แนวทางบริหารจัดการ “มะม่วง” จีนกับโอกาสมะม่วงไทย

ไฮไลท์

  • เมืองไป่เซ่อของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงดำเนินมาตรการจัดระเบียบตลาดมะม่วงด้วยการกำหนดเวลาการเก็บเกี่ยวมะม่วงสายพันธุ์หลัก เพื่อป้องกันปัญหาการเก็บผลมะม่วงอ่อนและสร้างหลักประกันด้านคุณภาพ รสชาติ และความสุกของมะม่วงที่ออกสู่ตลาด อีกทั้งเป็นการสร้างอำนาจต่อรองและช่วยให้ผลผลิตมะม่วงได้ราคาดี โดยปีนี้ ได้กำหนดให้เริ่มเก็บเกี่ยวมะม่วงตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563
  • ช่วงเวลาการออกสู่ตลาดที่คลาดกันเป็นช่องว่างทางการตลาดที่มะม่วงไทยสามารถเข้ามาขยายตลาดในกว่างซีและกระจายสู่มณฑลรอบข้างได้ กล่าวคือ มะม่วงไทยออกสู่ตลาดก่อนช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมของทุกปี ขณะที่มะม่วงไป่เซ่อออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม
  • ผู้ส่งออกสามารถใช้ความได้เปรียบจากที่ตั้งของไทยที่อยู่ไม่ไกลจากกว่างซีในการส่งออกมะม่วงด้วยรถบรรทุกผ่านถนน R8 R9 และ R12 เข้าที่ด่านโหย่วอี้กวานหรือด่านตงซิง หรือจะใช้รถบรรทุกต่อรถไฟที่สถานีด่งดังของเวียดนามเข้าที่ด่านรถไฟผิงเสียง และการขนส่งทางทะเลจากท่าเรือแหลมฉบังไปยังท่าเรือชินโจวและท่าเรือเมืองฝางเฉิงก่าง
  • การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ (Packaging) ที่สามารถปกป้องผลมะม่วงระหว่างการขนส่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากมะม่วงเป็นผลไม้เปลือกบาง บอบช้ำง่าย จึงต้องใช้ความพิถีพิถันในการคัดเลือกบรรจุภัณฑ์ที่แข็งแรง ทนทานและมีการเจาะรูเพื่อระบายอากาศ เพื่อป้องกันไม่ให้มะม่วงอับชื้นจนเน่าเสียได้ง่าย ร่วมกับการใช้ระบบโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็น (cold chain) เพื่อรักษาความสดใหม่ของผลมะม่วง
  • การพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์ม e-Commerce ที่เข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้างหรือการไลฟ์สด (Live streaming) ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในขณะนี้ ด้วยพลเมืองเน็ต (Netizen) ที่มีมหาศาลกว่า 903 ล้านคน (มากกว่าประชากรไทยเกือบ 13 เท่า) และผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ 897 ล้านคน ลองคิดดูเล่น ๆ ว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวจีนสั่งมะม่วงผ่านระบบออนไลน์เพียงแค่คนละลูก เราจะสร้างยอดขายได้มากแค่ไหน??

 

ด้วยสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสม ทำให้เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเป็นมณฑลหนึ่งในจีนที่สามารถปลูกผลไม้เมืองร้อนได้หลากหลายชนิดตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมที่ผลไม้เมืองร้อนท้องถิ่นหลายชนิดเริ่มทยอยออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ทั้งมะม่วง ลิ้นจี่ และลำไย

หนึ่งในแหล่งปลูกผลไม้เมืองร้อนที่ขึ้นชื่อของกว่างซี คือ เมืองไป่เซ่อ (Baise City/百色市) ที่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของมณฑล เป็นแหล่งปลูก “มะม่วง” ที่มีชื่อเสียงของประเทศจีน โดยเฉพาะในอำเภอเถียนหยาง (Tianyang County/田阳县) และอำเภอเถียนตง (Tiandong County/田东县)

ตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไปจะเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวมะม่วงของเมืองไป่เซ่อ ชาวสวนมะม่วงในเมืองไป่เซ่อมีการปลูกมะม่วงมากถึง 30 สายพันธุ์ หลายปีมานี้ นอกจากการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาสายพันธุ์และเทคนิคการปลูกมะม่วงหลากหลายพันธุ์แล้ว เมืองไป่เซ่อยังมีแนวทางการพัฒนา “อุตสาหกรรมมะม่วง” ได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งประเทศไทยสามารถเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ได้

นั่นคือ มาตรการจัดระเบียบตลาดมะม่วงด้วยการกำหนดเวลาการเก็บเกี่ยวมะม่วง 11 สายพันธุ์ที่ปลูกอย่างแพร่หลาย มาตรการดังกล่าวเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2558 เพื่อป้องกันปัญหาการเก็บผลมะม่วงอ่อน ซึ่งส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของมะม่วงไป่เซ่อ และเป็นการสร้างหลักประกันด้านคุณภาพ รสชาติ และความสุกของผลมะม่วงที่ออกสู่ตลาด อีกทั้งเป็นการสร้างอำนาจการต่อรองและช่วยให้ผลผลิตมะม่วงได้ราคาดีด้วย โดยปีนี้ รัฐบาลได้กำหนดให้สามารถเก็บเกี่ยวมะม่วงไปจำหน่ายในตลาดตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ถึงช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2563

