• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • กว่างซีรุกตลาดรถยนต์พลังงานทางเลือกในต่างประเทศ ตอบโจทย์ Future Energy – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

กว่างซีรุกตลาดรถยนต์พลังงานทางเลือกในต่างประเทศ ตอบโจทย์ Future Energy – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ไฮไลท์

  • เทรนด์ “พลังงานทางเลือก” เป็นประเด็นที่ได้รับการพูดถึงอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในแวดวงรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็วจนอาจจะกลายเป็นเมกะเทรนด์ในอนาคตอันใกล้ นำมาซึ่งโอกาสทางการค้าให้กับ “ผู้เล่น” แบรนด์จีนอย่างมหาศาล การก้าวเข้าสู่วงการรถยนต์พลังงานทางเลือกของจีนที่เร็วกว่าประเทศอื่น จึงมีข้อได้เปรียบด้านห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่สมบูรณ์กว่าประเทศอื่น ทั้งการวิจัยและพัฒนา
    การตรวจสอบคุณภาพ และแบตเตอรีไฟฟ้า
  • “เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง” เป็นหนึ่งในฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของประเทศจีน ที่ผ่านมา รัฐบาลกว่างซีมุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนา ยานยนต์พลังงานทางเลือกซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงยุทธศาสตร์ (emerging industry) ในการขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของมณฑลให้ก้าวหน้ามากขึ้น
    โดยรัฐบาลกว่างซีได้กำหนดเป้าหมายใน “แผนการทำงานเพื่อผลักดันการพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์กว่างซี” ว่า ในปี 2568 กว่างซีจะมีกำลังการผลิตยานยนต์พลังงานทางเลือกปีละ 5 ล้านคัน แบ่งเป็นรถยนต์ Middle-High Class จำนวน 3 แสนคัน และรถยนต์พลังงานทางเลือก 5 แสนคัน
  • รัฐบาลกว่างซีได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาใน 4 เมืองสำคัญในโมเดล “การแบ่งงานกันทำตามความถนัด” เพื่อให้สอดรับกับการปรับเปลี่ยนนโยบายของรัฐบาลจีนที่หันไปให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและแนวโน้มการพัฒนาในอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนและโลกที่กำลังเปลี่ยนถ่ายสู่ “รถยนต์พลังงานทางเลือก” รวมถึงความนิยมของผู้ใช้งานที่เริ่มเปลี่ยนจากรถยนต์ใช้น้ำมันเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น คือ เมืองหลิ่วโจว เมืองกุ้ยก่าง นครหนานหนิง และเมืองกุ้ยหลิน
  • สำหรับประเทศไทย นับเป็นจังหวะและโอกาสที่เหมาะสมสำหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยในการทำความเข้าใจกับห่วงโซ่อุปทานของตนเองและกว่างซีของจีน เพื่อกำหนดแนวทางในการพัฒนาแหล่งวัตถุดิบที่แท้จริงของธุรกิจ แสวงหาโอกาสความร่วมมือทั้งด้านการลงทุน การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมยานยนต์ สร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจ รวมถึงการสร้างตัวตนในตลาดให้อีกฝ่ายได้รู้จักมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยต่อไปด้วย

 

หลายปีมานี้ เทรนด์ “พลังงานทางเลือก” เป็นประเด็นที่ได้รับการพูดถึงอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในแวดวงรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็วจนอาจจะกลายเป็นเมกะเทรนด์ในอนาคตอันใกล้ โดยรถยนต์ไฟฟ้าได้เข้ามาสร้างทางเลือกให้กับผู้ใช้งานได้มากยิ่งขึ้น

จากการคาดการณ์ของ Bloomberg New Energy Finance (BNEF) ระบุว่า ในปี 2568 ทั่วโลกจะมียอดขายรถยนต์พลังงานทางเลือก 11 ล้านคัน และในปี 2573 ยอดขายจะทะลุ 30 ล้านคัน และในอีกราว 20 ปีข้างหน้า รถยนต์พลังงานทางเลือกจะเป็นเจ้าตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถบัส โดยรถยนต์ไฟฟ้าจะครองตลาด 57% ของยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลภายในปี 2583 และคาดว่ารถบัสไฟฟ้าจะได้ส่วนแบ่งตลาด 81% ของรถบัสที่ใช้ในเมืองในช่วงเดียวกัน

