• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • ปฐมฤกษ์ “อันซีโอว” เส้นทางขนส่งสินค้านานาชาติเส้นใหม่ เน้นขยายฐานการส่งออกในเมืองรองของมณฑลส่านซี

ปฐมฤกษ์ “อันซีโอว” เส้นทางขนส่งสินค้านานาชาติเส้นใหม่ เน้นขยายฐานการส่งออกในเมืองรองของมณฑลส่านซี

เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2563 เขตคลังสินค้าทัณฑ์บนเมืองอันคังและท่าเรือบกเมืองอันคัง เปิดตัวเส้นทางการขนส่งสินค้านานาชาติ “อันซีโอว” โดยเป็นการเปิดตัวเส้นทางการขนส่งสินค้านานาชาติในเมืองรองเป็นครั้งแรกของมณฑลส่านซี

การขนส่งสินค้ารอบปฐมฤกษ์นี้ บรรทุกสินค้ากลุ่มเครื่องนุ่งห่มและเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กจำนวน 700 ตัน รวม 43 โบกี้ มูลค่า 36 ล้านหยวนไปยังเยอรมนี โดยยังคงใช้ประโยชน์จากเส้นทางขนส่งสินค้านานาชาติ “ฉางอันห้าว” ของเขตโลจิสติกส์นานาชาตินครซีอานเป็นข้อต่อหลักในการเชื่อมขบวนขนส่งสินค้าฯ ต่อไปยังด่าน Khorgos เขตฯ ซินเจียงอุยกูร์ – เมืองอัลมาตี คาซัคสถาน – กรุงทาชเคนต์ อุซเบกิสถาน ไปสิ้นสุดยังท่าเรือ Mukran ของเยอรมนี ใช้ระยะเวลาการขนส่งถึงภูมิภาคเอเชียกลางและท่าเรือ Mukran ของเยอรมนี เพียง 8 และ 13 วันตามลำดับ

การเปิดให้บริการเส้นทางการขนส่ง “อันซีโอว” ในครั้งนี้ เป็นผลจากการผลักดันศักยภาพการขนส่งและส่งออกสินค้าในเมืองรองของมณฑลส่านซี ที่นับวันเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ประชากรมีกำลังซื้อสูงขึ้น กอปรกับได้รับการพัฒนาศักยภาพในด้านคมนาคมอย่างต่อเนื่อง ทำให้เมืองอันคังมีความพร้อมในการส่งออกสินค้าได้ด้วยตนเอง โดยในระยะแรกยังคงใช้ประโยชน์จากเส้นทางขนส่งสินค้านานาชาติ “ฉางอันห้าว” ของนครซีอาน ซึ่งเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญในการกระจายสินค้าส่งออกของจีนไปยังทวีปยุโรป ด้วยมีจุดเด่นในเรื่องเครือข่ายคลังจัดเก็บสินค้าในต่างประเทศ และการเดินรถที่มีจำนวนมากถึง 16 เส้นทาง ทำให้ “ฉางอันห้าว” ได้เปรียบในการเป็นข้อต่อกระจายสินค้าให้กับเส้นทางขนส่งสินค้าของมณฑลอื่น ๆ รวมไปถึงหัวเมืองรองของมณฑลส่านซีที่ต้องการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศด้วย

ปัจจุบัน “ฉางอันห้าว” มีความร่วมมือกับท่าเรือและเส้นทางขนส่งสินค้าไปยังยุโรปจำนวนไม่น้อย อาทิ (1) เส้นทางขนส่งสินค้านานาชาติ “เสียงซีโอว” ของมณฑลหูเป่ย เน้นขนส่งสินค้าไปยังเมืองดุยส์บูร์ก ของเยอรมนี (2) เส้นทางขนส่งสินค้านานาชาติ “เปิ้งซีโอว” จากเมืองเปิ้งปู มณฑลอันฮุย เน้นขนส่งสินค้าไปยังกลุ่มประเทศเอเชียกลาง และกรุงมินสก์ ของเบลารุส (3) “สวีซีโอว” จากเมืองสวีโจว มณฑลเจียงซู และ (4) “เซี่ยซีโอว” จากเมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน เป็นต้น โดยการขนส่งสินค้าจากเมืองรองของมณฑลส่านซีในครั้งนี้ นอกจากจะช่วยยกระดับการค้าระหว่างประเทศของเมืองอันคังแล้ว ยังเป็นช่องทางการกระจายสินค้านำเข้าจากต่างประเทศไปยังเมืองข้างเคียงได้อีกด้วย

เมืองอันคัง เป็นเมืองขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลส่านซี ล้อมรอบด้วยภูเขาฉินหลิ่งและภูเขาต้าปา อยู่ห่างจากนครซีอานประมาณ 250 กม. (ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์หรือรถไฟประมาณ 4 ชั่วโมง) และอยู่ห่างจากสนามบินนานาชาติซีอานเสียนหยางประมาณ 265 กม. ปัจจุบัน เมืองอันคังมีรถไฟ 3 เส้นทาง และทางหลวง 2 เส้นทาง ในปี 2562 ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของเมืองอันคังมีมูลค่า 118,206 ล้านหยวน อยู่ในลำดับที่ 8 ของมณฑลส่านซี อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงถึงร้อยละ 7.9 และมี GDP Per Capita เฉลี่ยต่อหัวที่ 44,290 หยวน อยู่ในลำดับที่ 7 จากทั้งหมด 11 เมืองของมณฑลส่านซี

เมืองอันคังยังเป็นฐานที่ตั้งของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ (Large Scale Industries) ที่มีศักยภาพหลายประเภท ในปี 2562 อุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีมูลค่า 188,699 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 14.2 โดยรัฐบาลเมืองอันคังได้มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรม 6 กลุ่ม สำคัญ ได้แก่ (1) การผลิตวัสดุใหม่ 61,559 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 10.5 (2) การแปรรูปอาหารที่มีซิลีเนียม 54,431 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 14.5 (3) การผลิตวัสดุอุปกรณ์ 24,171 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 22.1 (4) ยารักษาโรค 7,825 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 17.3 (5) พลังงานสะอาด 5,563 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 11.5 และ (6) ผ้าไหม 6,202 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 2.7 และเน้นส่งเสริมการเป็นฐานการผลิตวัสดุใหม่ (New Material Base) และฐานการแปรรูปทรัพยากรทางชีววิทยา (Biological Resources Process Base) รวมถึงการสร้างศูนย์กลางการคมนาคมและโลจิสติกส์ในภูมิภาคแม่น้ำฮั่นตอนบนและตอนกลางอีกด้วย โดยท่าเรือบกเมืองอันคัง ได้รับอนุมัติให้เปิดใช้งานเมื่อ 27 พ.ค. 2563 ด้วยงบประมาณการลงทุนกว่า 1,398 ล้านหยวน ครอบคลุมพื้นที่ 800 หมู่ (ราว 355.5 ไร่) ให้บริการขนส่งสินค้าครบวงจรด้วยระบบการขนส่งหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation) ปัจจุบัน เริ่มมีวิสาหกิจโลจิสติกส์ขนาดใหญ่ อาทิ Shanghai Port Logistics Group และ China Railway ทยอยลงทุนในพื้นที่บ้างแล้ว และสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทางขนส่งสินค้านานาชาติข้างต้นส่งออกสินค้าไปจำหน่ายยังภูมิภาคเอเชียกลางและทวีปยุโรปได้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ข้อมูลอ้างอิง

  1. http://news.xiancity.cn/system/2020/12/09/030802985.shtml
  2. http://www.ankang.gov.cn/Content-2113713.html

 

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]