ระหว่างวันที่ 2-3 ก.ค. 2563 นายหลิว กั๋วจง ผู้ว่าการมณฑลส่านซี และนายถัง เหรินเจี้ยน ผู้ว่าการมณฑลกานซู เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามกรอบความร่วมมือการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของทั้งสองมณฑล ระหว่างรัฐบาลมณฑลส่านซีและรัฐบาลมณฑลกานซู (Economic and Social Development Cooperation Framework Agreement between Shaanxi Provincial People’s Government and Gansu Provincial People’s Government) ใน 7 ด้าน ดังนี้
- การร่วมกันปกป้องและพัฒนาพื้นที่นิเวศวิทยา โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเหลืองซึ่งเป็นหัวใจหลักของภาคเกษตรกรรม การท่องเที่ยว และการขนส่งทางเรือระยะสั้น
- การส่งเสริมการทำงานร่วมกันของเมืองต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบกวนจง
- การร่วมสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยเฉพาะระบบการขนส่งระหว่าง 2 มณฑล
- การร่วมกันพัฒนากลุ่ม (Cluster) อุตสาหกรรมที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน
- การผ่อนคลายมาตรการทางการตลาดที่จะช่วยส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนและการค้าขายระหว่างกัน
- การมุ่งยกระดับมาตรฐานการบริการสาธารณะ เน้นการยกระดับด้านวัฒนธรรม ศูนย์กลางการคมนาคม เทคโนโลยี การจัดการข้อมูลสารสนเทศ และระบบนิเวศให้ก้าวหน้า
- การส่งเสริมให้ใช้การสื่อสารในการปรับปรุงและแก้ไขกลไกความร่วมมือ
นอกจากการลงนามในกรอบความร่วมมือฯ แล้ว คณะผู้บริหารของมณฑลกานซูได้แสดงความสนใจที่จะมีความร่วมมือและแลกเปลี่ยนแนวทางใน 3 อุตสาหกรรมที่มณฑลส่านซีมีความเชี่ยวชาญ ได้แก่
(1) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภาคกลางคืน
มณฑลส่านซีมีแนวคิดผลักดันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภาคกลางคืนให้เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมกระตุ้นการบริโภคภายในพื้นที่ ที่ผ่านมาได้ประกาศจัดตั้งเมืองสาธิตเศรษฐกิจกลางคืน (夜间经济示范城市) โดยกำหนดให้นครซีอานและเมืองเป่าจีเป็นพื้นที่นำร่องเมืองสาธิตฯ ของมณฑลส่านซี ในส่วนของมณฑลกานซูได้เคยออกแผนการพัฒนาประสิทธิภาพอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในปี 2562 (2019甘肃省文化旅游产业提质增效行动方案) และได้มีการระบุข้อมูลบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภาคกลางคืน อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภาคกลางคืนของมณฑลกานซูยังไม่เป็นที่นิยมเท่าที่ควร เพราะโดยมากมักเป็นในลักษณะการจัดงานเทศกาลช้อปปิ้งสินค้า เทศกาลเบียร์/เครื่องดื่มประจำปี หรือเทศกาลอาหารท้องถิ่น และใช้วิธีขยายเวลาการเปิด-ปิดออกไปเท่านั้น แตกต่างจากแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภาคกลางคืนของมณฑลส่านซีที่เน้นการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยว การแสดง และการบริการของร้านค้ารอบสถานที่ท่องเที่ยวไปพร้อมกัน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้สามารถสัมผัสกิจกรรมได้หลากหลาย
(2) อุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตร
มณฑลกานซูให้ความสนใจ China Haisheng Fresh Fruit Juice Co., Ltd ซึ่งเป็นวิสาหกิจผู้ผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรขนาดใหญ่ของมณฑลส่านซี และเป็นวิสาหกิจแรกของมณฑลที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ของเขตฯ ฮ่องกงได้สำเร็จ ปัจจุบัน Haisheng เป็นผู้นำอุตสาหกรรมการเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตลอดจนที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ผักและผลไม้กระจายไปยังห้างสรรพสินค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำทั่วประเทศอีกด้วย
(3) การจัดการคลังสินค้าและการค้าออนไลน์
คณะฯ ได้เยี่ยมชมเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนและศูนย์ควบคุมพัสดุด่วนพิเศษระหว่างประเทศของ Airport New City และศูนย์โลจิสติกส์ข้ามพรมแดนและการบริหารคลังสินค้าสาธารณะเขตใหม่ซีเสียน ซึ่งล้วนแต่ได้รับการผลักดันจากรัฐบาลมณฑลส่านซีตั้งแต่ปี 2557 ให้เป็นฐานรองรับการขนส่งสินค้าทางอากาศและศูนย์กลางการกระจายสินค้าที่สำคัญของมณฑล และยังได้รับอานิสงส์จากสนามบินนานาชาติซีอานเสียนหยาง และการเป็นพื้นที่สาธิตด้านการบินแห่งชาติ (国家航空城实验区: National Aviation City Experimental Area) โดยมณฑลกานซูมีเป้าหมายในการพัฒนาเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนของเขตเมืองใหม่นครหลานโจว (Lanzhou New Area Free Trade Zone) โดยเฉพาะการดึงดูดวิสาหกิจนำเข้า-ส่งออกเข้าลงทุนในพื้นที่ที่ปัจจุบันมีวิสาหกิจนำเข้า-ส่งออกเพียง 16 ราย และมีวิสาหกิจผู้ผลิตและแปรรูปสินค้าต่างๆ เพียง 14 ราย มูลค่าการลงทุนรวม 3,500 ล้านหยวน รวมถึงศึกษาการพัฒนาช่องทางการกระจายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งเขตคลังสินค้าทัณฑ์บนของเขตเมืองใหม่นครหลานโจวได้สร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ภายใต้ชื่อ www.lzxqjksp.com ให้เป็นอีกหนึ่งช่องทางจำหน่ายสินค้านำเข้าจากต่างประเทศผ่านเส้นทางการขนส่งสินค้านานาชาติหลานโจวห้าว
ข้อมูลอ้างอิง
- https://www.sohu.com/a/318337875_120089141
- http://www.gansu.gov.cn/art/2020/7/2/art_35_456716.html
- http://new.shaanxi.gov.cn/info/iList.jsp?tm_id=166&cat_id=10001&info_id=172869
- http://www.zgzyw.com.cn/zgzyw/system/2020/07/04/030118787.shtml