การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปยังทั่วโลกที่เหนือความคาดคิดในปีนี้ไม่เพียงส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคธุรกิจที่ต้องเร่งปรับตัวให้ทันท่วงที ยังส่งผลต่อพฤติกรรมการดำรงชีวิตที่ต้องเปลี่ยนไปอย่างเลี่ยงมิได้ โดยผู้คนต่างหันมาตระหนักถึงการเตรียมรับมือต่อความไม่แน่นอน “ธุรกิจประกันภัย” จึงเป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่ง

โควิด-19 ทำหลายธุรกิจ “ร่วง”… แต่ไม่น่าห่วงสำหรับ “ธุรกิจประกัน”

นับว่าไม่น่ากังวลสำหรับธุรกิจประกันจีนที่อยู่ในช่วงขาขึ้นท่ามกลางวิกฤต เนื่องจากผู้คนต่างเริ่มตระหนักถึงความไม่ปลอดภัยในชีวิตหลังจากการแพร่ระบาดฯ ที่เกิดขึ้นแบบมิทันตั้งตัว โดยจากผลสำรวจล่าสุดของ Swiss Re (หนึ่งในบริษัทประกันภัยชั้นนำของโลก) รายงานว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้คนตระหนักถึงความจำเป็นต่อการคุ้มครองตนเองและคนในครอบครัวเพิ่มขึ้น ซึ่งมีสัดส่วนกว่าหนึ่งในสี่ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ได้เกิดความกังวลเรื่องการบริหารจัดการเงินในช่วงการแพร่ระบาดฯ และตระหนักว่าการประกันชีวิตนั้นเป็นสิ่งที่ “จำเป็นต้องมี” ซึ่งก็สอดคล้องกับความต้องการซื้อประกันโดยเฉพาะ “ประกันสุขภาพ” ที่เพิ่มขึ้น รวมถึง “ประกันธุรกิจ” ด้วย ทั้งนี้ บริษัทและแพลตฟอร์มต่าง ๆ ด้านประกันภัยในจีน ต่างก็ได้ออกบริการที่คาบเกี่ยวกับสถานการณ์ไวรัสฯ มากมาย ทั้งแบบมีและไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อร่วมกันต่อสู้ผ่านพ้นช่วงวิกฤต อาทิ

– แพลตฟอร์มประกันภัย “Wesure” ในเครือ Tencent ซึ่งเป็นรายแรก ๆ ที่ออกบริการประกันภัยโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงเริ่มแพร่ระบาดฯ ให้แก่บุคลากรการแพทย์แนวหน้าโดยเฉพาะ ซึ่งครอบคลุมวงเงินประกันมากกว่า 600,000 หยวนในกรณีที่ตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสฯ ซึ่งมีผู้ซื้อประกันดังกล่าวอย่างรวดเร็ว มากกว่า 100,000 กรรมธรรม์ภายในระยะเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ อีกทั้งยังมีประกันภัยสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบในช่วงแพร่ระบาดฯ ซึ่งจะได้รับเงินอุดหนุนค่ารักษาพยาบาลจำนวน 1,000 หยวนต่อวัน (แต่ไม่เกิน 30 วัน) ในกรณีที่ตรวจพบว่าติดเชื้อไว้รัสฯ นอกจากนี้ เครือ Tencent ยังร่วมกับกระทรวงกิจการพลเรือนจีน ออกประกันภัยโควิด-19 ให้แก่อาสาสมัครและพนักงานในหน่วยงานดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมา แพลตฟอร์ม Wesure ได้ร่วมกับบริษัทและหน่วยงานต่าง ๆ ออกประกันสุขภาพแก่ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสฯ ที่รักษาหายแล้วในเซี่ยงไฮ้แบบไม่มีค่าใช้จ่ายเป็นระยะเวลา 1 ปี มูลค่ารวมกว่า 6 ล้านหยวน อีกทั้งร่วมกับ The People’s Insurance Company (Group) of China Limited (PICC) ออกแผนคุ้มครองธุรกิจขนาดเล็กแบบไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นประกันรายการแรกสำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดฯ ในจีน โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบหลังภาวะการณ์แพร่ระบาด

บริษัท ZhongAn Online P&C Insurance (บริษัทประกันภัยเซี่ยงไฮ้ที่ให้บริการประกันเครือข่ายอินเทอร์เน็ตรายแรกในจีน) ออกบริการประกันสุขภาพสำหรับครอบครัวเพื่อตอบรับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นประกันสุขภาพครอบครัวที่มีความยืดหยุ่น กำหนดเองได้ และให้การคุ้มครองครอบคลุมทุกวัยตั้งแต่เด็กทารกแรกเกิดอายุ 1 เดือนไปถึงผู้สูงอายุ 80 ปี (จำนวนไม่เกิน 7 คนต่อครอบครัว)

ABC Life Insurance บริการประกันภัยภายใต้ธนาคาร Agricultural Bank of China ออกบริการประกันภัยแก่บุคลากรทางการแพทย์ในมณฑลหูเป่ยแบบไม่มีค่าใช้จ่ายในช่วงการแพร่ระบาดฯ

บริษัท China Pacific Insurance (Group) ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยในเครือธนาคารแห่งชาติจีน ได้ร่วมกับเขตหวงผู่ เซี่ยงไฮ้ ออกบริการประกันสุขภาพหลังการแพร่ระบาดฯ เพื่อขจัดความหวาดกลัวในการออกมาเดินช้อปปิ้งของประชาชนในย่านการค้ายอดนิยมอย่างถนนหนานจิง

อย่างไรก็ดี แม้ว่าความตึงเครียดจากการแพร่ระบาดจะเริ่มลดลงซึ่งเห็นได้จากการออกมาจับจ่ายใช้สอย และกลับมาใช้ชีวิตกันปกติมากขึ้น รวมถึงรัฐบาลก็มีส่วนอย่างมากในการส่งเสริมการฟื้นฟูความเชื่อมั่นแก่ประชาชนหลังการแพร่ระบาดฯ ที่คลี่คลายลง อาทิ กิจกรรมช้อปปิ้ง 5.5 และตลาดนัดกลางคืน เป็นต้น แต่ก็เชื่อว่าการเตรียมความพร้อมรับมือสิ่งที่ไม่แน่นอนจะเป็นสิ่งที่ผู้คนให้ความสำคัญมากขึ้น จึงอาจเป็นยุครุ่งเรืองของธุรกิจประกันภัยในหลาย ๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย

 

******************************************

 

จัดทำโดย: นส. พรฤทัย ศักดิ์สกุลพรชัย/ ศูนย์ BIC นครเซี่ยงไฮ้
ที่มา: เว็บไซต์ Shanghaidaily.com หัวข้อ Health risks propel interest in insurance ฉบับวันที่ 26 พ.ค. 63/ https://archive.shine.cn/business/benchmark/Health-risks-propel-interest-in-insurance/shdaily.shtml หัวข้อ Free medical insurance for Shanghai residents affected by coronavirus ฉบับวันที่ 6 มิ.ย. 63/ https://www.shine.cn/biz/finance/2006069667/ และหัวข้อ ZhongAn Online targets family insurance coverage ฉบับวันที่ 8 มิ.ย. 63 https://www.shine.cn/biz/finance/2006089759/

ที่มา : https://thaibizchina.com/