ไฮไลท์
- ฟาร์มบัวเผื่อนในเมืองหลายปินของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงขยายตลาดไปยังต่างประเทศ เมื่อปี 2562 ได้ส่งออก “บัวเผื่อนตากแห้ง” ไปประเทศไทยกว่า 6 หมื่นดอก ราคาดอกละ 30 หยวน หรือราว 1.8 ล้านหยวน และคาดว่าความต้องการของไทยในปีนี้จะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
- ความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกว่างซีกับไทยมีความใกล้ชิดมากขึ้น ในด้านการค้า พบว่า กว่างซีนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทยมากที่สุด มูลค่านำเข้า 7,319 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 59.65% (YoY) สินค้าหลักประกอบด้วยทุเรียน ลำไย มังคุด และมันสำปะหลัง
- ด้านการเพาะปลูก พบว่า ธุรกิจการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรในกว่างซีสนใจนำเมล็ดพันธุ์พืชจากไทยเข้ามาทดลองปลูกในมณฑลเป็นอย่างมาก อาทิ มะระ ฟักทอง ข้าวโพดหวาน และมะเขือเทศ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่ใกล้เคียงกัน ทำให้การปลูกพืชผลของไทยในกว่างซีได้ผลค่อนข้างดี อีกทั้งกว่างซียังมีการวิจัยและพัฒนาเพื่อปรับปรุงสายพันธุ์ให้พืชผลทางการเกษตรสามารถเติบโตได้ดียิ่งขึ้น
- ไทยต้องเตรียมตัวรับมือกับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากการพัฒนาและเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรที่มีความคล้ายคลึงของกว่างซี ทั้งในแง่ของการขยายส่วนแบ่งตลาดสินค้าเกษตรนำเข้าในจีน โดยสามารถส่งออกสินค้าที่เป็นตัวเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภคจีนในประเทศ หรือการก้าวออกไปขยายตลาดลูกค้าในต่างประเทศ
การปลูก “บัวเผื่อน” กำลังกลายเป็นธุรกิจสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในเมืองหลายปิน (Laibin City/来宾市) ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง นายจ้าว ปินหยาง (Zhao Binyang/赵斌扬) ผู้ริเริ่มธุรกิจฟาร์มบัวเผื่อน ให้ข้อมูลว่า ปีที่แล้ว (ปี 2562) ฟาร์มบัวเผื่อนของตนเองได้ส่งออก “บัวเผื่อนตากแห้ง” ไปประเทศไทยกว่า 6 หมื่นดอก ในราคาดอกละ 30 หยวน หรือราว 1.8 ล้านหยวน และคาดว่าความต้องการในปีนี้จะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
นายจ้าวฯ เป็นเกษตรกรตัวอย่างที่ริเริ่มธุรกิจฟาร์มบัวเผื่อนในหมู่บ้านเอ้อร์ถาง อำเภออู่เซวียน (Wuxuan County/武宣县) ในเมืองหลายปิน โดยเริ่มธุรกิจดังกล่าวเมื่อปี 2561 ปัจจุบัน ฟาร์มบัวเผื่อนมีเนื้อที่รวมกว่า 72 ไร่ โดยนายจ้าวฯ ได้จัดตั้งสหกรณ์และส่งเสริมให้เกษตรกร(คนยากจน)ในพื้นที่ช่วยทำธุรกิจปลูกบัวเผื่อน (ในลักษณะรวมแปลง+รวมแรง) ทำให้นายจ้าวฯ มีเป็นที่รู้จักและได้รับฉายาว่า “ราชาบัวเผื่อน”
“บัวเผื่อน” เป็นไม้น้ำที่ปลูกเป็นไม้ประดับเพื่อความสวยงาม สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี เลี้ยงดูง่าย ทนทานต่อสภาพอากาศ ก้านดอกใช้รับประทานเป็นผักหรือนำไปประกอบอาหารได้ ใบบัวสามารถนำไปแปรรูปเป็นชา หรือนำไปสกัดน้ำมันเพื่อผลิตเครื่องสำอาง ทุกส่วนของบัวเผื่อนยังมีสรรพคุณทางยา นับเป็นพืชไม้ดอกที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ไม่น้อย
หลายปีมานี้ ความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกว่างซีกับประเทศไทยมีความใกล้ชิดมากขึ้น ด้านการค้า พบว่า ประเทศไทยเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าเกษตรอันดับ 1 ของกว่างซี มูลค่านำเข้าอยู่ที่ 7,319 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 59.65% (YoY) สินค้าหลักประกอบด้วยทุเรียน ลำไย มังคุด และมันสำปะหลัง ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรไปไทยมีมูลค่ารวม 159 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 9.91% (YoY) โดยไทยเป็นประเทศเป้าหมายการส่งออกอันดับที่ 4 ของกว่างซี สินค้าหลักประกอบด้วยผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ชา ผลไม้แปรรูป และงา
ด้านการเพาะปลูก กรมการเกษตรและชนบทเขตฯ กว่างซีจ้วง เปิดเผยว่า ธุรกิจด้านการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรในกว่างซีมีความสนใจอย่างมากที่จะนำเมล็ดพันธุ์พืชจากประเทศไทยมาทดลองปลูกในมณฑล อาทิ มะระ ฟักทอง ข้าวโพดหวาน และมะเขือเทศ
บีไอซี ขอให้ข้อมูลว่า สภาพภูมิอากาศของกว่างซีมีความใกล้เคียงกับประเทศไทย ทำให้การเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรไทยในกว่างซีสามารถทำได้ไม่ยาก ปัจจุบัน พืช ผัก ผลไม้ ไม้ดอก และไม้ประดับหลายชนิดที่เคยปลูกได้ในประเทศเมืองร้อน(ไทย)ก็สามารถปลูกและหาซื้อได้ทั่วไปในกว่างซี จึงเป็นสัญญาณเตือนให้ประเทศไทยต้องเตรียมตัวและวางแผนรับมือกับการแข่งขันในอนาคต ทั้งในแง่ของการขยายส่วนแบ่งในตลาดสินค้าเกษตรนำเข้าในจีน โดยสามารถเข้ามาเป็นตัวเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภคจีนในประเทศ โดยเฉพาะผลไม้ไทยอย่างลำไย ลิ้นจี่ มังคุด ทุเรียน ส้มโอ มะพร้าว และมะม่วง หรือการก้าวออกไปขยายตลาดลูกค้าในต่างประเทศ
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 2 มิถุนายน 2563
รูปประกอบ www.thepaper.cn