กว่างซี : ผู้เล่นตัวสำคัญในการดันเงินหยวนสู่สากล(อาเซียน)

 

ไฮไลท์

  • บทบาทของประเทศจีนบนเวทีเศรษฐกิจโลก เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ “เงินหยวน” กลายเป็นหนึ่งในสกุลเงินหลักของโลก โดยธนาคาร DBS สิงคโปร์ ระบุว่า ปัจจุบัน เงินหยวนติดอันดับ 6 ของสกุลเงินที่ทั่วโลกนิยมใช้ชำระค่าสินค้าและบริการระหว่างประเทศ ขณะที่จีนใช้เงินหยวนเพื่อการชำระบัญชีราว 20% ของการค้าทั้งหมด
  • “เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง” เป็นมณฑลที่มีบทบาทสำคัญในแผนการผลักดันให้สกุลเงิน “หยวน” ก้าวสู่สากลของจีน โดยมุ่งเป้าการพัฒนาเงินหยวนในการค้าและการลงทุนกับประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นหลัก
  • รายงานการใช้เงินหยวนในอาเซียน ประจำปี 2563 ชี้ว่า ปี 2562 ดุลการชำระเงินหยวนข้ามแดนในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนมีแนวโน้มการเติบโตอย่างรวดเร็วและมีสัดส่วนการขยายตัวสูงเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ และเงินหยวนมีแนวโน้มไหลเข้ากลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างต่อเนื่อง
  • ในเชิงนโยบาย “ไทย” เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความร่วมมือด้านการเงินที่ใกล้ชิดกับจีน โดยประเทศไทยได้กำหนดให้เงินหยวนเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ได้ลงนามในความตก SWAP เงินบาทกับเงินหยวน ได้จัดให้มีการชำระดุลเงินหยวนระหว่างธนาคารสองประเทศ และได้ขนย้ายเงินสดระหว่างประเทศโดยตรงผ่านสายการบิน
  • ความสำคัญของเศรษฐกิจจีนที่มีต่ออาเซียนและประเทศไทย และความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการเงินโลก การใช้เงินหยวนจึงเป็นทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจการค้าและการลงทุนกับจีน เนื่องจากช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและไม่มีต้นทุน (กำไรขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน) เพิ่มอำนาจการต่อรองกับคู่ค้าจีน และเป็นการกระจายความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนจากสกุลเงินเดียว ซึ่งปัจจุบัน ธนาคารไทยหลายแห่งมีให้บริการแล้ว

 

บทบาทของประเทศจีนบนเวทีเศรษฐกิจโลก เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ “เงินหยวน” กลายเป็นหนึ่งในสกุลเงินหลักของโลก โดยจีนได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานไว้ 3 ระยะ ได้แก่ ระยะแรกเป็นการผลักดันการใช้เงินหยวนในการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งจีนขยับเข้าใกล้เป้าหมายมากขึ้นทุกขณะ ข้อมูลจากธนาคาร DBS สิงคโปร์ ระบุว่า ปัจจุบัน เงินหยวนติดอันดับ 6 ของสกุลเงินที่ทั่วโลกนิยมใช้ในการชำระค่าสินค้าและบริการระหว่างประเทศ ขณะที่จีนใช้เงินหยวนเพื่อการชำระบัญชีราว 20% ของการค้าทั้งหมด

อย่างไรก็ดี แผนงาน 3 ระยะ เพื่อผลักดันให้สกุลเงิน “หยวน” ก้าวสู่สากล (RMB Internationalization) ไม่ได้แยกดำเนินการ ในระหว่างที่กำลังผลักดันการใช้เงินหยวนในการค้าระหว่างประเทศในระยะแรก ประเทศจีนก็กำลังผลักดันให้เงินหยวนมีบทบาทเพิ่มขึ้นในตลาดทุนระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการระดมทุนและการลงทุน ซึ่งอยู่ในแผนงานระยะที่สอง รวมทั้งการผลักดันให้ประเทศต่างๆ ถือครองเงินหยวนเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากขึ้นในแผนงานระยะที่สามด้วย

ในแผนการผลักดันการใช้เงินหยวนในการค้าระหว่างประเทศ “เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง” เป็นมณฑลที่มีบทบาทสำคัญ โดยมุ่งเป้าการพัฒนาเงินหยวนในการค้าและการลงทุนกับประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นหลัก ซึ่งล้อตามยุทธศาสตร์การเป็น Gateway to ASEAN ที่รัฐบาลกลางได้มอบให้กับกว่างซี ในทางกลับกัน กล่าวได้ว่า “อาเซียน” มีความสำคัญต่อจีนในการผลักดันให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินสากลเช่นกัน ซึ่ง “หยวน” ก็ได้รับการยอมรับแพร่หลายในอาเซียน