หากพูดถึงประเทศที่มีการใช้งานยานยนต์พลังงานทางเลือกมากที่สุด นอกจากประเทศจีนแล้ว คงหนีไม่พ้นสหรัฐอเมริกา รวมถึงประเทศในยุโรปที่มีการส่งเสริมเชิงนโยบายรัฐให้กับผู้ใช้งานรถยนต์พลังงานทางเลือก ส่งผลให้ตลาดพลังงานทางเลือกส่อแววเติบโตสดใส นำมาซึ่งโอกาสทางการค้าให้กับ “ผู้เล่น” แบรนด์จีนอย่างมหาศาล การก้าวเข้าสู่วงการรถยนต์พลังงานทางเลือกของจีนที่เร็วกว่าประเทศอื่น จึงมีข้อได้เปรียบด้านห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่สมบูรณ์กว่าประเทศอื่น ทั้งการวิจัยและพัฒนา การตรวจสอบคุณภาพ และแบตเตอรีไฟฟ้า

“เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง” เป็นหนึ่งในฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของประเทศจีน ที่ผ่านมา รัฐบาลกว่างซีมุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนา ยานยนต์พลังงานทางเลือกซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงยุทธศาสตร์ (emerging industry) ในการขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของมณฑลให้ก้าวหน้ามากขึ้น

บริษัท Guangxi Auto (广西汽车集团) หรือเดิมในชื่อ Liuzhou Wuling Motors (柳州五菱汽车) เป็นหนึ่งในค่ายผู้ผลิตยานยนต์ชั้นนำของจีนที่ตั้งอยู่ในเมืองหลิ่วโจว (ฐานการผลิตยานยนต์ดั้งเดิมของกว่างซี) บริษัทฯ มีโรงงานผลิตรถยนต์ที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและรถยนต์พลังงานทางเลือก (EV) ที่กำลังได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากตลาดทั้งในและต่างประเทศ

จากข้อมูลช่วง 3 ไตรมาสแรก ปี 2564 บริษัทรายนี้มียอดการส่งออกรถยนต์พลังงานทางเลือกหลายประเภท รวม 608 คัน อาทิ รถยนต์ที่ใช้ในงานขนส่ง รถโดยสารขนาดเล็ก รถกอล์ฟ รถท่องเที่ยว (sightseeing car) โดยตลาดส่งออกหลักอยู่ที่อเมริกาเหนือ อาเซียน แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกาใต้ และในปลายปี 2564 นี้ บริษัท Guangxi Auto เตรียมเปิดใช้งานโรงงานผลิตรถยนต์พลังงานทางเลือกแห่งใหม่ที่ทำงานด้วยระบบอัจฉริยะและเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเสริมกำลังการผลิตพลังงานทางเลือกได้ปีละ 2 แสนคัน

นายซิน จวินเฉียง (Xin Junqiang/辛军强) ผู้จัดการฝ่ายตลาดต่างประเทศของบริษัท Guangxi Auto ชี้ว่า ตลาดรถยนต์พลังงานทางเลือกในต่างประเทศกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นแล้ว กุญแจสำคัญที่ทำให้ยอดขายของบริษัทฯ ขยายตัวดีต่อเนื่อง เป็นเรื่องของการวิจัยและพัฒนา “นวัตกรรมทางเทคโนโลยีและการออกแบบ” ในรถยนต์พลังงานทางเลือก เช่น การใช้งานได้ในระยะทางไกล มีขนาดความจุมาก มีอัตราการสิ้นเปลืองต่ำ มีสมรรรถนะสูง และความคุ้มค่าในการใช้งาน

รัฐบาลกว่างซีได้กำหนดเป้าหมายใน “แผนการทำงานเพื่อผลักดันการพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์กว่างซี” ว่า ในปี 2568 กว่างซีจะมีกำลังการผลิตยานยนต์พลังงานทางเลือก ปีละ 3.5 ล้านคัน แบ่งเป็นรถยนต์ Middle-High Class จำนวน 3 แสนคัน และรถยนต์พลังงานทางเลือก 5 แสนคัน

