ถึงแม้ในปัจจุบันภาคเกษตรกรรมมิใช่อุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเซี่ยงไฮ้ (มีสัดส่วนใน GDP ไม่ถึงร้อยละ 0.3) โดยมีพื้นที่การเกษตรที่สำคัญบนเขตฉงหมิงซึ่งเป็นเกาะกลางแม่น้ำแยงซีทางตอนเหนือของเซี่ยงไฮ้ แต่ในฐานะที่เซี่ยงไฮ้เป็นมหานครที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีระดับสูง จึงได้มุ่งเน้นการพัฒนาเกษตรกรรมสมัยใหม่เป็นสำคัญ โดยเมื่อเดือน พ.ย. 2562 เกาะฉงหมิงของเซี่ยงไฮ้เป็นพื้นที่แรกของจีนที่ทดลองใช้งานเครื่องจักรการเกษตรระบบ 5G และล่าสุดเซี่ยงไฮ้ได้ประกาศแผนงานการพัฒนาภาคเกษตรกรรมระยะ 5 ปี (ค.ศ. 2021 – 2025) โดยตั้งเป้าหมายจะผลักดัน “เกษตรกรรมอัจฉริยะ” เพื่อเพิ่มผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ
ประโยชน์ในการพัฒนา “ฟาร์มไร้คนขับเคลื่อน”
ที่ผ่านมา เซี่ยงไฮ้ได้ทดลองดำเนินงานด้านเกษตรกรรมอัจฉริยะต่อเนื่อง โดยล่าสุดเมื่อเดือน พ.ย. 2563 เขตเจียติ้งเป็นพื้นที่แรกของเซี่ยงไฮ้ที่ดำเนินโครงการ “ฟาร์มไร้คนขับเคลื่อน” ด้วยการทดลองใช้เครื่องจักรไร้คนขับเคลื่อนในแปลงนาปลูกข้าวบนพื้นที่ 200 หมู่ (83.33 ไร่) ซึ่งการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้งานมีข้อได้เปรียบกว่าการกสิกรรมแบบดั้งเดิมหลายประการเมื่อเทียบกันระหว่างพื้นที่ 1 หมู่ (0.416 ไร่) ได้แก่ ประหยัดเมล็ดพันธุ์ได้มากกว่า 2 กก. ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นกว่า 10 กก. ลดต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้มากกว่าร้อยละ 50 ขึ้นไป ลดต้นทุนแรงงานคนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 65 และเพิ่มอัตราการใช้ที่ดินจากร้อยละ 0.5 เป็นร้อยละ 1.0
นอกจากนี้ ระบบเกษตรกรรมอัจฉริยะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้ดีกว่าแรงงานคนและอำนวยความสะดวกในการจัดการบริหารที่เกี่ยวข้อง ทั้งในแง่การทำงานได้ตลอด 24 ชม. หรือการเก็บข้อมูลสถิติเชิงปริมาณและคุณภาพที่แม่นยำ เป็นต้น
เป้าหมายการพัฒนาปี 2564 – 2568
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการต่อยอดการพัฒนาเกษตรกรรมอัจฉริยะอย่างยั่งยืนและเร่งผลักดันภาคการเกษตรให้มีคุณภาพสูงขึ้น รัฐบาลเซี่ยงไฮ้จึงได้ประกาศแผนงานการพัฒนาภาคเกษตรกรรมระยะ 5 ปี โดยมีประเด็นสำคัญ ได้แก่
(1) การพัฒนาฐานการผลิตเกษตรกรรมอัจฉริยะ ด้วยการสร้างฟาร์มไร้ขับขับเคลื่อน 100,000 หมู่ (41,666 ไร่)
(2) บ่มเพาะบุคลากรด้านการเกษตร ได้แก่ บุคลากรส่วนงานบริการและบริหารจัดการ 500 คน (วุฒิการศึกษาระดับอนุปริญญาขึ้นไปมีสัดส่วนถึงร้อยละ 70 ของจำนวนทั้งหมด) และเกษตรกรมืออาชีพ 25,000 คน
(3) บ่มเพาะธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพการแข่งขันและมีรายได้ต่อปี 100 ล้านหยวนขึ้นไปจำนวน 100 ราย บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีเกษตรกรรมสมัยใหม่ 50 ราย และบ่มเพาะฟาร์มครอบครัวต้นแบบ/ สหกรณ์ต้นแบบ 300 แห่ง
(4) สร้างพื้นที่ต้นแบบเกษตรกรรมสมัยใหม่ 13 แห่งโดยใช้จุดเด่นเดิมของท้องที่นั้น ๆ อาทิ พื้นที่เพาะปลูกผักสดในเขตผู่ตง พื้นที่ปศุสัตว์บนเกาะฉงหมิง และพื้นที่ปลูกข้าวในเขตซงเจียง เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า แม้เซี่ยงไฮ้จะได้ขึ้นชื่อว่าเป็นมหานครทันสมัยที่เน้นเรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และดิจิทัล แต่ก็ไม่ได้ทิ้งภาคเกษตรกรรม ทั้งยังสามารถนำจุดแข็งของตนเองมาเสริมสร้างให้แก่ภาคส่วนอื่นได้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิตการเกษตรของเซี่ยงไฮ้แล้ว ซึ่งหากสำเร็จก็น่าจะได้รับการนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศต่อไป
******************************
จัดทำโดย นายโอภาส เหลืองดาวเรือง (ศูนย์ BIC เซี่ยงไฮ้)
ข้อมูลอ้างอิง
1. www.shine.cn หัวข้อ Unmanned farms the focus of next 5 years (12 ม.ค. 2564)
2. https://baijiahao.baidu.com หัวข้อ 上海将打造十万亩粮食生产无人农场、数字化无人农场产业片区 (12 ม.ค. 2564)