• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • ด่านรถไฟผิงเสียงก้าวสู่ “ระบบไร้เอกสาร” เดินพิธีการศุลกากรง่ายๆ ไม่ถึง 3 นาที

ด่านรถไฟผิงเสียงก้าวสู่ “ระบบไร้เอกสาร” เดินพิธีการศุลกากรง่ายๆ ไม่ถึง 3 นาที

ไฮไลท์

  • “ด่านรถไฟผิงเสียง” เริ่มใช้ระบบพิธีการศุลกากรแบบไร้เอกสาร (e-Paperless) เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการทำงานและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกผ่านด่านรถไฟ ช่วยย่นเวลาจากเดิม 3-4 ชั่วโมง เหลือเพียงไม่ถึง 3 นาที ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูง ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในกระบวนการขนส่ง ลดการสิ้นเปลืองทรัพยากร และช่วยสร้างแบรนด์ให้กับการขนส่งสินค้าข้ามแดนผ่านทางรถไฟ
  • อีกหนึ่งความพิเศษของด่านรถไฟผิงเสียง คือ การเป็น ด่านนำเข้าผลไม้ไทย ทางรถไฟเพียงแห่งเดียวของประเทศจีน โดยได้รับการอนุมัติจากสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563 ถือเป็นการพลิกโฉมรูปแบบการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน จากเดิมที่มีเพียงทางถนน ทางเรือ และทางอากาศ
  • การขนส่งทางรถไฟจึงเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ส่งออกผลไม้ไทย โดยเฉพาะในช่วงที่มีผลไม้ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการรอคิวที่ด่านทางบกโหย่วอี้กวาน ทั้งนี้ ผู้ส่งออกสามารถเลือกใช้การขนส่งทางรถไฟเพื่อผ่านพิธีการศุลกากรที่ด่านรถไฟผิงเสียงแล้วเปลี่ยน(ยกตู้)ไปใช้รถบรรทุกเพื่อกระจายไปยังหัวเมืองอื่นทั่วจีนได้เช่นกัน

 

ด่านรถไฟผิงเสียง ริ่มใช้ระบบพิธีการศุลกากรแบบไร้เอกสาร (e-Paperless) เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการทำงานและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกผ่านด่านรถไฟ โดยขบวนรถไฟ 24509 ที่ลำเลียงเหล็ก จำนวน 18 โบกี้ จากกว่างซีไปเวียดนามเป็นรถไฟขนส่งสินค้าขบวนแรกที่ใช้ระบบ e-Paperless เป็นสัญญาณว่าด่านรถไฟผิงเสียงได้เข้าสู่ระบบพิธีการศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Customs เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ก่อนหน้านี้ การดำเนินพิธีการศุลกากรที่ด่านรถไฟผิงเสียงยังไม่มีระบบยื่นสำแดงเอกสารล่วงหน้า ทำให้การนำเข้าสินค้าจากฝั่งเวียดนามต้องรอให้ตู้สินค้าและเอกสารมาถึงที่ด่านก่อน จึงยื่นสำแดงพิธีการศุลกากรได้ เนื่องจากระบบการรายงานพาหนะเข้า-ออก (manifest system) ของการรถไฟยังไม่ได้เชื่อมกับระบบของศุลกากร เจ้าหน้าที่ชิปปิ้งต้องวิ่งรอกหลายหน่วยงานเพื่อรวบรวมเอกสารเพื่อการออกของ ทำให้ทั้งเสียเวลา สิ้นเปลืองทรัพยากร และประสิทธิภาพการทำงานต่ำ

