม 2.3 เท่า แบตเตอรี่พลังงานแสงอาทิตย์ 1 เท่า แบตเตอรี่ลิเธียม 91.8% จอแอลซีดี 71.9%

ภาคการลงทุน แบ่งเป็น (1) การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ขยายตัวสูงถึง 13.8% โดยเฉพาะการลงทุนด้านระบบโครงสร้างพื้นฐาน (เพิ่มขึ้น 29.6%) การลงทุนภาคการผลิต (เพิ่มขึ้น 27.1%) และการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ (เพิ่มขึ้น 9.0%) และ (2) การลงทุนจากต่างมณฑล มีมูลค่าการลงทุนจริง 578,900 ล้านหยวน ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเกิดใหม่ (emerging industry) เช่น การผลิตอุปกรณ์เครื่องจักรที่ทันสมัย วัสดุชนิดใหม่ รถยนต์พลังงานทางเลือก และเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ แหล่งเงินทุน 2 อันดับแรกมาจากมณฑลกวางตุ้ง (สัดสว่น 36.2%) กรุงปักกิ่ง (9.3%) มณฑลฝูเจี้ยน (7.8%) มณฑลเจ้อเจียง (5.7%) และนครเซี่ยงไฮ้ (5.3%)

ประเด็นที่น่าสนใจในขณะนี้ คือ วิกฤตพลังงานจากตลาดต่างประเทศ และการจำกัดการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้การลงทุนด้านพลังงานทางเลือก (พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์) ในกว่างซีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน คิดเป็นสัดส่วนราว 20% ของโครงการลงทุนใหม่

ภาคการค้าต่างประเทศ ในภาพรวม สถานการณ์การค้าต่างประเทศยังคงรักษาระดับการขยายตัวได้เป็นอย่างดี มูลค่าการค้าต่างประเทศ 444,590 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 29.3% (YoY) ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศอยู่ร้อยละ 6.6 จุด แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 219,620 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 17.2% และมูลค่าการนำเข้า 224,970 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 43.8 % โดย กว่างซี เสียดุลการค้าต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่า 5,350 ล้านหยวน

ในบรรดาคู่ค้าต่างประเทศ “อาเซียน” ยังคงครองตำแหน่งคู่ค้ารายใหญ่ของกว่างซีเป็นปีที่ 21 ติดต่อกัน โดยประเทศเวียดนามรั้งตำแหน่งคู่ค้าอันดับหนึ่งเหมือนเช่นเคย (สัดส่วนการค้า 1/3 ของมูลค่ารวมทั้งมณฑล และ 70.1% ของมูลค่าการค้ากับอาเซียน) ขณะที่ประเทศไทย เป็นคู่ค้าอันดับ 2 ในอาเซียน โดย 90.89% เป็นมูลค่าการนำเข้าจากประเทศไทย

สินค้านำเข้าหลักจากประเทศไทย อาทิ ฮาร์ดิสก์ไดร์ฟ (27,177 ล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วน 72.44% ของการนำเข้าจากไทย) ทุเรียนสด (7,601 ล้านหยวน สัดส่วน 20.26%) มังคุด (1,169 ล้านหยวน สัดส่วน 3.11%) มันสำปะหลังแห้ง (230 ล้านหยวน สัดส่วน 0.61%) แป้งสตาร์ชจากมันสำปะหลัง (202 ล้านหยวน สัดส่วน 0.53%)

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา นิตยสารศุลกากรจีน ได้ประกาศรายชื่อ เมืองที่มีศักยภาพแข่งขันทางการค้าต่างประเทศของจีน 100 อันดับแรก ประจำปี 2563 (จากทั้งหมด 297 เมือง) โดย 6 เมืองของกว่างซีสามารถเบียดเข้าตารางการจัดอันดับ ได้แก่ เมืองฝางเฉิงก่าง (No.34) เมืองฉงจั่ว (No.43) เมืองหลิ่วโจว (No.55) นครหนานหนิง (No.56) เมืองชินโจว (No.80) และเมืองเป๋ยไห่ (No.100)

ภาคประชาชน ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้น 0.6% โดยหมวดรักษาพยาบาล การศึกษา คมนาคม เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และของใช้ในชีวิตประจำวัน ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับที่แตกต่างกัน ยกเว้นอาหาร สุรา ยาสูบ ที่ปรับตัวลดลง 1.4%

ขณะที่รายได้เฉลี่ยที่นำไปใช้จ่ายได้ 19,855 หยวน เพิ่มขึ้น 10.1% แบ่งเป็นรายได้เฉลี่ยที่นำไปใช้จ่ายได้ของประชาชนในเขตเมือง 29,037 หยวน เพิ่มขึ้น 8.8% และชาวชนบท 11,902 หยวน เพิ่มขึ้น 11.6% นอกจากนี้ รายได้ในรูปของเงินเดือนเพิ่มขึ้น 6.6% และรายได้จากผลประกอบการธุรกิจเพิ่มขึ้น 21.4% อัตราการว่างงานที่ขึ้นทะเบียนในเขตเมือง 2.62%

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา      เว็บไซต์ www.askci.com (中商情报网) วันที่ 25 ตุลาคม 2564
            เว็บไซต์ http://gx.news.cn (广西新闻网) วันที่ 24 ตุลาคม 2564
หนังสือพิมพ์กว่างซี เดลี (
广西日报) วันที่ 21 ตุลาคม 2564
            เว็บไซต์ http://nanning.customs.gov.cn (南宁海关)

 

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]