• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • ส่านซีลุย E-Commerce ชนบท มุ่งพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์เกษตรท้องถิ่น – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ส่านซีลุย E-Commerce ชนบท มุ่งพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์เกษตรท้องถิ่น – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

กระทรวงเกษตรและชนบท และสถาบันวิจัยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จีน ได้จัดทำรายงานการค้าเกษตรออนไลน์ (National County Digital Agriculture Rural E-commerce Development Report) ระบุว่า ในปี 2562 การค้าออนไลน์ในพื้นที่ชนบท จำนวน 2,083 อำเภอของจีน มีมูลค่าสูงถึง 3.09 ล้านล้านหยวน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29.12 ของมูลค่าการค้าออนไลน์ทั้งประเทศ โดยในจำนวนนี้เป็นยอดค้าปลีกออนไลน์ในพื้นที่ชนบทยากจน 832 อำเภอ มูลค่า 107,610 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 ร้อยละ 31.2 เป็นผลมาจากการสนับสนุนของภาครัฐและภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลสามารถใช้สื่อออนไลน์ทำการตลาดสินค้าที่ผลิตในท้องถิ่นได้ด้วยตนเอง ลดการพึ่งพาพ่อค้าคนกลางในการทำตลาดเหมือนในอดีต

จากรายงานข้างต้น หากจำแนกจากประเภทสินค้าแล้ว พบว่าแนวโน้มการจำหน่ายกลุ่มที่มิใช่สินค้าจริง (Non-physical goods) อาทิ บัตรกำนัล และคูปองส่วนลด เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 66.4 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการใช้กระตุ้นผู้บริโภคให้ตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้พบว่ากลุ่มสินค้าที่มียอดค้าปลีกออนไลน์ในพื้นที่ชนบทสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่

(1) อุปกรณ์และเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน 680,850 ล้านหยวน

(2) เครื่องนุ่งห่ม 667,240 ล้านหยวน

(3) เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน 313,400 ล้านหยวน

(4) อาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 268,830 ล้านหยวน และ

(5) ของใช้แม่และเด็ก 210,860 ล้านหยวน

อัตราการเติบโตเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 ร้อยละ 22, 21.6, 10.1, 8.7 และ 6.8 ตามลำดับ

ข้อมูลจาก National County Digital Agriculture Rural E-commerce Development Report หน้า 13

แสดงให้เห็นว่าอำเภอในภูมิภาคจีนตะวันตกเฉียงเหนือไม่ติด 100 อันดับแรก

ในส่วนของการค้าปลีกออนไลน์ของสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปในพื้นที่ชนบทของจีนปี 2562 มีมูลค่า 269,310 ล้านหยวน โดยเป็นยอดจำหน่ายสินค้าเกษตรแปรรูปจากพื้นที่ชนบทยากจน 832 อำเภอทั่วประเทศราว19,080 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 ร้อยละ 23.9

อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมการเติบโตของการค้าปลีกออนไลน์ในพื้นที่ชนบทของจีนจะมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี แต่การเติบโตมักกระจุกตัวอยู่ในภาคตะวันออกและภาคใต้ของจีนเสมอ เนื่องด้วยมีปัจจัยพื้นฐานรองรับการค้าออนไลน์ที่สมบูรณ์กว่าพื้นที่ตะวันตก อาทิ เป็นแหล่งที่ตั้งคลังสินค้าขนาดใหญ่ และมีสภาพแวดล้อมส่งเสริมให้สามารถเข้าถึงการทำธุรกิจออนไลน์ได้ง่าย สอดคล้องกับรายงานของ O-Data Consulting บริษัทตรวจสอบและวิจัยข้อมูลการค้าปลีกออนไลน์จีนที่ระบุว่า ในปี 2562 การค้าปลีกออนไลน์ของภูมิภาคตะวันออกมีมูลค่าสูงถึง 1.87 ล้านล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60.4 ในขณะที่สัดส่วนการค้าปลีกออนไลน์ในพื้นที่ทางตอนใต้และภูมิภาคตะวันตก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.6 และ 1.8 ของมูลค่าการค้าปลีกออนไลน์ทั้งประเทศเท่านั้น

