รู้หรือไม่… สินค้าเทกอง (Bulk) ก็ใช้โมเดลขนส่ง “เรือ+ราง” ได้


ไฮไลท์

  • การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ “เรือ+ราง” กำลังทวีบทบาทความสำคัญในการนำเข้า-ส่งออกสินค้าของมณฑลภาคตะวันตกของประเทศจีน โดยใช้ประโยชน์จากท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ในเขตปกครองตนเองกว่างซีเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างอาเซียน – จีน(ตะวันตก) – เอเชียกลาง – ยุโรป นับตั้งแต่เริ่มให้บริการในปี 2560 การขนส่ง “เรือ+ราง” มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี มีขบวนรถไฟขนส่งสินค้าวิ่งให้บริการรวมกว่า 5,000 เที่ยว
  • การขนส่งสินค้าในโมเดล “เรือ+ราง” สามารถรองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นตู้คอนเทนเนอร์แบบทั่วไป แบบที่มีเครื่องทำความเย็น (Reefer) และแบบเปิดด้านบน (Open Top) ซึ่งเหมาะสำหรับสินค้าเทกอง โดยปีนี้ ท่าเรือต่างๆ รอบอ่าวเป่ยปู้ได้เร่งขยายปริมาณการขนส่งสินค้าเทกองด้วยตู้คอนเทนเนอร์ผ่านโมเดลขนส่ง “เรือ+ราง” และแก้ไขอุปสรรคการขนถ่ายสินค้าเพื่อให้สินค้าสามารถเข้า-ออกท่าเรือและขนถ่ายสินค้าขึ้น-ลงได้อย่างรวดเร็ว
  • โอกาสสำหรับประเทศไทย นับตั้งแต่ความได้เปรียบด้านที่ตั้งของท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ที่อยู่ใกล้ประเทศไทย ความถี่ของเที่ยวเรือสินค้าจากแหลมฉบังเพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 5 เที่ยว พิธีการนำเข้าส่งออกและการขนถ่ายสินค้าที่รวดเร็ว และการใช้นโยบายจ่ายเงินอุดหนุนและลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้นำเข้า-ส่งออก ช่วยให้ประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายและประหยัดเวลาในการนำเข้า-ส่งออกได้เป็นอย่างมาก

 

การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ “เรือ+ราง” กำลังทวีบทบาทความสำคัญในการนำเข้า-ส่งออกสินค้าของมณฑลภาคตะวันตกของประเทศจีน โดยใช้ประโยชน์จากท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ในเขตปกครองตนเองกว่างซีเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างอาเซียน – จีน(ตะวันตก) – เอเชียกลาง – ยุโรป

ปัจจุบัน รถไฟสามารถวิ่งเข้าไปถึงในบริเวณท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ (ท่าเรือชินโจว ท่าเรือฝางเฉิงก่าง และท่าเรือเป๋ยไห่) ช่วยให้การเปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่าง “เรือ+ราง” ทำได้อย่างสะดวกรวดเร็วและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี 2560 ที่เริ่มให้บริการ “เรือ+ราง” แนวโน้มการขนส่งมีการขยายตัวมาโดยตลอดที่ 16.7% (ปี 2560) 10.6% (ปี 2561) และ 13.0% (ปี 2562) มีขบวนรถไฟขนส่งสินค้าวิ่งให้บริการรวมทะลุ 5,000 เที่ยว

ช่วง 6 เดือนแรกในปี 2563 มีการขนส่งด้วยรถไฟแล้ว 1,691 ขบวน เพิ่มขึ้น 66.3% (YoY) รวมทั้งมีความหลากหลายของประเภทสินค้ามากขึ้น จากเดิมที่มีเพียงเครื่องเซรามิกและไม้กระดาน ปัจจุบัน มีการขนส่งชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และสินค้าเชิงทรัพยากร เช่น ถ่านหิน สินแร่ต่างๆ ด้วยแล้ว

ไม่นานมานี้ บริษัท Guangxi Coastal Railway Company (广西沿海铁路公司) ผู้ให้บริการในท่าเรือฝางเฉิงก่าง (ท่าเรือที่มีหน้าที่นำเข้าสินค้าเทกองเป็นหลัก) ได้ขนส่งถ่านหินนำเข้าจำนวน 3,200 ตัน จากทั้งหมด 22,000 ตัน ด้วยรถไฟไปยังมณฑลกุ้ยโจวเป็นครั้งแรก ซึ่งทั้งหมดเป็นถ่านหินที่นำเข้าผ่านทางเรือจากประเทศรัสเซียเพื่อส่งต่อไปยังมณฑลกุ้ยโจวเพื่อทำถ่านโค้ก การนำเข้าถ่านหินผ่านท่าเรือฝางเฉิงก่างไม่เพียงช่วยตอบสนองความต้องการถ่านหินในมณฑล แต่ยังช่วยลดต้นทุนการขนส่งได้ไม่น้อย โดยการขนส่งถ่านหินล็อตแรกนี้สามารถประหยัดต้นทุนได้ 44,000 หยวน

การขนส่งสินค้าในโมเดล “เรือ+ราง” สามารถรองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นตู้คอนเทนเนอร์แบบทั่วไป แบบที่มีเครื่องทำความเย็น (Reefer) และแบบเปิดด้านบน (Open Top) ซึ่งเหมาะสำหรับสินค้าเทกอง โดยปีนี้ ท่าเรือต่างๆ รอบอ่าวเป่ยปู้ได้เร่งขยายปริมาณการขนส่งสินค้าเทกองด้วยตู้คอนเทนเนอร์ผ่านโมเดลขนส่ง “เรือ+ราง” และแก้ไขอุปสรรคการขนถ่ายสินค้าเพื่อให้สินค้าสามารถเข้า-ออกท่าเรือและขนถ่ายสินค้าขึ้น-ลงได้อย่างรวดเร็ว

