เรียนรู้แนวทางการระบายสินค้าเกษตรของกว่างซี

ไฮไลท์

  • ภาครัฐของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงช่วยเกษตรกรขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรในฤดูกาล โดยเฉพาะผลไม้และผักสด ซึ่งนอกจากจะช่วยระบายสินค้าแล้ว ยังช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในยามโควิด-19 ระบาด ช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้คนในพื้นที่ และช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนได้อีกด้วย
  • สมาคมตลาดสินค้าเกษตรแห่งประเทศจีน (Chinese Agri-produce Marketing Association) เป็นอีกกลไกสำคัญที่ช่วยจำหน่ายสินค้าเกษตรในกว่างซี เนื่องจากสมาคมฯ มีเครือข่ายสมาชิกที่เป็นตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรขนาดใหญ่อยู่ทั่วประเทศจำนวนมาก
  • ในหลายเมือง/อำเภอได้จัดให้ รองนายกเทศมนตรีเมือง/นายอำเภอ/รองนายอำเภอรับบท “นักขาย” โดยการไลฟ์สด (livesteaming) โดยเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 มีนายอำเภอ 40 ท่าน จัดการไลฟ์สดช่วยเกษตรกรในพื้นที่จำหน่ายสินค้าเกษตร ทั้งการไลฟ์สดในห้องสตูดิโอและจากสวนผลไม้ รวมทั้งมีการจ่ายเงินอุดหนุนค่าเดินทางและค่าที่พักให้กับนักธุรกิจที่ไปสั่งซื้อสินค้าเกษตรในกว่างซีอีกด้วย

 

กรมการเกษตรและชนบท เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ช่วยเกษตรกรขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรในฤดูกาล โดยเฉพาะผลไม้และผักสด ซึ่งนอกจากเป็นการช่วยเกษตรกรในพื้นที่ระบายสินค้าแล้ว ยังช่วยกู้คืนความเสียหายทางเศรษฐกิจของเกษตรกรในยามโควิด-19 ระบาด ช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้คนในพื้นที่ และช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนได้อีกด้วย

การดำเนินการดังกล่าวเป็นประสบการณ์ที่น่าเรียนรู้สำหรับประเทศไทย สรุปได้ 2 แนวทาง ดังนี้

1. หาช่องทางระบายสินค้าผ่านสมาคมสินค้าเกษตร โดยที่กรมการเกษตรและชนบทกว่างซีได้ร่วมมือกับสมาคมตลาดสินค้าเกษตรแห่งประเทศจีน หรือ Chinese Agri-produce Marketing Association (中国农产品市场协会) ซึ่งมีเครือข่ายสมาชิกเป็นตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรขนาดใหญ่อยู่ทั่วประเทศในการช่วยจัดจำหน่ายสินค้าเกษตรของกว่างซี

สมาคมฯ ได้ช่วยกระจายข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าเกษตรของกว่างซีแล้วกว่า 2,060 ข่าว และจัดโครงการนำตลาดค้าส่งขนาดใหญ่จากทั่วประเทศ 20 กว่ารายและธุรกิจด้านการกระจายสินค้าเกษตรเกือบร้อยรายไปยังแหล่งผลิตที่กว่างซี ทำให้มีปริมาณการสั่งซื้อผลไม้และผักสดโดยตรงสะสมรวม 3.05 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 1,660 ล้านหยวน

ตัวอย่างเช่น การสั่งซื้อส้มซาถาง (Shatang Orange/砂糖橘) จากกว่างซีโดยตรง มีปริมาณรวม 1.8 แสนตัน และช่วยให้เกิดการสั่งซื้อต่อ (ทางอ้อม) ได้อีกกว่า 7 แสนตัน ช่วยเกษตรกรกู้คืนความเสียหายทางเศรษฐกิจมากกว่า 1,000 ล้านหยวน ช่วยกู้คืนความเสียหายให้กับคนยากจนกว่า 1.6 แสนครัวเรือน เฉลี่ยครัวเรือนละ 4,000 กว่าหยวน รวมทั้งช่วยกระตุ้นให้แรงงานกลับมาทำงานในสวนส้มได้มากกว่า 90%

ปัจจุบัน ตลาดค้าส่งมากกว่า 20 แห่งจากทั่วประเทศ มีการสั่งซื้อส้มซาถางจากกว่างซีเฉลี่ยวันละ 3,000 – 4,000 ตัน และมีการสั่งซื้อผลไม้และผักสดอื่นๆ อีกมากกว่า 10 ชนิด คิดเป็นปริมาณเฉลี่ยวันละ 2,500 ตัน เพื่อส่งป้อนตลาดทางตอนเหนือของประเทศ

เว็บไซต์สมาคมฯ http://www.chama.org.cn/ (ภาษาจีน)

2. เจ้าหน้าที่รัฐระดับต่างๆ จัดไลฟ์สดขายตรงผู้ซื้อ และมาตรการอุดหนุนที่ตรงจุด ในหลายเมือง/อำเภอได้จัดให้รองนายกเทศมนตรีเมือง/นายอำเภอ/รองนายอำเภอรับบท “นักขาย” โดยการไลฟ์สด (livesteaming) เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 มีนายอำเภอ 40 ท่าน จัดไลฟ์สดช่วยเกษตรกรในพื้นที่จำหน่ายสินค้าเกษตร ทั้งการไลฟ์สดในห้องสตูดิโอและจากสวนผลไม้ รวมทั้งมีการจ่ายเงินอุดหนุนค่าเดินทางและค่าที่พักให้กับนักธุรกิจที่ไปสั่งซื้อสินค้าเกษตรในพื้นที่กว่างซีอีกด้วย

ตัวอย่างเช่น การไลฟ์สดขายสินค้าของนายอำเภอหยงฝู (Yongfu County/永福县) เมืองกุ้ยหลิน ซึ่งทำให้อำเภอหยงฝูมีคำสั่งซื้อส้มซาถางออนไลน์จากลูกค้ามากกว่าร้อยราย เฉลี่ยเดือนละเกือบ 1 หมื่นคำสั่งซื้อ หรือมากกว่า 1.5 แสนตัน และช่วยจำหน่าวยส้มซาถางในเมืองใกล้เคียงได้อีกกว่า 7 แสนตัน หรือการที่เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำอำเภอเซี่ยงโจว (Xiangzhou County/象州县) เมืองหลายปิน จัดไลฟ์สดช่วยเกษตรกรขายส้มว่อกาน (Wogan orange/沃柑) ตรงจากไร่ส้ม ใช้เวลาสั้นๆ เพียง 2 ชั่วโมง มีสถิติคนเข้าชม (hits) มากกว่า 2 แสนคน/ครั้ง ปิดดีลทั้งหมดได้เกือบ 1 แสนตัน

ประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตสินค้าเกษตรชั้นนำ โดยหน่วยงานและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องอาจลองพิจารณานำ 2 แนวทางข้างต้นมาปรับใช้เพื่อระบายสินค้าเกษตรภายในประเทศได้ โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดสถานการณ์ไม่ปกติอย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในตอนนี้ได้

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.xinhuanet.com (广西新华网) วันที่ 31 มีนาคม 2563
        เว็บไซต์ www.gxnews.cn (广西新闻网) วันที่ 3 เมษายน 2563
เครดิตภาพ www.news.sina.cn

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]