• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • เรียนรู้แนวทางการพัฒนาธุรกิจอาหารไทยกับ “วิทยาลัยเส้นหมี่หลัวซือเฝิ่น”

เรียนรู้แนวทางการพัฒนาธุรกิจอาหารไทยกับ “วิทยาลัยเส้นหมี่หลัวซือเฝิ่น”

ไฮไลท์

  • ปรากฏการณ์ใหม่ในแวดวงธุรกิจคนชอบกินเส้น เมื่อวิทยาลัยเทคนิคอาชีวะหลิ่วโจวได้จัดตั้ง “วิทยาลัยเส้นหมี่หลัวซือเฝิ่น” แห่งแรกของจีน โดยมุ่งอบรมบุคลากรให้มีองค์ความรู้ที่ทันสมัยในด้านการผลิตและการพัฒนาธุรกิจที่สอดคล้องกับระบบนิเวศและเศรษฐกิจกระแสใหม่เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว
  • วิทยาลัยฯ ได้ออกแบบหลักสูตรใน 7 สาขาวิชา ได้แก่ การผลิตและตรวจสอบอาหารที่ปลอดภัย เทคโนโลยีการตรวจทดสอบอาหาร การบริหารจัดการและการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ การออกแบบและผลิตสื่อโฆษณา การตลาด การบริหารจัดการเฟรนไชส์ และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) โดยสามารถผลิตบุคลากรได้รุ่นละ 500 คน
  • ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่น่าสนใจในการประยุกต์ใช้กับธุรกิจอาหารของไทยภายใต้ยุทธศาสตร์ “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ซึ่งมุ่งเน้นการบูรณาการตลอดห่วงโซ่อุปทานของสินค้าและบริการด้านอาหาร รวมทั้งการพัฒนาปัจจัยสนับสนุนสำหรับการพัฒนาสินค้าอาหารในรูปแบบของสถาบันการศึกษาเฉพาะทาง เพื่อให้การผลิตและการส่งออกสินค้าอาหารไทยมีคุณภาพและมาตรฐาน

ตลาดธุรกิจ “เส้นหมี่หลัวซือเฝิ่น” (螺蛳粉) หรือเส้นหมี่ท้องถิ่นที่ปรุงจากการเคี่ยวน้ำซุปหอยขม มีแนวโน้มการเติบโตอย่างรวดเร็วตลอดหลายปีมานี้ ธุรกิจที่เริ่มต้นจากร้านเล็กๆ ข้างทาง เติบโตขึ้นเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงกว่า 1.3 หมื่นล้านหยวนในปี 2562

เส้นหมี่หลัวซื่อเฝิ่น เป็นอาหารท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงของเมืองหลิ่วโจวในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง มีทีเด็ดอยู่ที่น้ำซุปรสหอยขมที่มีรสชาติเผ็ดจัดจ้าน เส้นเหนียวนุ่มหนึบ ผสมผสานกับเครื่องเคียงที่หลากหลาย ปัจจุบัน เส้นหมี่ชนิดนี้มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทุกเพศทุกวัยทั้งในและต่างประเทศ (มีจำหน่ายกว่า 100 ประเทศทั่วโลกแล้ว) เนื่องจากความโดดเด่นในเรื่องรสชาติ ความชัดเจนในแง่นโยบายและการสนับสนุนอย่างจริงจังขององค์กรภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนการพัฒนาแผนการตลาดและโฆษณาที่เข้าถึงผู้บริโภค

เมื่อปี 2558 มูลค่าการผลิตเส้นหมี่หลัวซือเฝิ่นอยู่ที่ 500 ล้านหยวน ในเวลาเพียง 5 ปี มูลค่าการผลิตในห่วงโซ่อุปทานเส้นหมี่หลัวซื่อเฝิ่นเติบโตขึ้นแตะระดับ 1.3 หมื่นล้านหยวนในปีที่ผ่านมา (ปี 2562) โดยเป็นยอดการผลิตเส้นหมี่หลัวซือเฝิ่นกึ่งสำเร็จรูป 6,000 ล้านหยวน (ขณะที่ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยมีมูลค่าราว 4,000 ล้านหยวน) สร้างอาชีพได้มากกว่า 2.5 แสนตำแหน่ง

ปัจจุบัน โรงงานผลิตเส้นหมี่กึ่งสำเร็จรูปในเมืองหลิ่วโจวมีกำลังการผลิตมากกว่าวันละ 2.5 ล้านซอง ยอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่า เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และคาดว่าในปี 2563 เส้นหมี่หลัวซือเฝิ่นกึ่งสำเร็จรูปจะมีมูลการผลิตทะลุ 1 หมื่นล้านหยวน และเมื่อมูลค่าการผลิตเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นหมายความว่า อุตสาหกรรมจำเป็นต้องมีบุคลากรเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

การเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมเส้นหมี่หลัวซือเฝิ่นก่อให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้างในอุตสาหกรรม การขาดแคลนบุคลากรระดับชำนาญการ (ระดับกลางและสูง) การใช้เครื่องจักรอัตโนมัติในระบบสายการผลิตยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ การพัฒนาแบรนด์สินค้ายังขาดความสมบูรณ์ และนวัตกรรมเทคโนโลยี (Core Technology) ยังล้าสมัย

เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้และเตรียมพร้อมสำหรับความต้องการในอนาคต ทั้ง 3 หน่วยงาน ได้แก่ รัฐบาลเมืองหลิ่วโจว วิทยาลัยเทคนิคอาชีวะหลิ่วโจว และภาคธุรกิจ ได้ร่วมกันจัดตั้ง “วิทยาลัยอุตสาหกรรมหลัวซือเฝิ่น” ภายใต้ธงของวิทยาลัยเทคนิคอาชีวะหลิ่วโจว (Liuzhou Vocational & Technical College/柳州职业技术学院) โดยมุ่งผลิตบุคลากรให้มีองค์ความรู้ที่ทันสมัยในด้านการผลิตและการพัฒนาธุรกิจที่สอดคล้องกับระบบนิเวศและเศรษฐกิจกระแสใหม่เพื่อรองรับการพัฒนาในอุตสาหกรรมดังกล่าวที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว

วิทยาลัยฯ ได้ออกแบบหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับเส้นหมี่หลัวซือเฝิ่นใน 7 สาขาวิชา ได้แก่ การผลิตและตรวจทดสอบอาหารที่ปลอดภัย เทคโนโลยีการตรวจทดสอบอาหาร การบริหารจัดการและการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ การออกแบบและผลิตโฆษณา การจัดการแผนการตลาด การบริหารจัดการเฟรนไชส์ และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) โดยสามารถผลิตบุคลากรได้รุ่นละ 500 คน

นอกจากนี้ ทั้ง 3 หน่วยงานได้ร่วมกัน (1) พัฒนามาตรฐานหลักสูตรและสื่อการเรียนการสอน พัฒนาทีมผู้สอน เพื่อร่วมกันเปิดชั้นเรียนเฉพาะกิจและฝึกอบรมผู้เรียนโดยการถ่ายทอดประสบการณ์จริงของครูและนักธุรกิจ (2) พัฒนาศูนย์การวิจัย พัฒนา และประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ฐานการฝึกอบรมแบบปฏิบัติจริง และศูนย์บริการเทคโนโลยีบิ๊กดาต้าสำหรับเส้นหมี่หลัวซือเฝิ่น และ (3) พัฒนาวัฒนธรรมเส้นหมี่หลัวซือเฝิ่น

ตามรายงาน การจัดตั้งสถาบันเพื่อการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้านแบบวิทยาลัยอุตสาหกรรมหลัวซือเฝิ่นนี้กำลังแพร่หลายในจีน เนื่องจากความกว้างใหญ่ไพศาลของพื้นที่และความแตกต่างของวัฒนธรรมการบริโภค ทำให้แต่ละพื้นที่มีอาหารที่มีชื่อเสียงแตกต่างกันไปด้วย เช่น วิทยาลัยกุ้งเครย์ฟิช หรือที่คนจีนเรียกว่า “เสี่ยวหลงเซีย” หรือจะเป็นวิทยาลัยบะหมี่เย่อกานเมี่ยนของนครอู่ฮั่น และวิทยาลัยราเม็งของนครหลานโจว ดังนั้น การสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงให้พัฒนาอย่างยั่งยืนต้องอาศัยกลไก/ระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพเพื่อเสริมองค์ความรู้และยกระดับการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่น่าสนใจในการประยุกต์ใช้กับธุรกิจอาหารของไทยภายใต้ยุทธศาสตร์ “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ซึ่งมุ่งเน้นการบูรณาการตลอดห่วงโซ่อุปทานของสินค้าและบริการด้านอาหาร และการพัฒนาปัจจัยสนับสนุนในการพัฒนาสินค้าอาหารในรูปแบบของสถาบันการศึกษาเฉพาะทาง เพื่อให้การผลิตและการส่งออกสินค้าอาหารไทยมีคุณภาพ มาตรฐาน และความเป็นไทยแท้ โดยเฉพาะอาหารไทยที่เป็นอาหารจานด่วนและอาหารตระกูลเส้นที่มีอยู่หลากหลายและเป็นที่รู้จัก เช่น ก๋วยเตี๋ยวต้มยำกุ้ง ก๋วยเตี๋ยวน้ำตก ก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟ โดยสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าด้วยการจัดเครื่องเคียงผ่านกรรมวิธีอบแห้งหรือการทำบรรจุภัณฑ์สุญญากาศที่ไม่ใช่แค่เส้นบะหมี่กับซองเครื่องปรุง รวมทั้งเพิ่มเทคโนโลยีการอุ่นร้อน (ราคาขายปลีกของเส้นหมี่หลัวซือเฝิ่นกึ่งสำเร็จรูปเริ่มตั้งแต่ 20 หยวนขึ้นไป)

การขับเคลื่อนนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” เริ่มต้นได้ง่ายๆ โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย

                           

 

จัดทำโดย นางสาววัชราภรณ์  พรหมพินิจ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中国新闻网) ประจำวันที่ 28 พฤษภาคม 2563
ภาพประกอบ www.freepik.com

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]