กว่างซีปั้น Hub ขนสินค้าทางรถไฟระหว่างประเทศมุ่งสู่อาเซียน

ไฮไลท์

  • รัฐบาลกว่างซีเร่งเดินหน้าโครงการ “ศูนย์รถไฟนานาชาตินครหนานหนิง” เพื่อพัฒนาให้นครหนานหนิงก้าวขึ้นเป็นชุมทางการขนส่งทางรถไฟระหว่างประเทศกับอาเซียน รองรับการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก (New Western Land-Sea Corridor – NWLSC) เป็นศูนย์กลางการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบระดับภูมิภาค และเป็นพื้นที่การพัฒนาอุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ที่ครบวงจรและทันสมัย
  • “ศูนย์รถไฟนานาชาตินครหนานหนิง” เป็นหนึ่งใน Key Project ที่รัฐบาลกว่างซีสร้างขึ้นเพื่อขับเคลื่อนเส้นทางการขนส่ง มีบริษัท Nanning International Railway Port Development and Operation Co.,Ltd. (南宁国际铁路港开发运营有限公司) ภายใต้การสนับสนุนของเทศบาลนครหนานหนิงและการรถไฟนครหนานหนิง เป็นผู้ดำเนินการ
  • ศูนย์แห่งนี้ให้บริการทั้งการขนส่งและกระจายสินค้า โกดังสินค้า การแปรรูปและบรรจุหีบห่อ การฝากสินค้าและสินค้าทัณฑ์บน(ปลอดภัย) การซื้อขายสินค้า ข้อมูลสารสนเทศ อีคอมเมิร์ซ และการเช่าซื้อ (Leasing) เน้นสินค้ากลุ่มหลัก อาทิ เหล็กกล้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกษตร และเครื่องไฟฟ้าโลหะ
  • การเปิดศูนย์รถไฟสินค้าครั้งนี้ช่วยยกระดับฟังก์ชันด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ทางรถไฟในภูมิภาค ช่วยดึงดูดให้ภาคธุรกิจบริการในพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาลงทุนที่นครหนานหนิง ช่วยส่งเสริมการเป็น “ฮับ” การกระจายสินค้าระดับภูมิภาค และกระตุ้นการพัฒนาการค้า e-Commerce ระหว่างประเทศอีกด้วย

 

รัฐบาลกว่างซีเร่งเดินหน้าโครงการ “ศูนย์รถไฟนานาชาตินครหนานหนิง” เพื่อพัฒนาให้นครหนานหนิงก้าวขึ้นเป็นชุมทางการขนส่งทางรถไฟระหว่างประเทศกับอาเซียน รองรับการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก (New Western Land-Sea Corridor – NWLSC) เป็นศูนย์กลางการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบระดับภูมิภาค และเป็นพื้นที่การพัฒนาอุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ที่ครบวงจรและทันสมัย โดยคาดหมายว่าโครงการทั้งหมดจะก่อสร้างเสร็จภายในปลายปี 2566

“ศูนย์รถไฟนานาชาตินครหนานหนิง” เป็นหนึ่งใน Key Project ที่รัฐบาลกว่างซีสร้างขึ้นเพื่อขับเคลื่อนเส้นทางการขนส่ง มีบริษัท Nanning International Railway Port Development and Operation Co.,Ltd. (南宁国际铁路港开发运营有限公司) ภายใต้การสนับสนุนของเทศบาลนครหนานหนิงและการรถไฟนครหนานหนิง เป็นผู้ดำเนินการ (บริษัทฯ เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา)

ศูนย์แห่งนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของนครหนานหนิง (คาบเกี่ยวระหว่างเขตเจียงหนานกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจ) มีเนื้อที่ประมาณ 3,392 ไร่ มีมูลค่าเงินลงทุน 13,000 ล้านหยวน ได้รับการออกแบบให้สามารถรองรับปริมาณการขนส่งได้ปีละ 20 ล้านตัน แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 4 เฟส ได้แก่

เฟสแรก เน้นฟังก์ชันการขนส่งทางรถไฟ อาทิ รางรถไฟที่ใช้ขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ รางรถไฟที่ใช้ขนถ่ายสินค้าขนาดใหญ่ เขตโลจิสติกส์สินค้าบรรจุหีบห่อทางถนน เขตโลจิสติกส์สินค้าเกษตร และรางรถไฟที่ใช้ขนส่งเหล็กกล้า เปิดให้บริการฟังก์ชันการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์และสินค้าขนาดใหญ่ไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2561 ส่วนฟังก์ชันที่เหลือ คาดว่าจะผ่านการตรวจรับและเปิดให้บริการได้ภายในปลายเดือนสิงหาคม 2563 (ตั้งแต่เปิดให้บริการ มีการจัดส่งสินค้าไปแล้ว 5.429 ล้านตัน)

