• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • เหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในมณฑลเจียงซี – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

เหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในมณฑลเจียงซี – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

โดยศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

 

ตามที่ในช่วงที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์อุทกภัยจากฝนตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ของจีนและส่งผลกระทบเป็นวงกว้างนั้น สถานการณ์อุทกภัยในมณฑลเจียงซี ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวตามที่ปรากฏในสื่อท้องถิ่น มีพัฒนาการสำคัญ ดังนี้

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2563 กรมการป้องกันเหตุการณ์ฉุกเฉินและการกู้ภัยมณฑลเจียงซีได้ประกาศยกระดับการเตือนภัยเป็น “ภาวะฉุกเฉินด้านการควบคุมอุทกภัยระดับ 1” อย่างเป็นทางการ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ ปี 2553 ที่มณฑลเจียงซีประกาศแจ้งเตือนภัยทางน้ำในระดับ 1 (จีนมีระบบรับมือกับภาวะฉุกเฉินเพื่อควบคุมอุทกภัยทั้งหมด 4 ระดับ โดยระดับ 1 เป็นระดับที่มีความรุนแรงสูงสุด) และในวันเดียวกันนั้น นายหลิว ฉี เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์และประธานสภาผู้แทนประชาชนมณฑลเจียงซี ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์อุทกภัยที่เมืองจิ่วเจียง ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งของมณฑลเจียงซีที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด และนายอี้ เลี่ยนหง ผู้ว่าราชการมณฑลเจียงซี เดินทางลงพื้นที่ดังกล่าวในวันต่อมาด้วย

เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2563 กระทรวงทรัพยากรน้ำของจีนได้ประกาศยกระดับการเตือนภัยเป็น “ภาวะฉุกเฉินด้านการป้องกันอุทกภัยระดับ 2” ทั่วประเทศอย่างเป็นทางการ โดยมีมาตรการสำคัญ คือ การอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ประสบภัยอย่างเร่งด่วน และการขนส่งวัสดุอุปกรณ์เพื่อกู้ภัยภายใน 2 ชม.

จนถึงวันที่ 12 ก.ค. 2563 เหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในมณฑลเจียงซีได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนแล้วมากกว่า 5 ล้านคน มีผู้เสียชีวิต 4 คน โดยรัฐบาลเจียงซีได้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยแล้วกว่า 475,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน 154,000 คน นอกจากนั้น มีพื้นที่ทางการเกษตรได้รับผลกระทบทั้งหมดกว่า 5.1 แสนเฮกตาร์ สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจโดยตรงกว่า 8.13 พันล้านหยวน พื้นที่ที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ได้แก่ นครหนานชาง เมืองจิ่นเต๋อเจิ้น เมืองจิ่วเจียง เมืองซ่างเหร่า และเมืองอื่น ๆ รวม 10 เมือง 99 อำเภอ

เหตุการณ์อุทกภัยจากฝนตกหนักในเมืองจิ่นเต๋อเจิ้น มณฑลเจียงซี

ปัจจุบันระดับน้ำในทะเลสาบผอหยางซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในจีน และระดับน้ำในแม่น้ำแยงซีเกียงตอนเมืองจิ่วเจียงเพิ่มสูงกว่า 22.75 เมตร แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ปี 2541 และรัฐบาลมณฑลเจียงซีได้เพิ่มกองกำลังลาดตระเวนเพื่อเฝ้าระวังความเสี่ยงตามแนวเขื่อนกั้นน้ำตลอด 24 ชม.

ทั้งนี้ เหตุการณ์อุทกภัยในจีนครั้งนี้ส่งผลกระทบกว่า 27 มณฑลทั่ว ปท. เช่น เจียงซี อานฮุย หูเป่ย กุ้ยโจว หูหนาน กว่างซี กวางตุ้ง และฉงชิ่ง เป็นต้น และจากรายงานล่าสุด มีผู้ประสบภัยทั่ว ปท. แล้วกว่า 37 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตรวม 141 คน และส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจจีนโดยตรงกว่า 8 หมื่นล้านหยวน ส่งผลให้รัฐบาลจีนได้เร่งบรรเทาผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวโดยเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2563 คณะกรรมการการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีนเปิดเผยว่า รัฐบาลจีนได้จัดสรรงบประมาณเพื่อบรรเทาภัยพิบัติในพื้นที่ประสบอุทกภัยและได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง รวมถึงมณฑลเจียงซีซึ่งได้รับจัดสรรงบช่วยเหลือแล้ว 309 ล้านหยวน

บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายทั่วมณฑลทั้งหมด 463 แห่งรวม 1,082 ห้อง

พื้นที่ทางการเกษตรได้รับผลกระทบทั้งหมดกว่า 5.1 แสนเฮกตาร์

 

*********

 

อ้างอิง เว็บไซต์ รัฐบาลมณฑลเจียงซี http://www.jiangxi.gov.cn/art/2020/7/12/art_393_2598430.html

http://www.jiujiang.gov.cn/zwzx/szfdt/202007/t20200713_4227483.html

https://jx.ifeng.com/a/20200712/14293522_0.shtml

http://www.xinhuanet.com/yingjijiuyuan/2020-07/12/c_1210699179.htm

http://jx.people.com.cn/n2/2020/0712/c190181-34150088.html

China National Emergency Broadcasting

http://www.cneb.gov.cn/2020/07/12/ARTI1594557006234885.shtml

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]