ไฮไลท์

  • “อาเซียน” ยังเป็น Keyword ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 14 (ระหว่างปี 2564-2568) ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง โดยรัฐบาลมณฑลได้กำหนดทิศทางในการ มุ่งยกระดับความร่วมมือกับอาเซียนอย่างรอบด้าน
  • การเปิดกว้างสู่ภายนอกกับอาเซียนของกว่างซี ได้รับการกล่าวถึงในมิติเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการขนส่งและโลจิสติกส์ โดยเน้นการพัฒนาความเชื่อมโยงด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานและกระชับความร่วมมือด้านศุลกากรกับอาเซียน และพัฒนาโมเดลการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multi-modal transportation)
  • ความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ของกว่างซีกับอาเซียนเป็นปัจจัยเอื้อต่อการเป็น Gateway to ASEAN และทำให้กว่างซีเป็น “ตลาดศักยภาพ ที่น่าสนใจที่ผู้ประกอบการมีโอกาสแจ้งเกิดได้ง่ายกว่ามณฑลที่มีการแข่งขันสูง กอปรกับความพร้อมทางกายภาพ (โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก) นโยบายส่งเสริมการลงทุนสำหรับต่างชาติ และนโยบายการเงินจีน-อาเซียน หากพิจารณาในแง่ของโอกาส กว่างซีเปรียบเสมือน “เพชรในตม(ของคนกล้าลงทุน)

 

ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 14 (ระหว่างปี 2564-2568) คำว่า มุ่งยกระดับความร่วมมือกับอาเซียนอย่างรอบด้าน เป็นหนึ่งในสาระสำคัญของการประชุมเต็มคณะ ครั้งที่ 9 ของคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ชุดที่ 11 ซึ่งจัดขึ้นที่นครหนานหนิง เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา

นายลู่ ซินเซ่อ (Lu Xinshe/鹿心社) เลขาธิการพรรคฯ ประจำเขตฯ กว่างซีจ้วง กล่าวถึงความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ของกว่างซี ที่ตั้งอยู่ติดทะเลอ่าวเป่ยปู้ (คนไทยรู้จักในชื่ออ่าวตังเกี๋ย) สามารถติดต่อกับอาเซียนได้ทุกมิติ จึงเป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่ใช้เชื่อมต่อระหว่างจีนตอนในกับต่างประเทศ และมีความใกล้ชิดกับพื้นที่ Greater Bay Area – GBA (กวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า) และภาคตะวันออกของจีน นอกจากนี้ กว่างซียิ่งทวีบทบาทการเป็น Gateway to ASEAN หลังการลงนามกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)

คำว่า เปิดกว้างสู่ภายนอก(Opening up) เป็นอีกหนึ่งคำสำคัญที่รัฐบาลกว่างซีใช้เป็นแนวทางในการยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของมณฑลอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ “ระเบียงการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก” (New Western Land and Sea Corridor – NWLSC/西部陆海新通道) ด้วยรถไฟที่สามารถวิ่งเข้าไปถึงในท่าเทียบเรือ ยุทธศาสตร์ “เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี)” รวมถึงแพลตฟอร์มความร่วมมือสำคัญอย่างงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน (China-ASEAN Expo) และศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศจีน-อาเซียน (China-ASEAN Information Harbor – CAIH)

คำว่า งานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multi-modal transportation) เป็นคำสำคัญในยุทธศาสตร์ “ระเบียงการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก” โดยรัฐบาลกว่างซีพร้อมดำเนินการใน 4 ด้าน คือ (1) การพัฒนาศักยภาพรองรับงานขนส่งและการบริการของท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ (2) การพัฒนาช่องทางการขนส่งให้มีขีดความสามารถทางการแข่งขันมากยิ่งขึ้น (3) การยกระดับประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ให้สูงยิ่งขึ้น และ (4) การพัฒนางานขนส่งและโลจิสติกส์กับธุรกิจอุตสาหกรรมให้เจริญเติบโตไปพร้อมกัน นอกจากนี้ กว่างซีจะพัฒนาความเชื่อมโยงด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานและกระชับความร่วมมือด้านศุลกากรกับอาเซียน และพัฒนาโมเดลงานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบจีน-อาเซียน

การเปิดกว้างสู่ภายนอกของกว่างซี ยังเชื่อมโยงกับคำว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนแบบคู่ขนาน (dual circulation) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ใหม่จากส่วนกลางที่มุ่งสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศ(เป็นหลัก) ควบคู่กับนอกประเทศในลักษณะเกื้อกูลกัน โดยในส่วนของ external circulation รัฐบาลกว่างซีจะผลักดันความคืบหน้าในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ข้ามแดนจีน-อาเซียน พัฒนาแพลตฟอร์มในการส่งเสริมและให้บริการด้านการลงทุนสำหรับนักลงทุนต่างชาติแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว พัฒนาเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจชายแดน พัฒนาห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่อุตสาหกรรมข้ามแดน รวมถึงพัฒนาโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าในระดับทวิภาคกับต่างประเทศ

ความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ของกว่างซีกับอาเซียนเป็นปัจจัยเอื้อต่อการเป็น Gateway to ASEAN ของกว่างซีและทำให้กว่างซีเป็น “ตลาดศักยภาพ ที่น่าสนใจ เนื่องจากยังมีผู้ประกอบการไม่มาก ทำให้มีโอกาสแจ้งเกิดได้ง่ายกว่ามณฑลที่มีการแข่งขันสูง นอกจากนี้ กว่างซียังมีความพร้อมทางกายภาพ (โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก) นโยบายส่งเสริมการลงทุนสำหรับต่างชาติ และนโยบายการเงินจีน-อาเซียน ดังนั้น หากมองในแง่ของ “โอกาส” กล่าวได้ว่า เขตฯ กว่างซีจ้วงเปรียบเสมือน “เพชรในตม(ของคนกล้าลงทุน)

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา  เว็บไซต์
www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 10 ธันวาคม 2563

ที่มา : https://thaibizchina.com/