ครึ่งปีแรกของปี 63 เศรษฐกิจกว่างซีโตสวนกระแสโควิด-19

ไฮไลท์

  • ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่ปกติจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ขยายวงกว้างไปทั่วโลก ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เป็น 1 ใน 17 มณฑลของจีน ที่สามารถฟื้นตัวและรักษาระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในแดนบวกไว้ได้ มูลค่า GDP อยู่ที่ 1,020,604 ล้านหยวน ขยายตัวที่ 0.8%
  • รัฐบาลมีส่วนสำคัญที่ช่วยแก้ไขปัญหาและสนับสนุนให้ภาคธุรกิจฟื้นฟูการผลิต การลงทุน และการค้าต่างประเทศ และการกระตุ้นการใช้จ่ายภาคประชาชน โดยเฉพาะการสนับสนุนเชิงนโยบายในการปฏิรูประเบียบและขั้นตอนสำหรับการค้าและการลงทุนให้กระชับและรวดเร็ว รวมทั้งการให้สิทธิประโยชน์จำนวนมากเพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนและการประกอบธุรกิจให้น่าดึงดูดมากยิ่งขึ้น
  • “อาเซียน” ยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกว่างซี มีสัดส่วนคิดเป็น 48.95% ของมูลค่าการค้ารวม โดยประเทศไทยเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 3 ของกว่างซี (รองจากเวียดนามและฮ่องกง) เป็นแหล่งนำเข้าสินค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของกว่างซี (รองจากเวียดนาม) มีสัดส่วน 38% ของการนำเข้าจากอาเซียน และ 15% ของการนำเข้ารวม

 

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้างไปทั่วโลก ในช่วงครึ่งปีแรก (มกราคม-มิถุนายน 2563) สถานการณ์เศรษฐกิจของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงได้ส่อเค้าฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะภาคการเกษตรและบริการ

เศรษฐกิจมหาภาค มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) อยู่ที่ 1,020,604 ล้านหยวน ขยายตัวที่ 0.8% (ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ -1.6%) โดยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีจากช่วงไตรมาสแรก (-3.3%) ทั้งนี้ กว่างซีเป็น 1 ใน 17 มณฑลในจีนที่สามารถรักษาระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในแดนบวก ขณะที่เศรษฐกิจใน 14 มณฑลขยายตัวลดลงในระดับที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะมณฑลหูเป่ยที่ -19.3%

อุตสาหกรรม สายการผลิตในอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยเฉพาะภาคการเกษตร ขยายตัว 3.0% (Q1/2563 เพิ่มขึ้น 1.9%) และภาคการบริการ ขยายตัว 2.8% (Q1/2563 ติดลบ 0.1%) ขณะที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ลดลง 3.1% (YoY)

จากการสำรวจปริมาณการใช้ไฟฟ้าของโรงงานขนาดใหญ่ 500 ราย การใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวภาคอุตสาหกรรมการผลิตในมณฑล ห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ ยานยนต์ เครื่องจักรกล อิเล็กทรอนิกส์และข้อมูลสารสนเทศ โลหะและวัสดุสมัยใหม่ เภสัชกรรมชีวภาพ และเฟอร์นิเจอร์ระดับพรีเมียม มีอัตราการฟื้นตัวภาคการผลิตที่ 111.7% และมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 11.7% (YoY)

รัฐบาลมีส่วนสำคัญที่ช่วยแก้ไขปัญหาและสนับสนุนให้ภาคธุรกิจฟื้นฟูการผลิตและการค้าต่างประเทศในหลายด้าน อาทิ การจัดหาแรงงาน การใช้พลังงาน การระดมทุน การสนับสนุนเชิงนโยบายในการนำเข้า-ส่งออก การคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ การสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมช่องทางการจำหน่ายสินค้า การสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันโรคระบาด การขออนุญาตดำเนินการผลิต และการลดเงื่อนไขการเข้าถึงตลาด (Market access)

การลงทุน การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น 1.1% (Q1/2563 ติดลบ 7.9%) แบ่งเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น 6.5% การลงทุนในภาคการผลิตลดลง 0.6% และการลงทุนเพื่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น 5.3% ทั้งนี้ การลงทุนในอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีขั้นสูงมีการขยายตัวสูงถึง 29.3% โดยเฉพาะการลงทุนภาคการผลิตและบริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีขั้นสูงมีการเติบโตสูงถึง 19.6% (Q1/2563 ติดลบ 2.3%) และ 41.8% (Q1/2563 เพิ่มขึ้น 1.4%) ตามลำดับ

ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ภาพรวมด้านการลงทุนมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นเป็นผลมาจากการปฏิรูปนโยบายส่งเสริมการลงทุน (การกระจายอำนาจให้รัฐบาลท้องถิ่นมีอำนาจในการตัดสินใจ) การปรับปรุงและลดระเบียบขั้นตอนการขออนุมัติให้กระชับและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และการจัดตั้งเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) ซึ่งมีสิทธิประโยชน์มากมาย ช่วยให้สภาพแวดล้อมด้านการลงทุนและการประกอบธุรกิจในมณฑลเป็นที่น่าดึงดูดมากยิ่งขึ้น

ชีวิตและรายได้ประชาชน ในช่วง 6 เดือนแรก ดัชนีราคาผู้บริโภคขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.8% (YoY) โดยเฉพาะหมวดอาหาร เครื่องดื่ม สุรา และยาสูบ เพิ่มขึ้น 16.3% (ราคาเนื้อสุกรพุ่งสูงขึ้น 137.7%) หมวดการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น 3.9% และหมวดของใช้และบริการอื่นๆ เพิ่มขึ้น 3.0%

รายได้เฉลี่ยที่สามารถนำไปใช้จ่ายได้ของประชาชนอยู่ที่ 11,986 หยวน เพิ่มขึ้น 3.0% แบ่งเป็นรายได้เฉลี่ยของประชาชนในเขตเมือง 17,308 หยวน (เพิ่มขึ้น 1.1%) และรายได้เฉลี่ยในพื้นที่ชนบท 7,457 หยวน (เพิ่มขึ้น 5.5%) ขณะที่จำนวนคนว่างงานที่ขึ้นทะเบียนอยู่ที่ 2.58%

การค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคลดลง 8.8% (YoY) การหดตัวมีแนวโน้มลดลงจาก Q1/2563 ร้อยละ 6.4 จุด แนวโน้มที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นผลจากมาตรการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นและกล้าออกมาใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการดำเนินนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายภาคประชาชนที่รัฐบาลมณฑลนำมาใช้ เช่น การแจกคูปองอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นส่วนลดแทนเงินสดสำหรับการซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าที่เข้าร่วมรายการ

การค้าต่างประเทศ มูลค่าการนำเข้า-ส่งออกอยู่ที่ 218,033 ล้านหยวน ลดลง 4.1% แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 119,224 ล้านหยวน (-8.8%) และมูลค่าการนำเข้า 98,808 ล้านหยวน (+2.3%) โดยกว่างซีเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าต่างประเทศ 20,416 ล้านหยวน และอาเซียนยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกว่างซี มีสัดส่วนคิดเป็น 48.95% ของมูลค่าการค้ารวม

สำหรับมูลค่าการค้ากับประเทศไทยอยู่ที่ 17,275 ล้านหยวน ขยายตัว 14.5% แบ่งเป็นการส่งออกไปไทย 2,195 ล้านหยวน (+50.9%) และการนำเข้าจากไทย 15,083 ล้านหยวน (+10.6%) โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ากว่างซีรวม 12,888 ล้านหยวน

ในภาพรวม ประเทศไทยเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 3 ของกว่างซี (รองจากเวียดนาม และฮ่องกง) มีสัดส่วน 8% ของมูลค่ารวม เป็นแหล่งนำเข้าสินค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของกว่างซี (รองจากเวียดนาม) มีสัดส่วน 38% ของการนำเข้าจากอาเซียนและ 15% ของการนำเข้ารวม และเป็นจุดหมายปลายทางของการส่งออกอันดับ 5 ของกว่างซี (รองจากเวียดนาม ฮ่องกง สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา)

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ http://finance.china.com.cn (中国网财经) วันที่ 22 กรกฎาคม 2563
      เว็บไซต์ https://3g.163.com (网易) วันที่ 22 กรกฎาคม 2563
      เว็บไซต์ www.askci.com (中商情报网讯)
ภาพประกอบ www.reference.com

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]