หลังจากเชื่อมระบบของการรถไฟกับศุลกากรเข้าด้วยกันแล้ว เจ้าหน้าที่ชิปปิ้งสามารถทำผ่านจอคอมพิวเตอร์แบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One stop service) โดยการยื่นสำแดงเอกสารล่วงหน้า เมื่อสินค้ามาถึงด่านก็สามารถตรวจปล่อยสินค้าได้ทันที ช่วยย่นเวลาลงจากเดิม 3-4 ชั่วโมง เหลือเพียงไม่ถึง 3 นาที ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูง ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในกระบวนการขนส่ง ลดการสิ้นเปลืองทรัพยากร ที่สำคัญช่วยสร้างชื่อเสียงให้กับการขนส่งสินค้า(ผลไม้)ข้ามแดนผ่านทางรถไฟและดึงดูดให้ผู้ประกอบการหันมาใช้ประโยชน์มากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ในระยะต่อไป ด่านรถไฟผิงเสียงจะพัฒนาระบบเอกสารเพื่อรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multi-modal transportation) ทั้งแบบราง (ต่างประเทศ) + ราง (ในประเทศ) และแบบรถ+ราง เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผ่านพิธีการศุลกากรให้สูงยิ่งขึ้นและตอบสนองความต้องการด้านการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศผ่านระบบรางที่คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นอีกในอนาคต

ปัจจุบัน “ด่านรถไฟผิงเสียง” เป็นด่านรถไฟข้ามแดนเพียงแห่งเดียวที่สามารถวิ่งข้ามจากประเทศจีนไปอาเซียน(เวียดนาม) ทั้งการขนส่งผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า (แยกกัน 2 จุด) และเป็นหนี่งใน “ข้อต่อ” สำคัญบนระเบียงการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor-ILSTC) ที่เชื่อมจีนกับอาเซียน

อีกหนึ่งความพิเศษของด่านรถไฟผิงเสียง คือ การเป็น ด่านนำเข้าผลไม้ทางรถไฟ เพียงแห่งเดียวของประเทศจีน  โดยได้รับการอนุมัติจากสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) ให้เป็นด่านนำเข้าผลไม้อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 (เวลานั้นสามารถนำเข้าได้เฉพาะผลไม้เวียดนาม) และได้รับการอนุมัติจาก GACC ให้เป็น ด่านนำเข้าผลไม้จากประเทศที่สาม รวมถึงผลไม้ไทย เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563 ถือเป็นการพลิกโฉมรูปแบบการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน จากเดิมที่มีเพียงทางถนน ทางเรือ และทางอากาศ

จากประเทศไทย ผู้ส่งออกสามารถใช้รถบรรทุกสินค้าลำเลียงสินค้าออกจากภาคอีสานทางถนน R8 (บึงกาฬ) R9 (มุกดาหาร) และ R12 (นครพนม) ผ่าน สปป.ลาว เข้าสู่เวียดนาม ผ่านกรุงฮานอย มุ่งหน้าไปที่สถานีรถไฟด่งดัง (Dong Dang) จังหวัดลางเซิน เพื่อลำเลียงตู้สินค้าขึ้นขบวนรถไฟ ก่อนเข้าไปที่ด่านรถไฟผิงเสียงของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ประเทศจีน

ทั้งนี้ จากสถานีรถไฟด่งดังของเวียดนามไปถึงสถานีรถไฟผิงเสียงของเขตฯ กว่างซีจ้วง มีระยะทาง 17 กิโลเมตร ใช้เวลาขนส่งประมาณ 1 ชั่วโมง หลังจากตู้สินค้าลำเลียงเข้ามาถึงด่านรถไฟผิงเสียงเพื่อผ่านพิธีการศุลกากรแล้ว ก็สามารถใช้โครงข่ายทางรถไฟของจีนลำเลียงผลไม้ไปยังหัวเมืองสำคัญ อาทิ นครเซี่ยงไฮ้ (ใช้เวลา 45 ชั่วโมง) กรุงปักกิ่ง (ใช้เวลา 70 ชั่วโมง) หรือไปยังเอเชียกลางและยุโรปผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรป (China-Europe Railway Express) (ใช้เวลา 7-10 วัน ขณะที่ทางเรือใช้เวลา 1 เดือน)