จากข้อมูลพบว่า ช่วงครึ่งปีแรกปีนี้ บริษัท Guangxi Coastal Railway Company ให้บริการขนส่งสินค้าเทกอง เช่น แร่เหล็กและถ่านหิน รวมกว่า 20.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 26.5% (YoY) รถไฟขาขึ้นจากท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ไปยังมณฑลกุ้ยโจวมีเที่ยวขบวนเพิ่มขึ้น 300% (YoY) และขาขึ้นไปยังมณฑลยูนนานเพิ่มขึ้น 268% (YoY)

บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ท่าเรือชินโจวเป็นท่าเรือที่มีความพร้อมในการขนส่ง “เรือ+ราง” มากที่สุด ท่าเรือแห่งนี้มีหน้าที่นำเข้าสินค้าแบบตู้คอนเทนเนอร์เป็นหลัก ตู้สินค้าจากต่างประเทศสามารถขนถ่ายจากเรือเพื่อขึ้นรถไฟต่อไปยังเมืองต่างๆ ในประเทศจีน รวมทั้งผ่านประเทศจีนไปยังประเทศในเอเชียกลางและยุโรปได้ ในทางกลับกัน สินค้าในจีนก็สามารถใช้รถไฟขนส่งตู้สินค้ามาที่ท่าเรือชินโจวเพื่อขึ้นเรือไปต่างประเทศได้เช่นกัน โดยมีบริษัท CR Intermodal Co.,Ltd. สาขากว่างซี (中铁联合国际集装箱广西有限公司) เป็นผู้ดำเนินการ

โอกาสสำหรับประเทศไทย ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้เป็นท่าเรือของประเทศจีนที่มีทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุด ปัจจุบัน รัฐบาลกำลังส่งเสริมให้ภาคธุรกิจหันมาใช้ประโยชน์จากเส้นทางขนส่ง เรือ+ราง” ที่ท่าเรือชินโจวผ่านนโยบายเงินอุดหนุนและลดค่าใช้จ่าย อาทิ การอุดหนุนเงินให้ตู้สินค้าที่ใช้การขนส่งเรือ+ราง ตู้ละ 800 หยวน การลดค่าขนส่งทงารถไฟลง 30% การลดค่าธรรมเนียมต่างๆ ในท่าเรือให้เท่ากับท่าเรือขนาดใหญ่อย่างท่าเรือหนิงโปและท่าเรือเซี่ยงไฮ้ รวมทั้งรัฐบาลยังยกระดับความเข้มงวดในการตรวจสอบรถบรรทุกที่บรรทุกน้ำหนักเกิน เพื่อให้ภาคธุรกิจหันมาใช้การขนส่งทางรถไฟแทน ซึ่งการขนส่งทางรถไฟเป็นแนวโน้มแห่งอนาคต

ปัจจุบัน ท่าเรือชินโจวและท่าเรือแหลมฉบังได้เพิ่มความถี่ของเที่ยวเรือระหว่างกันจากสัปดาห์ละ 1 เที่ยว เป็นสัปดาห์ละ 5 เที่ยว ทุกวันจันทร์ 2 เที่ยว และวันพุธ ศุกร์ อาทิตย์ วันละ 1 เที่ยว ในจำนวนนี้ เป็นเส้นทางให้บริการที่เป็น Direct Service จำนวน 3 เส้นทาง ใช้เวลาขนส่งเพียง 4 วัน โดยมีสายเรือให้บริการ 3 ราย ได้แก่ บริษัท SITC (3 เที่ยว) บริษัท PIL และบริษัท EMC

นอกจากนี้ ท่าเรือชินโจวยังอยู่ระหว่างการวางแผนการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ รวมถึงตู้เปล่า จากฝั่งจีนไปไว้ที่ท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบัง เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าจากไทยไปยังยุโรปผ่านโมเดลเรือ+รางโดยไม่ต้องเปลี่ยนตู้สินค้า เนื่องจากหากใช้ตู้สินค้าจากไทยจะต้องมาเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าที่ท่าเรือชินโจวก่อนจะขนส่งทางรถไฟไปยุโรป ช่วยให้สายเรือและผู้ส่งออกประหยัดต้นทุนและคลายข้อกังวลเรื่องการขนตู้สินค้ากลับท่าเรือต้นทางที่ไทย โดยเฉพาะกรณีที่ไม่มีสินค้าขากลับหรือกรณีต้องขนตู้เปล่ากลับไทย ซึ่งเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น

ความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง การพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขัน และการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานช่วยให้“ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้” (โดยเฉพาะท่าเรือชินโจว) ก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการเดินเรือระหว่างประเทศที่มีความสำคัญระดับภูมิภาคและเป็นท่าเรือที่มีระบบงานขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟไปทั่วทั้งประเทศจีน และคาดว่า ในอนาคตอันใกล้ ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้” จะกลายเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าที่มีบทบาทสำคัญในเวทีการค้าและเป็นทางเลือกใหม่ของผู้ประกอบการไทยที่สนใจขนส่งสินค้าไทยไปจีนหรือใช้ช่องทางดังกล่าวเพื่อขนส่งสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรป ซึ่งปัจจุบัน ท่าเรือชินโจวมีเส้นทางเดินเรือไปยังท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพของไทยแล้วด้วย

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 15 กรกฎาคม 2563
      เว็บไซต์ www.sohu.com (搜狐) วันที่ 16 กรกฎาคม 2563
รูปประกอบ www.sohu.com

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]