เพื่อให้สอดรับกับการปรับเปลี่ยนนโยบายของรัฐบาลจีนที่หันไปให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและแนวโน้มการพัฒนาในอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนและโลกที่กำลังเปลี่ยนถ่ายสู่ “รถยนต์พลังงานทางเลือก” รวมถึงความนิยมของผู้ใช้งานที่เริ่มเปลี่ยนจากรถยนต์ใช้น้ำมันเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น รัฐบาลกว่างซีได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาใน 4 เมืองสำคัญในโมเดล “การแบ่งงานกันทำตามความถนัด” ซึ่งมีความน่าสนใจ กล่าวคือ

(1) อัปเกรดอุตสาหกรรมรถยนต์ของเมืองหลิ่วโจว ซึ่งเป็นฐานการผลิตชั้นนำของกว่างซี (2) ผลักดันการพัฒนาแบรนด์รถยนต์ของเมืองกุ้ยก่าง ซึ่งเป็นฐานการผลิตขั้นรองของกว่างซี (3) ส่งเสริมการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์เชิงพาณิชย์ (Commercial vehicle) ที่ใช้พลังงานทางเลือกในเมืองกุ้ยหลิน และ (4) พัฒนาฐานการผลิตรถยนต์พลังงานทางเลือกแห่งใหม่ในนครหนานหนิง

ปี 2563 เขตฯ กว่างซีจ้วง มีปริมาณการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ “พลังงานทางเลือก” มากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศจีน นับตั้งแต่มีการส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานทางเลือกเมื่อ 1 ตุลาคม 2562 จนถึง 31 ธันวาคม 2563 ยอดการผลิตและจำหน่ายรถยนต์พลังงานทางเลือกของกว่างซีมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากข้อมูลพบว่า ในปี 2563 ประเทศจีนมียอดการผลิตและจำหน่ายรถยนต์พลังงานทางเลือก 1.366 ล้านคัน และ 1.367 ล้านคัน ตามลำดับ โดยกว่างซีครองสัดส่วนร้อยละ 13.3% ของทั้งประเทศ (ทั้งยอดการผลิตและยอดขาย) แบ่งเป็นยอดการผลิต 182,344 คัน เพิ่มขึ้น  190.58% YoY (ปี 2562 ยอดผลิต 62,752 คัน) และยอดจำหน่าย 181,821 คัน เพิ่มขึ้น 173.75%  YoY (ปี 2562 ยอดจำหน่าย 66,419 คัน)

การพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานทางเลือกในเขตฯ กว่างซีจ้วง นอกจากพื้นฐานที่แข็งแกร่งจากการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญของประเทศจีนแล้ว หัวใจสำคัญอยู่ที่การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมยานยนต์ที่ล้ำหน้า มีการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการผู้ใช้งานตามยุคตามสมัย การปรับตัวในทิศทางเดียวกันในห่วงโซ่อุตสาหกรรม ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ได้ปรับตัวมาเป็นซัพพลายเออร์ให้กับยานยนต์สมัยใหม่ และเข้าร่วมพัฒนาชิ้นส่วนและเทคโนโลยีร่วมกับผู้ประกอบรถยนต์ รวมทั้งปรับเปลี่ยนสายการผลิตให้เหมาะสมกับเทรนด์ในอนาคต

สำหรับประเทศไทย นับเป็นจังหวะและโอกาสที่เหมาะสมสำหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยในการทำความเข้าใจกับห่วงโซ่อุปทานของตนเองและกว่างซีของจีน เพื่อกำหนดแนวทางในการพัฒนาแหล่งวัตถุดิบที่แท้จริงของธุรกิจ แสวงหาโอกาสความร่วมมือทั้งด้านการลงทุน การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมยานยนต์ สร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจ การนำเข้ายานยนต์พลังงานทางเลือกและการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ รวมถึงการสร้างตัวตนในตลาดให้อีกฝ่ายได้รู้จักมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยต่อไปด้วย

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์
www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 06 ตุลาคม 2564
หนังสือพิมพ์กว่างซี เดลี่ (
广西日报) วันที่ 29 กันยายน 2564

 

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]