ปัจจุบัน มีบริการถไฟเส้นทางด่งดัง-ผิงเสียง วันละ 6 เที่ยว ตารางเวลาไม่แน่นอน โดยขึ้นกับจำนวนสินค้า และสามารถเพิ่มรอบได้ หากมีสินค้าปริมาณมาก กำลังการขนส่งอยู่ที่ 20-25 ตู้ โดยตู้คอนเทนเนอร์เย็นหนึ่งตู้สามารถบรรจุผลไม้ได้ 20-26 ตัน และในอนาคต ยังมีแผนขยายเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าไปถึงนครโฮจิมินห์

จุดเด่นของการขนส่งด้วยรถไฟ นอกจากช่วยหลีกเลี่ยงความแออัดของรถบรรทุกสินค้าบริเวณด่านโหย่วอี้กวานแล้ว รถไฟยังมีศักยภาพรองรับงานขนส่งได้ในปริมาณที่มากกว่ารถบรรทุก และสามารถใช้เป็นเส้นทางกระจายสินค้าไปสู่พื้นที่ตอนในทั่วจีนหรือขยายตลาดไปยังประเทศในเอเชียกลาง ช่วยย่นระยะเวลาในการขนส่งและลดต้นทุนของผู้ประกอบการ ทั้งนี้ การขนส่งทางรถไฟเหมาะสำหรับการขนส่งระยะทางไกล หากเป็นการขนส่งระยะสั้น ควรใช้การขนส่งทางรถบรรทุก เช่น หากส่งผลไม้ไปยังนครกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง รถบรรทุกใช้เวลาเพียง 1-2 วัน สามารถประหยัดเวลาได้มากกว่าทางรถไฟที่อาจต้องใช้เวลานานถึง 4 วัน

ข้อจำกัดของการขนส่งด้วยรถไฟ ตัวจ่ายไฟสำหรับตู้คอนเทนเนอร์เย็น (Reefer) ของหัวรถลากกับหัวรถจักรมีความแตกต่างกัน ทำให้ไม่สามารถใช้ร่วมกันได้ ทั้งนี้ ตู้คอนเทนเนอร์เย็นที่ใช้ขนส่งทางรถไฟสามารถใช้น้ำมันดีเซลกับไฟฟ้าในการทำความเย็น แต่สำหรับหัวรถจักรยังไม่มีอุปกรณ์จ่ายไฟ ทำให้ไม่สามารถทำความเย็นได้ระหว่างการขนส่งทางรถไฟ อย่างไรก็ดี การรถไฟนครหนานหนิงอยู่ระหว่างการปรับแก้เรื่องดังกล่าว โดยการสร้างแท่นชาร์ทไฟที่ด่านรถไฟผิงเสียงเพื่อจ่ายไฟทำความเย็นให้กับตู้ผลไม้ทันทีที่มาถึงด่าน (ผลไม้ไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากใช้เวลาขนส่งทางรถไฟเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น) ขณะเดียวกัน การรถไฟนครหนานหนิงก็อยู่ระหว่างการขออนุมัติติดตั้งอุปกรณ์จ่ายไฟบนหัวรถจักรอยู่ ซึ่งจะช่วยแก้ไขข้อจำกัดดังกล่าวได้ในระยะยาว

การขนส่งทางรถไฟจึงอีกทางเลือกสำหรับผู้ส่งออกผลไม้ไทย โดยเฉพาะในช่วงที่มีผลไม้ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดจากการที่รถบรรทุกต้องรอคิวที่ด่านทางบกโหย่วอี้กวาน ทั้งนี้ ผู้ส่งออกสามารถเลือกใช้การขนส่งทางรถไฟเพื่อผ่านพิธีการศุลกากรที่ด่านรถไฟผิงเสียงแล้วเปลี่ยน(ยกตู้)ไปใช้รถบรรทุกเพื่อกระจายไปยังหัวเมืองอื่นทั่วจีนได้เช่นกัน

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新网广西)  วันที่ 6 กรกฎาคม 2563
รูปประกอบ www.cbt.com.cn

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]