เฟสที่ 2 (ปี 2562-2564) แบ่งออกเป็นพื้นที่ 3 ส่วน คือ เขตโลจิสติกส์เพื่อการกระจายสินค้า เขตโลจิสติกส์สินค้าเกษตร และเขตโลจิสติกส์เหล็กกล้าและด่านถนน

เฟสที่ 3 (ปี 2563-2565) แบ่งออกเป็นพื้นที่ 2 ส่วน คือ เขตโลจิสติกส์ตู้คอนเทนเนอร์เย็นและย่านใจกลางธุรกิจ

เฟสที่ 4 (ปี 2564-2566) แบ่งออกเป็นพื้นที่ 3 ส่วน คือ เขตกระจายสินค้าย่านเมือง เขตโลจิสติกส์ยานยนต์ และเขตบริการที่พักอาศัย

ฟังก์ชันหลักของ “ศูนย์รถไฟนานาชาตินครหนานหนิง” อยู่ภายใต้โมเดล 1 ศูนย์กลาง 2 ท่า 7 เขตกล่าวคือ

“1 ศูนย์กลาง” หมายถึง ย่านศูนย์กลางธุรกิจ

“2 ท่า” ได้แก่ ท่ารถไฟ เน้นการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ และท่ารถ(ทางถนน) เน้นงานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ

“7 เขต ได้แก่ เขตโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็น เขตโลจิสติกส์เพื่อการกระจายสินค้า (Port logistics) เขตโลจิสติกส์สินค้าเกษตร เขตโลจิสติกส์ยานยนต์ เขตโลจิสติกส์เหล็กกล้า เขตกระจายสินค้าสู่พื้นที่ตัวเมือง และเขตบริการที่พักอาศัย

ศูนย์ดังกล่าวเป็น “ข้อต่อ” สำคัญในการขนส่งสินค้าของชุมทางรถไฟนครหนานหนิงที่จะช่วยให้การกระจายสินค้าทั้งในมณฑลและระหว่างมณฑลมีความสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสายตะวันออกผ่านเมืองหลิ่วโจวไปยังมณฑลตอนกลาง (หูหนาน) ตะวันตก (กุ้ยโจว ฉงชิ่ง เสฉวน) และตะวันออก (กวางตุ้ง) ของประเทศ สายตะวันตก ไปยังอำเภอระดับเมืองผิงเสียงจนถึงเวียดนาม และมณฑลตะวันตก (ยูนนาน กุ้ยโจว เสฉวน) สายใต้ ไปยังเมืองรอบอ่าวเป่ยปู้ (เป๋ยไห่ ชินโจว ฝางเฉิงก่าง) สายเหนือ เชื่อมต่อกับระบบงานขนส่งประเภทอื่น เช่น รถบรรทุก เครื่องบิน และระบบงานขนส่งหลายรูปแบบเรือต่อรถไฟ เครื่องบินต่อรถไฟ

ศูนย์แห่งนี้ให้บริการทั้งการขนส่งและกระจายสินค้า โกดังสินค้า การแปรรูปและบรรจุหีบห่อ การฝากสินค้าและสินค้าทัณฑ์บน(ปลอดภัย) การซื้อขายสินค้า ข้อมูลสารสนเทศ อีคอมเมิร์ซ และเช่าซื้อ (Leasing) โดยเน้นสินค้ากลุ่มหลัก อาทิ เหล็กกล้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกษตร และเครื่องไฟฟ้าโลหะ

การเปิดให้บริการศูนย์รถไฟสินค้าครั้งนี้ช่วยยกระดับฟังก์ชันด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ทางรถไฟในภูมิภาค ช่วยดึงดูดให้ภาคธุรกิจบริการในพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาลงทุนที่นครหนานหนิง ช่วยส่งเสริมการเป็น “ฮับ” การกระจายสินค้าระดับภูมิภาค และกระตุ้นการพัฒนาการค้า e-Commerce ระหว่างประเทศได้อีกด้วย

 

 

จัดทำโดย นางสาววัชราภรณ์  พรหมพินิจ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中国新闻网) ประจำวันที่ 8 พฤษภาคม 2563
      เว็บไซต์ www.gx.sina.cn (新浪广西) ประจำวันที่ 7 พฤษภาคม 2563
      เว็บไซต์ www.gx.sina.cn (新浪广西) ประจำวันที่ 12 เมษายน 2562
ภาพประกอบ www.freepik.com

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]