ไฮไลท์

  • นครหนานหนิงเร่งส่งเสริมการลงทุนด้านการขนส่งและโลจิสติกส์เพื่อกรุยทางสู่เป้าหมาย การเป็น “ฮับ” ที่สำคัญในการกระจายสินค้าระดับภูมิภาคและรองรับการขนส่งและกระจายสินค้าผ่านเส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก (NWLSC) ที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น
  • ล่าสุด นครหนานหนิงได้ผลักดันการพัฒนาโครงการ “ศูนย์โลจิสติกส์นานาชาติจีน(หนานหนิง)-สิงคโปร์” หรือ CSILP ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่ช่วยตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและตอกย้ำภารกิจ “ฮับ” โลจิสติกส์จีน(ตะวันตก)กับอาเซียน
  • ศูนย์ CSILP เป็นแพลตฟอร์มการลงทุนที่เปิดกว้างให้กับนักลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงไทย โดยใช้ประโยชน์จากจุดเด่นด้านทำเลที่ตั้งของนครหนานหนิงในการเป็น “ข้อต่อ” ของเส้นทางขนส่งระหว่างอาเซียนกับจีน(ตอนกลางและภาคตะวันตก) ซึ่งศูนย์แห่งนี้มีสิทธิประโยชน์และฟังก์ชันที่น่าสนใจ อาทิ การแปรรูปโดยใช้สิทธิประโยชน์สินค้าทัณฑ์บน โลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน เทคโนโลยีด้านโลจิสติกส์อัจฉริยะ และบริการด้านการเงิน
  • ในปี 2563-2565 นครหนานหนิงจะเร่งผลักดันการพัฒนา Key projects ด้านโลจิสติกส์ 58 โครงการ รวมมูลค่าการลงทุน 58,100 ล้านหยวน ประกอบด้วยสวนโลจิสติกส์ ศูนย์โลจิสติกส์และกระจายสินค้าระบบงานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ บริการโลจิสติกส์ข้ามแดนและสินค้าทัณฑ์บน บริการโลจิสติกส์สินค้าโภคภัณฑ์ (Bulk) และสินค้าเกษตรกับโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็น
  • หลายปีมานี้ สิงคโปร์เข้าไปลงทุนในสาขาธุรกิจการขนส่งและโลจิสติกส์ในมณฑลภาคตะวันตกของจีนอย่างต่อเนื่อง เป็นกลยุทธ์การยึดหัวหาดเพื่อรักษาตำแหน่งความได้เปรียบของธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ของสิงคโปร์ในจีนที่นักลงทุนไทยสามารถเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากโมเดลดังกล่าวได้

 

นครหนานหนิงเร่งส่งเสริมการลงทุนในด้านการขนส่งและโลจิสติกส์เพื่อกรุยทางสู่เป้าหมาย การเป็น “ฮับ” สำคัญในการกระจายสินค้าระดับภูมิภาคและรองรับการขนส่งและกระจายสินค้าผ่านเส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก (New Western Land-Sea Corridor – NWLSC) ที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น

หลังจากที่นครหนานหนิงได้พัฒนาโครงการก่อสร้างศูนย์รถไฟนานาชาตินครหนานหนิง (Nanning International Railway Port/南宁国际铁路港) ไปไม่นาน ล่าสุด นครหนานหนิงอยู่ระหว่างการผลักดันการพัฒนาโครงการ “ศูนย์โลจิสติกส์นานาชาติจีน(หนานหนิง)-สิงคโปร์” (China-Singapore International Logistics Park (Nanning)) หรือเรียกสั้นๆว่า CSILP ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่ช่วยตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและตอกย้ำภารกิจ “ฮับ” โลจิสติกส์จีน(ตะวันตก)กับอาเซียน

“ศูนย์โลจิสติกส์นานาชาติจีน(หนานหนิง)-สิงคโปร์” เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงกับบริษัท Singapore Pacific International Lines Pte Ltd (สายเรือ PIL) โดย PIL เป็นผู้ลงทุน ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตสินค้าทัณฑ์บนแบบครบวงจรนครหนานหนิง (Nanning Integrated Free Trade Zone/南宁综合保税区) มีเนื้อที่ 1,780 ไร่ มีมูลค่าการลงทุน 10,000 ล้านหยวน โดยแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 3 เฟสด้วยกัน

ศูนย์ดังกล่าวเป็นแพลตฟอร์มการลงทุนที่เปิดกว้างให้กับนักลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงไทย โดยใช้ประโยชน์จากจุดเด่นด้านทำเลที่ตั้งของนครหนานหนิงในการเป็น “ข้อต่อ” ของเส้นทางขนส่งระหว่างอาเซียนกับจีน(ตอนกลางและภาคตะวันตก) ซึ่งศูนย์แห่งนี้มีสิทธิประโยชน์และฟังก์ชันที่น่าสนใจ อาทิ