      เส้นทางของการพัฒนาธุรกรรมเงินหยวนข้ามแดนในเขตฯ กว่างซีจ้วง มีดังนี้

  • เดือนกรกฎาคม 2556 ธนาคาร PBOC หนานหนิง (สำนักงานสาขาของแบงค์ชาติที่ดูแลทั้งกว่างซี) ประกาศใช้ “ระเบียบบริหารจัดการธุรกรรมการชำระบัญชีการค้าระหว่างประเทศที่เป็นบัญชีส่วนบุคคลในพื้นที่ชายแดนของเขตฯ กว่างซีจ้วง” โดยกำหนดให้ “เขตทดลองการพัฒนาและเปิดสู่ภายนอกเมืองตงซิง” เป็นพื้นที่นำร่องนโยบายดังกล่าว (เงินหยวนกับเงินดองของเวียดนาม)
  • เดือนพฤศจิกายน 2556 รัฐบาลกลางได้อนุมัติให้เขตฯ กว่างซีจ้วงและมณฑลยูนนานเป็น “เขตนำร่องการปฏิรูปการเงินตามแนวชายแดน” (Cross-border Financial Reform Pilot Zone/沿边金融改革试验区)
  • เดือนเมษายน 2557 ธนาคาร PBOC หนานหนิง ประกาศใช้ “ระเบียบบริหารจัดการธุรกรรมการชำระบัญชีการค้าระหว่างประเทศที่เป็นบัญชีส่วนบุคคลในเขตนำร่องการปฏิรูปการเงินตามแนวชายแดนของเขตฯ กว่างซีจ้วง” ซึ่งประกอบด้วยนครหนานหนิง เมืองชินโจว เมืองเป๋ยไห่ เมืองฝางเฉิงก่าง เมืองไป่เซ่อ และเมืองฉงจั่ว ซึ่งครอบคลุมถึงธุรกิจการชำระบัญชีการค้าออนไลน์ต่างประเทศ และมีการลดขั้นตอนการชำระบัญชีให้มีความสะดวกมากขึ้น
  • เดือนพฤศจิกายน 2557 ธนาคาร PBOC เห็นชอบอนุมัติให้กว่างซีเป็นจุดทดลองธุรกรรมสินเชื่อสกุลเงินหยวนข้ามแดน (Cross-border RMB Lending Pilot Zone/跨境人民币贷款试点) โดยอนุญาตให้วิสาหกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งกิจการ รวมทั้งมีการประกอบกิจการหรือลงทุนจริงในพื้นที่นำร่อง สามารถขอสินเชื่อสกุลเงินหยวนจากธนาคารที่ตั้งอยู่ในประเทศสมาชิกอาเซียนและเอเชียใต้ได้ตามข้อกำหนด

ปี 2562 เขตฯ กว่างซีจ้วงมีมูลค่าการชำระบัญชีข้ามแดนด้วยเงินหยวน 1.57 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้น 20.5% (YoY) นับตั้งแต่ปี 2553 ที่รัฐบาลกลางมอบนโยบายให้กว่างซีเป็นจุดทดลองการชำระบัญชีข้ามแดนด้วยสกุลเงินหยวน มูลค่าการชำระบัญชีของกว่างซีนำเป็นอันดับ 1 ใน 12 มณฑลภาคตะวันตกและ 9 มณฑลที่มีพรมแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน และตั้งแต่ปี 2554 ถึงเดือนกรกฎาคม 2563 กว่างซีมีมูลค่าการชำระบัญชีข้ามแดนด้วยเงินหยวนรวม 1.2 ล้านล้านหยวน ซึ่งมากเป็นอันดับ 10 ของประเทศ และเป็นอันดับ 1 ใน 12 มณฑลภาคตะวันตกและ 9 มณฑลที่มีพรมแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน

เมื่อไม่นานมานี้ สมาคมการเงินและการธนาคารกว่างซี (Guangxi Society for Finance and Banking/广西金融学会) ได้จัดทำรายงานการใช้เงินหยวนในอาเซียน ประจำปี 2563 ในรายงานระบุว่า ปี 2562 ดุลการชำระเงินหยวนข้ามแดนในกลุ่มประเทศอาเซียนมีแนวโน้มการเติบโตอย่างรวดเร็วและมีสัดส่วนการขยายตัวสูงเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ และเงินหยวนมีแนวโน้มไหลเข้ากลุ่มประเทศอาเซียนอย่างต่อเนื่อง

      ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “เงินหยวน” ในอาเซียน ณ สิ้นปี 2562 มีดังนี้

  • ปี 2562 เงินหยวนข้ามแดนที่หมุนเวียนในอาเซียน มีมูลค่า 2.408 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้น 34.7%
  • 6 ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย อินโดนีเซีย กัมพูชา และฟิลิปปินส์ ได้กำหนดให้เงินหยวนเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ
  • 4 ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย ไทย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ได้ลงนามในความตกลงทวิภาคีเพื่อแลกเปลี่ยนเงินหยวนกับสกุลเงินท้องถิ่น (Bilateral Currency Swap Arrangement) กับธนาคารประชาชนแห่งชาติจีน (People’s Bank of China -PBC)
  • 4 ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย และฟิลิปปินส์ ได้จัดให้มีการชำระดุลเงินหยวนระหว่างธนาคารสองประเทศ
  • 3 สกุลเงินในอาเซียน ได้แก่ ดอลลาร์สิงคโปร์ ริงกิตมาเลเซีย และบาทไทย สามารถทำการแลกเปลี่ยน (Direct Quotation) กับเงินหยวนได้โดยตรง ผ่านระบบ China Foreign Exchange Trading System & National Interbank Funding Center หรือ CFETS (中国外汇交易中心)
  • สกุลเงินเรียลกัมพูชาและดองของเวียดนาม เป็นสกุลเงินที่สมารถทำการแลกเปลี่ยนกับเงินหยวนได้โดยตรงระหว่างธนาคารในเขตฯ กว่างซีจ้วง
  • สถาบันการเงิน 71 รายในอาเซียนได้เข้าร่วมใช้งานระบบการชำระเงินข้ามแดนด้วยสกุลเงินหยวน (Cross-border Interbank Payment System-CIPS)
  • ธนาคารพาณิชย์ในอาเซียน 248 ราย และธนาคารพาณิชย์ในจีนแผ่นดินใหญ่ 186 ราย ได้ร่วมกันเป็นตัวแทนในการชำระบัญชีเงินหยวน ซึ่งฟังก์ชันการใช้งานของระบบบริหารจัดการข้อมูลการรับและชำระเงินหยวนข้ามแดน (RMB CrossBorder Payment & Receipt Management Information System – RCPMIS) มีความพร้อมสมบูรณ์มากขึ้น
  • ข้อมูลที่ Bank of China รวบรวมจากเครือข่ายระบบการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกทั่วโลก (SWIFT) ระบุว่า ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีอัตราการชำระบัญชีด้วยสกุลเงินหยวนเพิ่มขึ้นสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยขยายตัวเพิ่มขึ้น 138% แซงหน้าสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

ปีที่ผ่านมา การใช้เงินหยวนข้ามแดนในอาเซียนมีลักษณะเด่น 2 ประการ คือ (1) ดุลบัญชีเดินสะพัด (current account) มีระดับการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มูลค่าการโอนเข้าเพื่อการค้าสินค้ามีอัตราการขยายตัวสูง มูลค่าการรับและชำระเงินเพื่อการค้าบริการมีการขยายตัวขึ้นเล็กน้อย และ (2) ตลาดเงินมีความเสรีมากยิ่งขึ้น โดยดุลบัญชีทุน (capital account) มีการขยายตัวค่อนข้างรวดเร็วและเป็นครั้งแรกที่มีการขยายตัวสูงกว่าดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 2 เท่า โดยเฉพาะการลงทุนในหลักทรัพย์ ซึ่งมีการขยายตัวอย่างชัดเจน และเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ดุลบัญชีทุนขยายตัวอย่างรวดเร็ว

บีไอซี เห็นว่า ความสำคัญของเศรษฐกิจจีนที่มีต่ออาเซียนและประเทศไทย และความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากวิกฤติการเงินโลก การใช้เงินหยวนจึงเป็นทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจการค้าและการลงทุนกับจีน เนื่องจากช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและไม่มีต้นทุน (กำไรขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน) เพิ่มอำนาจการต่อรองกับคู่ค้าจีน และเป็นการกระจายความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนจากสกุลเงินเดียว ซึ่งปัจจุบัน ธนาคารไทยหลายแห่งมีให้บริการแล้ว

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์
www.xinhuanet.com (新华社新媒体) วันที่ 12 กันยายน 2563
      เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 12 กันยายน 2563
      เว็บไซต์ www.mofcom.gov.cn (中国商务部) วันที่ 03 กันยายน 2563
เครดิตภาพ www.ifengweekly.com

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]