บะหมี่ฉงชิ่งหรือ “ฉงชิ่งเสี่ยวเมี่ยน” เป็นเมนูที่อยู่คู่กับนครฉงชิ่งมาช้านาน ดังคำกล่าวที่ว่า “บะหมี่หนึ่งชาม สามรสชาติ ที่ใคร ๆ ก็อยากลิ้มลอง” ถือเป็นเอกลักษณ์ทางอาหารของนครฉงชิ่ง ที่ทุกคนต่างก็ต้องหลงไหลในรสชาติอันโดดเด่น

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 คณะกรรมการเกษตรชนบทนครฉงชิ่ง สำนักงานพาณิชย์นครฉงชิ่ง รัฐบาลเขตต้าตู้โข่ว อาลีบาบา และ Ant Group ร่วมกันจัดงาน “ลิ้มรสบะหมี่ฉงชิ่ง เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจชนบท” ยกระดับบะหมี่ฉงชิ่งด้วยการค้าปลีกแบบดิจิทัล จาก “บะหมี่ข้างถนน” สู่ “ตลาด E-Commerce” ผลักดันและกระตุ้นยอดจำหน่ายอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การเพาะปลูก การแปรรูป จนไปถึงการจำหน่ายวัตถุดิบ เช่น พริก เมล็ดหมาล่า และผักดอง

สำนักงานพาณิชย์นครฉงชิ่งเปิดเผยว่า นครฉงชิ่งมีร้านบะหมี่ฉงชิ่งทั้งหมด 84,000 ร้าน แต่ละวันมียอดจำหน่ายบะหมี่รวม 12.6 ล้านชาม โดยยอดขายของบะหมี่ฉงชิ่งทุก ๆ 100 ล้านหยวนที่ขายออกไป เป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ขายวัตถุดิบเทียบเท่ากับพริก 400 ตัน เมล็ดหมาล่า 50 ตัน น้ำมันเมล็ดพืช 1,800 ตัน และผักดอง 50 ตัน

งานนี้จัดภายใต้แนวคิดการรวมพลังระหว่าง “E-Commerce และ Finance” เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและส่งเสริมการฟื้นฟูชนบท นายจางกั๋วจื้อ นายอำเภอเขตต้าตู้โข่ว เปิดเผยว่า บะหมี่ฉงชิ่งถือเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีความเชื่อมโยงกับเกษตรกรหลายพันราย ดังนั้นรัฐบาลเขตต้าตู้โข่วจึงสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องและบริษัทอีคอมเมิร์ซชั้นนำอย่างเต็มที่

ภายในงาน แอปพลิเคชั่น Huabei ได้ให้โควตาเงินกู้แบบไร้ดอกเบี้ยกับเกษตรกรรายละ 2,000 หยวน เพื่อเป็นเงินลงทุนในการเพาะปลูกในช่วงฤดูเพาะปลูกที่กำลังจะมาถึง ในขณะเดียวกันได้จับมือกับ T-mall พร้อมเชิญ Viya ห้องไลฟ์สดและนักไลฟ์สดอีกมากมายมาร่วมไลฟ์ขายบะหมี่ฉงชิ่งและสินค้าจากเกษตรกรในราคาพิเศษ เพื่อเป็นการเพิ่มยอดจำหน่ายให้กับเกษตรกร โดยในห้องไลฟ์ของ Viya สามารถจำหน่ายบะหมี่ฉงชิ่งหมด 60,000 ชิ้น ภายในเวลาเพียง 10 นาที ในการผลักดันสินค้าเกษตรของฉงชิ่งและบะหมี่ฉงชิ่ง ให้เป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคทั่วประเทศ”

ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ธุรกิจต่าง ๆ กำลังอยู่ในช่วงขาลง แต่ธุรกิจ E-Commerce กลับเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้คนนิยมซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์มากขึ้น ผู้ประกอบการไทยที่สนใจส่งออกสินค้าไปจีน ควรใช้ช่องทางการขายที่ตอบโจทย์ตลาดจีน โดยอาจพิจารณาใช้ช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (Cross Border E-commerce) เปิดร้านออนไลน์ในแพลตฟอร์ม E-Commerce อาทิ Taobao T-mall, JD และ Pinduoduo ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการนำสินค้าเข้าสู่ตลาดจีนได้โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง

 

แหล่งที่มา : เว็บไซต์ทางการของ Xinhuanet (ฉบับวันที่ 1 เมษายน 2564)
http://www.cq.xinhuanet.com/2021-04/01/c_1127284389.htm

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/