ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมณฑลกานซูให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตและการรักษาโรคด้วยเทคโนโลยี “Heavy Ion Therapy” ซึ่งเป็นหนึ่งในการผลักดันมณฑลกานซูสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์บ่มเพาะเทคโนโลยีนวัตกรรมระดับประเทศ เพื่อกระตุ้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคตะวันตกของจีน จนมีวิสาหกิจสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการแพทย์ ทยอยเข้าลงทุนแล้วไม่ต่ำกว่า 40 ราย

ปัจจุบัน มณฑลกานซูมีสายการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์รวมไปถึงเครื่องฉายรังสีด้วยเทคโนโลยี “Heavy Ion Therapy” เป็นของตนเอง ณ เมืองอู่เวย สร้างรายได้ในปี 2561 ไปกว่า 60,000 ล้านหยวน นอกจากนี้ ในปี 2562 รัฐบาลมณฑลกานซูยังได้อนุมัติโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลเฉพาะทาง “Lanzhou Heavy Ion Hospital” ตั้งอยู่ที่ นครหลานโจว ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (Chinese Academy of Sciences: CAS) ในการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็งและเนื้องอกชนิดต่าง ๆ ด้วยงบประมาณกว่า 2,800 ล้านหยวน ซึ่งเริ่มเปิดให้บริการไปแล้วตั้งแต่เดือน พ.ค. ที่ผ่านมา

ผลจากการสนับสนุนของภาครัฐ ทำให้ได้รับการตอบรับจากบรรดาวิสาหกิจเป็นอย่างมาก ข้อมูลจาก สนง. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมณฑลกานซูระบุว่า ปัจจุบัน มณฑลกานซูผลิตเครื่องฉายรังสีด้วยเทคโนโลยี “Heavy Ion Therapy” ส่งจำหน่ายทั่วประเทศ เครื่องฉายรังสีฯ ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลและมาตรฐานระดับประเทศมากกว่า 97 รายการ ได้รับการยอมรับในประสิทธิภาพการรักษาสูงกว่าเครื่องฉายรังสีทั่วไป 4 เท่า และมีความแม่นยำของการรักษา (ตำแหน่งการฉายรังสี) มากกว่าเครื่องฉายรังสีทั่วไปถึง 10 เท่า นอกจากนี้ โรงพยาบาลเฉพาะทาง “Lanzhou Heavy Ion Hospital” ได้ทำการรักษาผู้ป่วยจากทั่วประเทศแล้วกว่า 2,000 ราย และสามารถควบคุมการแพร่กระจายตัวของเนื้องอกได้กว่าร้อยละ 62 เพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้ร้อยละ 70

ล่าสุด CAS นครหลานโจว เปิดตัวระบบการรักษาโดยเครื่องฉายรังสีด้วยเทคโนโลยี “Heavy Ion Therapy” ระบบดังกล่าวเป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างสถาบันฟิสิกส์สมัยใหม่ซึ่งเป็นหน่วยงายภายใต้ CAS (Institute of Modern Physics, Chinese Academy of Sciences) และ Lanzhou Kejin Taiji New Technology ซึ่งเป็นวิสาหกิจท้องถิ่นที่วิจัยและผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ประเภทรังสีพลังงานสูงมานานกว่า 18 ปี ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมการผลิตที่อาศัยเทคโนโลยีระดับสูงในพื้นที่ให้ก้าวสู่ความเป็นสากล เพราะจีนเริ่มการพัฒนาเทคโนโลยีในกลุ่มรังสีทางการแพทย์ช้ากว่าต่างประเทศถึง 20 ปี ระบบนี้จะสามารถลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศและสามารถนำมาปรับใช้กับเครื่องมือทางการแพทย์ที่ผลิตในจีนได้อย่างเสรี

ระบบฯ สามารถทำการรักษาเฉพาะจุดแบบ 4 ทิศทาง เป็นประโยชน์สำหรับการรักษาเนื้องอกในส่วนต่าง ๆ ของผู้ป่วยที่มีความต้องการปริมาณรังสีในการรักษาที่แตกต่างกัน ให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุด ปัจจุบัน CAS ยังได้ทำการจดสิทธิบัตรระบบข้างต้นในนามของโรงพยาบาลเฉพาะทาง “Lanzhou Heavy Ion Hospital” แล้ว และเพิ่มการลงทุนในเทคโนโลยีข้างต้นมูลค่า 800 ล้านหยวน ณ เขตเมืองใหม่หลานโจว เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมทั้งในด้านการผลิตอุปกรณ์การแพทย์และการวิจัยโครงการที่เกี่ยวข้องในอนาคต

ข้อมูลอ้างอิง

  1. http://www.lzbs.com.cn/ttnews/2020-12/11/content_4689164.htm
  2. http://www.gscn.com.cn/gsnews/system/2020/12/11/012510145.shtml

ที่มา : https://thaibizchina.com/