ฉางอันห้าวเปิดเส้นทางใหม่เส้นที่ 16 เชื่อมซีอาน-กลุ่มประเทศบอลติก

เขตโลจิสติกส์นานาชาตินครซีอานรายงาน เส้นทางขนส่งสินค้านานาชาติฉางอันห้าว เปิดเส้นทางขนส่งเส้นที่ 16  นครซีอาน – กรุงวิลนีอุส ประเทศลิทัวเนีย ระยะทางรวม 9,702 กิโลเมตร ใช้เวลาขนส่งสินค้าราว 8 วัน

มณฑลส่านซีเล็งเห็นถึงศักยภาพของประเทศลิทัวเนียซึ่งตั้งอยู่กลางทวีปยุโรป โดยสามารถกระจายสินค้าไปยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศบอลติก (เอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนีย) ที่ปัจจุบันฉางอันห้าวยังไม่มีเส้นทางการขนส่งโดยตรงไปยังกลุ่มประเทศข้างต้น และยังสามารถใช้ประโยชน์จากประเทศโปแลนด์ เบลารุส เยอรมนี และรัสเซีย ในการขนถ่ายหรือปรับเปลี่ยนเที่ยวการขนส่งสินค้าได้ไม่ยากนัก เนื่องจากมณฑลส่านซีมีเส้นทางการขนส่งสินค้าผ่านประเทศดังกล่าวอยู่แล้ว

สถิติระหว่างเดือน ม.ค. – 17 เม.ย. 2563 เส้นทางขนส่งสินค้านานาชาติฉางอันห้าว ขนส่งสินค้าไปแล้วกว่า 832 เที่ยว เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 มากถึง 2.3 เท่า ถือว่ามีอัตราการเติบโตสูงที่สุดของประเทศ (จำนวนเที่ยวการขนส่งของฉางอันห้าวคิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนเที่ยวการขนส่งสินค้านานาชาติทั้งหมดของจีน)

นอกจากเส้นทางขนส่งสินค้าฯ ข้างต้นแล้ว เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา มณฑลส่านซียังได้ทดลองเปิดเส้นทางการขนส่งนานาชาติไปยังกรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล โดยเป็นการบรรทุกสิ่งของให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศเนปาลเพื่อต่อสู้วิกฤต COVID19 ซึ่งถือเป็นการทดลองการขนส่งไปยังกลุ่มประเทศเอเชียใต้เป็นครั้งแรกของฉางอันห้าวอีกด้วย อย่างไรก็ดี การขนส่งสินค้าไปยังกลุ่มประเทศเอเชียใต้ยังจำเป็นต้องอาศัยการขนส่งหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation) โดยขนส่งด้วยระบบรางจากสถานีขนส่งสินค้าซินจู้ของนครซีอาน จากนั้นทำการขนถ่ายสินค้าเพื่อขนส่งด้วยรถยนต์จากด่านอำเภอ Gyirong เมืองหน้าด่านที่สำคัญระหว่างประเทศจีนกับประเทศเนปาลไปยังกรุงกาฐมาณฑุ

ในอนาคตอาจมีการพิจารณาเปิดเส้นทางขนส่งสินค้านานาชาติฉางอันห้าวไปยังกลุ่มประเทศเอเชียใต้มากขึ้น เนื่องจากใช้ระยะเวลาการขนส่งเพียง 7-9 วัน และแนวโน้มความต้องการสินค้าที่ผลิตในประเทศจีนมีมากขึ้น

อย่างไรก็ดี เส้นทางการขนส่งสินค้านานาชาติฉางอันห้าวที่ให้บริการขนส่งไปยังทวีปยุโรป ยังคงเป็นเส้นทางที่ได้รับความนิยมสูงสุด จากสถิติตั้งแต่เดือน ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา ฉางอันห้าวเปิดเดินรถเฉลี่ย 9-10 เที่ยว/วัน โดยมีประวัติการเดินรถสูงสุดมากถึง 13 เที่ยว/วัน ในช่วงวิกฤติ COVID19 ซึ่งถือเป็นการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสด้วยการใช้การขนส่งสินค้าระบบรางส่งออกสินค้า เพราะหลายประเทศในเอเชียและยุโรปยังคงมาตรการปิดน่านฟ้า เกิดข้อจำกัดในการขนส่งสินค้าทางอากาศ กอปรกับการขนส่งสินค้าด้วยระบบราง มีต้นทุนที่ต่ำกว่า และสามารถบรรทุกได้เป็นจำนวนมาก จึงเป็นอีกหนึ่งโมเดลสำคัญที่รัฐบาลมณฑลส่านซีเร่งให้การสนับสนุน เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งกลไกฟื้นฟูเศรษฐกิจในพื้นที่ผ่านการส่งออกสินค้าไปทั่วโลก เชื่อว่าในอนาคตฉางอันห้าวจะมีการเปิดเส้นทางการขนส่งไปยังกลุ่มประเทศใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น

ข้อมูลอ้างอิง

  1. http://news.cnwest.com/sxxw/a/2020/06/12/18835219.html
  2. http://www.huaxia.com/zjsx/xwsc/2020/06/6435452.html
  3. http://o.xiancity.cn/system/2020/05/25/030743554.shtml

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]