• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • อำเภอสือซือ เมืองเฉวียนโจวก่อสร้างเขตสินค้าทัณฑ์บนแห่งแรกที่ท่าเรือสือหู อำเภอสือซือ

อำเภอสือซือ เมืองเฉวียนโจวก่อสร้างเขตสินค้าทัณฑ์บนแห่งแรกที่ท่าเรือสือหู อำเภอสือซือ

โดยศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

 

อำเภอสือซือ เมืองเฉวียนโจว อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างเขตสินค้าทัณฑ์บนแห่งแรกบนพื้นที่กว่า 107 ไร่ ที่ท่าเรือสือหู อำเภอสือซือ ด้วยเงินทุน 727 ล้านหยวน การก่อสร้างเขตสินค้าทัณฑ์บนท่าเรือสือหูแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 บนพื้นที่กว่า 65 ไร่ ประกอบด้วย 5 อาคารหลัก ได้แก่ คลังสินค้าโลจิสติกส์ทัณฑ์บนหมายเลข 1 คลังสินค้าโลจิสติกส์อีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนหมายเลข 2 คลังอุตสาหกรรมวัฒนธรรมหมายเลข 3 คลังสินค้าห่วงโซ่ความเย็นทัณฑ์บนหมายเลข 4 และคลังสินค้าโลจิสติกส์ทัณฑ์บนหมายเลข 5 และระยะที่ 2 บนพื้นที่ 42 ไร่ ประกอบด้วย 4 อาคารหลัก ได้แก่ คลังสินค้าโลจิสติกส์ระบบอัตโนมัติหมายเลข 6 คลังสินค้าโลจิสติกส์ระบบอัตโนมัติหมายเลข 7 คลังสินค้าโลจิสติกส์ทัณฑ์บนหมายเลข 8 และ 9

คลังสินค้าในเขตสินค้าทัณฑ์บนท่าเรือสือหูมีศักยภาพรองรับการจัดเก็บและการขนส่งสินค้าประมาณ 2 ล้านตันต่อปี และคาดว่าจะช่วยสร้างมูลค่าการผลิตในอุตสาหกรรมหลักของอำเภอสือซือได้มากกว่า 1 แสนล้านหยวนต่อปี ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ รองเท้า วัสดุก่อสร้างบ้าน อาหารและเครื่องดื่ม ศิลปะและงานฝีมือ เป็นต้น ปัจจุบันมีวิสาหกิจกว่า 100 แห่งที่ลงนามสัญญาเพื่อเข้ามาก่อตั้งสำนักงาน/คลังสินค้า ณ เขตสินค้าทัณฑ์บนแห่งแรกที่ท่าเรือสือหูดังกล่าวแล้ว

เขตสินค้าทัณฑ์บนแห่งแรกที่ท่าเรือสือหู อำเภอสือซือ เมืองเฉวียนโจว

โอกาสของไทย เขตสินค้าทัณฑ์บนในบริเวณท่าเรือเมืองสือหู อำเภอสือซือ จะเอื้อประโยชน์ในการส่งออกสินค้าไทยมาจีนโดยเฉพาะกลุ่มผลไม้และอาหารแช่แข็ง โดยท่าเรือสือหูจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้ามายังมณฑลฝูเจี้ยนเพื่อกระจายไปยังมณฑลตอนในของจีนนอกเหนือจากท่าเรือเซี่ยเหมิน โดยในปี 2562 ท่าเรือสือหู อำเภอสือซือได้เปิดเส้นทางการขนส่งสินค้าทางทะเลในนาม “เส้นทางสายไหมทางทะเล” ใหม่ 6 เส้นทางจากอำเภอสือซือผ่าน/ตรงไปยัง 4 ประเทศ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เวียดนาม และไทย และปัจจุบันมีการเดินเรือขนส่งสินค้าจากอำเภอสือซือไปไทยผ่านเวียดนาม 1 เที่ยวต่อสัปดาห์

ทั้งนี้ เมืองสือซือยังมีโครงการสำคัญที่รัฐบาลท้องถิ่นส่งเสริมและผลักดัน คือ ศูนย์จัดซื้อสินค้าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำเมืองสือซือ (Southeast Asia Procurement Center) ซึ่งจะช่วยต่อยอดศักยภาพของท่าเรือสือหูและสร้างความสมบูรณ์ในห่วงโซ่อุปทานของอำเภอสือซือ ปัจจุบันศูนย์ดังกล่าวเปิดดำเนินการแล้ว โดยเป็นที่รวบรวมสินค้าประเภทของใช้ในชีวิตประจำวันและของตกแต่งบ้าน รวมถึงอาหารจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น หมอนยางพาราจากไทย เพื่อจัดจำหน่ายให้แก่ผู้จัดซื้อรายย่อยของจีน ขณะเดียวกันได้รวบรวมสินค้าที่โดดเด่นของจีนโดยเฉพาะของมณฑลฝูเจี้ยนเพื่อกระจายเป็นสินค้าส่งออกให้แก่ผู้จัดซื้อรายย่อยจากต่างประเทศ

แหล่งอ้างอิง http://www.chinanews.com/cj/2020/01-22/9067017.shtml

https://xw.qq.com/cmsid/20200730A018M000

https://baijiahao.baidu.com/s?id=1656028219945077913

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]