  • การแปรรูปสินค้าทัณฑ์บน (เขตปลอดภาษีอากร) เน้นโลจิสติกส์อีคอมเมิร์ซข้ามแดน (Cross-border e-Commerce Logistic) ที่รัฐบาลกลางอนุมัติให้พื้นที่เขตสินค้าทัณฑ์แบบครบวงจรหนานหนิงเป็นจุดทดลองการดำเนินธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามแดนแบบครบวงจร และมีฟังก์ชันการแปรรูปสินค้าทัณฑ์บนและโกดังสินค้าเป็นฟังก์ชันเสริม
  • บริการโลจิสติกส์และห่วงอุปทานแบบครบวงจร โดยใช้ประโยชน์จากระบบงานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ โดยเฉพาะธุรกิจการผลิตและการรับส่งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีขั้นสูง และธุรกิจโลจิสติกส์โกดังสินค้าและการขนถ่ายกระจายสินค้าโภคภัณฑ์ เพื่อเชื่อมแหล่งสินค้าของจีนกับอาเซียน
  • เทคโนโลยีอัจฉริยะ เช่น ระบบโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นและคลังสินค้ามาตรฐานสูงที่ติดตามด้วยระบบ GPS (เหมาะสำหรับธุรกิจเวชภัณฑ์ยา) ระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศในห่วงโซ่อุปทานการผลิตและโลจิสติกส์คลังสินค้า ฐานข้อมูลสารสนเทศด้านโลจิสติกส์ในระบบงานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบที่ครอบคลุมทั้งทวีปเอเชียและยุโรป
  • ห่วงโซ่อุปทานการเงิน (Supply chain finance) เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กับภาคธุรกิจ งานขนส่งและกระจายสินค้า การผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ การพัฒนาโครงการ (project incubator) การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง บริการเชิงพาณิชย์ในทุกมิติ เพื่อสนับสนุนบริการด้านการเงิน การต่อยอดห่วงโซ่การผลิต และการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญในงานบริหารระดับสูง

โครงการเฟสแรกประกอบด้วยหลายโครงการย่อย โดย “สวนอัจฉริยะสิงคโปร์-จีน” ได้เปิดทดลองดำเนินกิจการตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 มีธุรกิจโลจิสติกส์ ระบบห่วงโซ่ความเย็น เวชภัณฑ์ยา และพัสดุด่วน เข้าจัดตั้งธุรกิจภายในสวนดังกล่าวแล้ว อาทิ บริษัท VX Logistic Properties (万纬物流) บริษัท Fosun Pharma (复星国药)  บริษัท Swire Cold Chain Logistics (太古冷链) บริษัท Best Express (百事汇通) และบริษัท Singapore-YCA Group (新加坡叶水福物流)  

ตามรายงาน ระหว่างปี 2563-2565 นครหนานหนิงมุ่งผลักดันการพัฒนาโปรเจกต์ด้านโลจิสติกส์ที่สำคัญใน 58 โครงการ รวมมูลค่าการลงทุน 58,100 ล้านหยวน ประกอบด้วยสวนโลจิสติกส์ (Logistic park) ศูนย์โลจิสติกส์และกระจายสินค้า ระบบงานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (multi-modal transportation) บริการโลจิสติกส์ข้ามแดนและสินค้าทัณฑ์บน บริการโลจิสติกส์สินค้าโภคภัณฑ์ (Bulk) และสินค้าเกษตรกับโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็น

บีไอซี มีข้อสังเกตว่า หลายปีมานี้ ภาครัฐและภาคเอกชนสิงคโปร์ได้ดำเนินการเชิงรุกในการพัฒนาความร่วมมือและการลงทุนในจีนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในสาขาธุรกิจการขนส่งและโลจิสติกส์ในมณฑลทางภาคตะวันตกของจีน โดยเฉพาะในกว่างซีและนครฉงชิ่ง ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายสำคัญในระบบงานขนส่งสินค้าที่ใช้เชื่อมอาเซียน มณฑลทางภาคตะวันตกของจีน เอเชียกลาง และยุโรป ซึ่งเป็นสาขาที่สิงคโปร์มีความเชี่ยวชาญเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เป็นกลยุทธ์การยึดหัวหาดเพื่อรักษาตำแหน่งความได้เปรียบของธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ของสิงคโปร์ในจีนที่นักลงทุนไทยสามารถเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากโมเดลดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังสะท้อนให้เห็นถึงการอ่านเกมรัฐบาลท้องถิ่นจีนของสิงคโปร์ได้แตก ซึ่งรัฐบาลกว่างซีกำลังเร่งส่งเสริมให้นครหนานหนิงและเมืองชายทะเลรอบอ่าวเป่ยปู้ ได้แก่ เมืองชินโจว เมืองฝางเฉิงก่าง และเมืองเป๋ยไห่ เป็น “ฮับ” โลจิสติกส์ตามเป้าหมายที่วางไว้

 

 

จัดทำโดย นางสาววัชราภรณ์  พรหมพินิจ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์
www.gx.chinanews.com (中国新闻网) ประจำวันที่ 6 มิถุนายน 2563
ภาพประกอบ
www.freepik.com

ที่มา : https://thaibizchina.com/