O-Data Consulting ยังได้จัดอันดับมณฑลที่มียอดค้าปลีกออนไลน์สูงสุดในพื้นที่จีนตะวันตกพบว่า มณฑลส่านซีอยู่ในลำดับที่ 6 รองจากมณฑลเสฉวน ยูนนาน เขตฯ มองโกเลียใน นครฉงชิ่ง และเขตฯ กว่างซีจ้วง ทำให้ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลมณฑลส่านซีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนการค้าปลีกออนไลน์อย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตร ซึ่งมณฑลส่านซีมีการผลิตและแปรรูปได้เอง อาทิ ชาฝูซี ชาเซียนหาว เห็ดหูหนู พุทรา วอลนัท ทับทิม และพริกต้าหงพ่าว ผ่านการตลาดออนไลน์ที่เน้นสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าเกษตรผ่าน Influencer ชื่อดังพิธีกร สื่อต่างๆ รวมถึงผู้นำระดับท้องถิ่น ซึ่งมักได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค โดยรัฐบาลมณฑลส่านซีได้ร่วมมือกับแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ชื่อดัง อาทิ Taobao Alibaba Juhuasuan และ Pinduoduo เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรแปรรูป ซึ่งเป็นเป้าหมายที่รัฐบาลมณฑลส่านซีให้การส่งเสริมมากขึ้น เนื่องจากการตลาดออนไลน์สามารถทำได้ทุกที่ ใช้เงินลงทุนไม่มาก เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์สื่อสารเท่านั้น เป็นอีกหนึ่งข้อดีที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นภายหลังวิกฤต COVID19 ที่แรงงานจำนวนไม่น้อยได้รับผลกระทบจากการจ้างงานในเขตเมือง

นายกเทศมนตรีเมืองฮั่นจง Livestreaming แนะนำผลิตภัณฑ์ชาท้องถิ่น /

พิธีกรบรรยายข้อดีของการเลี้ยงสุกรแบบเสรีใน อ. ลั่วหนาน เมืองซั่งลั่ว

นอกจากนี้ มณฑลส่านซียังตั้งเป้าหมายพัฒนาช่องทางการจัดส่งสินค้าให้สะดวกและตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น โดยเฉพาะเป้าหมายการให้ความรู้ด้านการจัดการและการขนส่งสินค้าจากเกษตรกรผู้ผลิตให้ถึงมือผู้บริโภคโดยตรง สนับสนุนองค์ความรู้ให้เกษตรกรผู้ผลิตสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปที่มีคุณภาพสูงผ่านระบบจัดการสินค้าที่สามารถรักษาคุณภาพของสินค้าเกษตรไว้ได้ครบถ้วน และเพื่อให้พร้อมต่อการเข้าร่วมโครงการอำเภอเกษตรออนไลน์นำร่อง 100 แห่งที่กระทรวงเกษตรและชนบทมีแผนจะจัดตั้งขึ้นในช่วงปลายปี 2564 เพื่อเป็นเครือข่ายการค้าปลีกออนไลน์ชนบทที่ครอบคลุมทั่วประเทศ และใช้เป็นช่องทางเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศ

ข้อมูลอ้างอิง

1.http://english.mofcom.gov.cn/article/newsrelease/counselorsoffice/westernasiaandafricareport/202005/2020050296224.shtml

2.http://sd.sina.com.cn/news/2020-05-11/detail-iircuyvi2421348.shtml?wm=3049_00051042040852

3.http://www.chinadaily.com.cn/a/202005/12/WS5eb9e717a310a8b241154e4b.html

4.National County Digital Agriculture Rural E-commerce Development Report

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]