การที่ “มะม่วง” เป็นผลไม้ที่ชาวจีนนิยมบริโภค ทั้งการรับประทานผลสด มะม่วงแปรรูป หรือแม้กระทั่งการนำไปปรุงกับอาหารคาว จึงเป็นโอกาสสำหรับมะม่วงไทย ยิ่งในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่เคยเดินทางไปเที่ยวไทยแล้ว คงรู้จักและติดใจรสชาติมะม่วงไทยจากเมนูข้าวเหนียวมะม่วง และทำให้เมนูนี้กลายเป็นเมนูของหวานสุดฮิตของร้านอาหารไทยในจีน ซึ่งส่วนใหญ่ใช้มะม่วงท้องถิ่นที่รสชาติและเนื้อสัมผัสยังสู้มะม่วงน้ำดอกไม้ไทยไม่ได้ ดังนั้น การส่งเสริมการบริโภคมะม่วงไทยในตลาดจีนก็คงไม่ใช่เรื่องยาก

โอกาสสำหรับมะม่วงไทยอยู่ตรงไหน…ช่วงเวลาการออกสู่ตลาดที่คลาดกันเป็นช่องว่างทางการตลาดที่มะม่วงไทยจะเข้ามาขยายตลาดในพื้นที่กว่างซีและกระจายสู่มณฑลรอบข้างได้ กล่าวคือ มะม่วงไทยออกสู่ตลาดก่อนในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ขณะที่มะม่วงไป่เซ่อออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ดังนั้น ผู้ส่งออกสามารถใช้ความได้เปรียบจากที่ตั้งของไทยที่อยู่ไม่ไกลจากกว่างซี ส่งออกมะม่วงด้วยรถบรรทุกผ่านถนน R8 R9 และ R12 เข้าที่ด่านโหย่วอี้กวานและด่านตงซิง หรือจะใช้รถบรรทุกต่อรถไฟที่สถานีด่งดังของเวียดนามเข้าที่ด่านรถไฟผิงเสียง และการขนส่งทางทะเลจากท่าเรือแหลมฉบังไปยังท่าเรือชินโจวและท่าเรือเมืองฝางเฉิงก่างได้

ข้อควรคำนึงสำหรับผู้ส่งออกไทย นอกจากการเลือกเส้นทางการขนส่งแล้ว การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ (Packaging) ที่สามารถปกป้องผลมะม่วงระหว่างการขนส่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากมะม่วงเป็นผลไม้เปลือกบาง บอบช้ำง่าย จึงต้องใช้ความพิถีพิถันในการคัดเลือกบรรจุภัณฑ์ที่แข็งแรง ทนทานและมีการเจาะรูเพื่อระบายอากาศ เพื่อป้องกันไม่ให้มะม่วงอับชื้นจนเน่าเสียได้ง่าย ร่วมกับการใช้ระบบโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็น (cold chain) เพื่อรักษาความสดใหม่ของผลมะม่วง

สุดท้าย คือ การพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์ม e-Commerce ที่เข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้าง เช่น taobao.com (淘宝) และ jd.com (京东) รวมถึงแอปพลิเคชันร้านค้าผลไม้เฟรนไชส์น้อยใหญ่ และผู้ค้ารายย่อยใน wechat อีกจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน หรือการไลฟ์สด (Live streaming) ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในขณะนี้ ด้วยพลเมืองเน็ต (Netizen) ที่มีมหาศาลกว่า 903 ล้านคน (มากกว่าประชากรไทยเกือบ 13 เท่า) และผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ 897 ล้านคน ท่านผู้อ่านลองคิดดูเล่น ๆ ว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวจีนสั่งมะม่วงผ่านระบบออนไลน์เพียงแค่คนละลูก เราจะสร้างยอดขายได้มากแค่ไหน??

กรณีศึกษาข้างต้นเป็นแนวทางที่ชาวสวนผลไม้ไทยสามารถนำไปปรับใช้เพื่อพัฒนาผลผลิตภายในประเทศและส่งเสริมช่องทางการจัดจำหน่ายผลไม้ไทยในตลาดจีนได้ เพราะในยุคที่เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในชีวิตประจำวัน แฝงตัวในทุกกิจกรรมจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราๆ ท่านๆ ซึ่งการเข้ามาของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มักสร้างพฤติกรรมใหม่ให้กับผู้บริโภค ดังนั้น การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ให้ได้อย่างเหมาะสมย่อมเป็นการสร้างโอกาส “ทำเงิน” ให้กับผู้ที่พร้อมและมองเห็นโอกาสนั้นๆ เสมอ

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 28 พฤษภาคม 2563
รูปประกอบ www.sohu.com

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]