ปี 2563 การค้าต่างประเทศของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงยังเติบโตได้ดี แม้จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดย “ประเทศไทย” เป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 3 ของกว่างซี รองจากประเทศเวียดนาม และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง
ตามข้อมูลของสำนักงานศุลกากรหนานหนิง (ดูแลทั้งเขตฯ กว่างซีจ้วง) พบว่า ปี 2563 เขตฯ กว่างซีจ้วงมีมูลค่าการค้าต่างประเทศรวม 486,130 ล้านหยวน ขยายตัว 3.5% (YoY) ซึ่งสูงกว่าอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของทั้งประเทศอยู่ร้อยละ 1.6 จุด แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออกไปต่างประเทศ 270,820 ล้านหยวน (+4.3%) และมูลค่าการนำเข้าจากต่างประเทศ 215,310 ล้านหยวน (+2.6%) โดยกว่างซีเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 55,510 ล้านหยวน (+11.2%)
สถานการณ์การค้าต่างประเทศของกว่างซีในปี 2563 ที่สำคัญดังนี้
- แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย มูลค่าการค้าต่างประเทศของกว่างซีกลับสร้างสถิติสูงสุดครั้งใหม่ โดยสถานการณ์การค้าต่างประเทศเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวในแดนบวกตั้งแต่ไตรมาส 3/2563 ที่ 5.7% และไตรมาส 4/2563 ที่ 16.6% (ไตรมาสแรก ติดลบ 9.3% และไตรมาสที่สอง ติดลบ 1%)
- การค้าชายแดนของกว่างซีมีมูลค่าสูงที่สุดในประเทศจีนที่ 140,860 ล้านหยวน ลดลง 5.2% คิดเป็นสัดส่วน 28.97% ของมูลค่ารวมการค้าต่างประเทศ แบ่งเป็น (1) การค้ามูลค่าต่ำตามแนวชายแดน 112,560 ล้านหยวน (+3.2%) คิดเป็นสัดส่วน 23.2% ของมูลค่ารวม และ (2) การค้าผ่านจุดผ่อนปรนตลาดการค้าสำหรับชาวชายแดน 28,300 ล้านหยวน (-28.4%) คิดเป็นสัดส่วน 5.8% ของมูลค่ารวม ซึ่งการดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพของกว่างซีกับเวียดนาม ช่วยให้การค้าผ่านจุดผ่อนปรนตลาดการค้าสำหรับชาวชายแดนเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563
- กว่างซีเริ่มมีบทบาทสำคัญในระบบการค้าแปรรูป สะท้อนจากแนวโน้มการขยายตัวของการค้าแปรรูปเพื่อการส่งออกมีมูลค่า 93,900 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 15.6% คิดเป็นสัดส่วน 19.3% ของมูลค่ารวมการค้าต่างประเทศ และการค้าผ่านเขตอารักขาศุลกากร (สินค้าทัณฑ์บน) มีมูลค่า 98,180 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 36.3% คิดเป็นสัดส่วน 20.2% ของมูลค่ารวม ขณะที่การค้าสากลมีมูลค่า 152,270 ล้านหยวน (-8.1%) คิดเป็นสัดส่วน 31.32% ของมูลค่ารวม
- “อาเซียน” เป็นคู่ค้าหลักของกว่างซีติดต่อกันเป็นปีที่ 21 มีมูลค่ารวม 237,570 ล้านหยวน (+1.7%) คิดเป็นสัดส่วน 48.87% ของมูลค่ารวม แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออกไปอาเซียน 153,382 ล้านหยวน (+9.33%) และมูลค่าการนำเข้าจากอาเซียน 84,188 ล้านหยวน (-9.77%) โดยกว่างซีเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าอาเซียนรวม 92,545 ล้านหยวน
- ในรายประเทศ “เวียดนาม” ซึ่งมีพรมแดนติดกัน ยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกว่างซี มีมูลค่าการค้ารวม 176,239 ล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วน 36.25% ของมูลค่ารวมการค้าต่างประเทศ โดยกว่างซีเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าเวียดนาม 92,545 ล้านหยวน ทั้งนี้ พบว่า สัดส่วนการค้าของเวียดนามต่อมูลค่ารวมมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
- ในฐานะคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 3 ของกว่างซี การค้ากับ “ประเทศไทย” มีมูลค่ารวม 38,038 ล้านหยวน (+19.32%) คิดเป็นสัดส่วน 7.82% ของมูลค่ารวมการค้าต่างประเทศ แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออกไปไทย 4,666 ล้านหยวน (+46.87%) และมูลค่าการนำเข้าจากไทย 33,371 ล้านหยวน (+16.27%) โดยประเทศไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ากว่างซี 28,705 ล้านหยวน ทั้งนี้ พบว่า สัดส่วนการค้าของไทยต่อมูลค่ารวมมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2561 มีสัดส่วน 2.2% และปี 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 6.79% และประเทศไทยนั่งเก้าอี้คู่ค้ารายใหญ่อันดับ 3 ของกว่างซีได้ 2 ปีติดต่อกัน โดยในปี 2561 อยู่อันดับ 8 และปี 2562 ก้าวขึ้นมาอยู่อันดับ 3
- เขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้ ประกอบด้วยนครหนานหนิง เมืองชินโจว เมืองฝางเฉิงก่าง เมืองเป๋ยไห่ เมืองฉงจั่ว และเมืองยวี่หลิน ยังเป็นหัวใจหลักของการค้าต่างประเทศกว่างซี มีมูลค่าการค้ารวม 405,509 ล้านหยวน (+1.8%) คิดเป็นสัดส่วน 83.41% ของทั้งมณฑล ในรายเมือง เมืองฉงจั่ว ซึ่งเป็นเมืองการค้าชายแดนที่สำคัญของกว่างซี มีมูลค่าการค้าต่างประเทศสูงสุดที่ 184,320 ล้านหยวน (-2.7%) คิดเป็นสัดส่วน 37.92% ของมูลค่ารวมการค้าต่างประเทศ ตามด้วยนครหนานหนิง มีมูลค่า 98,600 ล้านหยวน (+31.8%) และเมืองฝางเฉิงก่าง มีมูลค่า 70,960 ล้านหยวน (-11.8%) ขณะที่หัวเมืองเศรษฐกิจอื่นๆ ก็สามารถรักษาระดับการเติบโตภาคการค้าต่างประเทศได้ดีเช่นกัน
- สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ มูลค่าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 147,600 ล้านหยวน (+13.3%) โดยเฉพาะอุปกรณ์ประมวลผลข้อมูลแบบอัตโนมัติ 28,450 ล้านหยวน (+25.1%) เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน (+201%) อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ (+114.4%) ขณะที่สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมีมูลค่า 37,050 ล้านหยวน (+5.6%)
- สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ มูลค่าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 81,890 ล้านหยวน (+18.2%) แร่โลหะและสินค้า 50,970 ล้านหยวน (+15%) แบ่งเป็นสินแร่ทองแดง 21,410 ล้านหยวน (+8.3%) และสินแร่เหล็ก 20,280 ล้านหยวน (+29.7%) ขณะที่สินค้าเกษตรมีมูลค่า 365,500 ล้านหยวน (+19.1%) แบ่งเป็นถั่วเหลือง (+14.3%) และผลไม้ (+2.2%)
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ http://nanning.customs.gov.cn (南宁海关) วันที่ 27 มกราคม 2564
ภาพข่าว www.sohu.com