สนามบินอู่หลงนครฉงชิ่งเตรียมเปิดบิน 28 มีนาคม 2564

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564 สนามบินเซียนหนี่ซาน เขตอู่หลง นครฉงชิ่ง เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2564 สนามบินฯ จะเปิดให้บริการเที่ยวบิน 4 เส้นทาง ได้แก่ (1) จี่หนาน-อู่หลง-เฉิงตู (2) ปักกิ่ง(สนามบินต้าซิ่ง)-อู่หลง-ฝอซาน (3) เซี่ยงไฮ้ (สนามบินผูตง)-อู่หลง-เฉิงตู (4) หางโจว-อู่หลง-เฉิงตู เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย ชาวจีน และชาวต่างชาติ ให้เดินทางสู่เขตอู่หลง แหล่งรวมสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามของนครฉงชิ่ง ได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ปัจจุบัน สายการบินต่าง ๆ ได้เริ่มเปิดขายบัตรโดยสารเครื่องบินแล้ว โดยในช่วงแรกจะมีการจัดโปรโมชั่นลดราคาบัตรโดยสารเครื่องบินด้วย

สนามบินเซียนหนี่ซาน เขตอู่หลง ตั้งอยู่ใกล้สถานที่ท่องเที่ยวระดับ 5A อย่างภูเขานางฟ้า หรือที่ภาษาจีนเรียกว่า เซียนหนี่ซาน และอยู่ไม่ไกลจากสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง อาทิ อุทยานแห่งชาติหลุมฟ้า 3 สะพานสวรรค์ น้ำตกบุปผาสวรรค์ ถ้ำดอกไม้ฝูหยง ฯลฯ เป็นสนามบินระดับ 4C รันเวย์ยาว 2,800 เมตร กว้าง 45 เมตร รองรับเครื่องบินโบอิ้ง B737 แอร์บัส A320 และเครื่องบิน C919 ที่ผลิตในประเทศจีน รองรับปริมาณผู้โดยสารได้ 600,000 คนต่อปี ขนส่งสินค้าและจดหมายได้ 1,500 ตันต่อปี รองรับการบินได้ 6,360 ครั้งต่อปี

ปัจจุบันนครฉงชิ่งมีสนามบินพาณิชย์ 4 แห่ง ได้แก่ (1) สนามบินนานาชาติเจียงเป่ย (2) สนามบินนานาชาติว่านโจว (3) สนามบินเฉียนเจียง และ (4) สนามบินวูซาน การเปิดตัวของสนามบินอู่หลง สนามบินพาณิชย์แห่งที่ 5 ของมหานครฉงชิ่งจะช่วยยกระดับการคมนาคม โดยเฉพาะในนครฉงชิ่งและนครเฉิงตู สนับสนุนให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของนครฉงชิ่งให้ก้าวเข้าสู่ระดับสากลต่อไป

จากการที่ประเทศจีนเริ่มใช้นโยบาย“วัคซีนพาสปอร์ต”และอำนวยความสะดวกเรื่องวีซ่าให้กับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนของจีน เป็นสัญญาณที่ดีว่า จีนกำลังเปิดประเทศอย่างช้า ๆ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีสายการบินบินตรงจากกรุงเทพฯ – อู่หลง โดยผู้โดยสารต้องต่อเครื่องที่นครเฉิงตู ทั้งนี้ คาดว่า เขตอู่หลง จะกลายเป็นศูนย์รวมสถานที่ท่องเที่ยวระดับ 5A และจุดหมายปลายทางสำคัญสำหรับการเดินทางระหว่างประเทศของคนไทย เฉกเช่นเมืองท่องเที่ยว “จางเจียเจี้ย”และ “กุ้ยหลิน”

ในมุมมองของชาวจีน ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่คุ้มค่าแก่การท่องเที่ยว เนื่องจากใกล้และค่าใช้จ่ายไม่สูงมากนัก การเปิดตัวของสนามบินอู่หลงจึงอาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวฉงชิ่งเดินทางไปประเทศไทยได้มากขึ้น จึงอาจเป็นโอกาสดีสำหรับสายการบินของไทย ที่จะพิจารณาเปิดเส้นทางบินกรุงเทพฯ–นครเฉิงตู และกรุงเทพฯ–นครฉงชิ่ง เพื่อรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่จะไปท่องเที่ยวในประเทศไทย ภายหลังสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลาย

 

แหล่งที่มา : เว็บไซต์ทางการของ Xinhuanet (ฉบับวันที่ 18 มีนาคม 2564)
http://www.cq.xinhuanet.com/2021-03/18/c_1127224967.htm

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]