ทางเลือก(ไม่)ใหม่ ส่งออกไปจีน ต้อง “ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้” กว่างซี

ไฮไลท์

  • เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงได้ยกระดับประสิทธิภาพระบบงานนำเข้า-ส่งออกตู้สินค้าผ่านท่าเรืออ่าวเป่ยปู้เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และพัฒนาให้ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้เป็น “ท่าเรืออัจฉริยะ” โดยตั้งเป้าหมายว่า ภายในสิ้นปี 2563 กระบวนการนำเข้าจะร่นเวลาลงได้ 35% และการส่งออกร่นเวลาลงได้ 20%
  • ปฏิรูปกระบวนการนำเข้า-ส่งออก กระบวนการเคลียร์สินค้านำเข้าแบบ “2 ขั้นตอน” (รับสินค้าก่อน เคลียร์เอกสารทีหลัง) และพัฒนาระบบ Single window สำหรับการค้าต่างประเทศให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อร่นเวลาในการนำเข้า เช่น การยื่นขอท่าเทียบเรือ การขอลากเรือ และการขอเรือนำร่องผ่านทางออนไลน์
  • ลดค่าใช้จ่าย โดยมีการแสดงบัญชีรายการค่าใช้จ่าย รายละเอียด และขอบเขตการเก็บค่าใช้จ่ายของท่าเรืออ่าวเป่ยปู้อย่างชัดเจน เพื่อป้องกันการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นนอกเหนือจากที่ระบุในบัญชี และเปิดให้หน่วยงานภายนอก (Third party) ได้ประเมินค่าใช้จ่ายของด่านท่าเรือ เพื่อปรับปรุงการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน และดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายกับการเรียกเก็บเงินที่ไม่ถูกต้องของเจ้าหน้าที่

 

เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ได้ยกระดับประสิทธิภาพระบบงานนำเข้า-ส่งออกตู้สินค้าผ่านท่าเรืออ่าวเป่ยปู้เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยตั้งเป้าหมายว่า ภายในสิ้นปี 2563 กระบวนการนำเข้าจะต้องร่นเวลาลงได้ 35% และการส่งออกจะร่นเวลาลงได้ 20% รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องด้วย

ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้กว่างซี หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ “อ่าวตังเกี๋ย” ประกอบด้วยท่าเรือชินโจว ซึ่งเป็นท่าเรือหลัก ท่าเรือฝางเฉิงก่าง และท่าเรือเป๋ยไห่ ตั้งอยู่บนจุดตัดของวงแหวนเศรษฐกิจจีนตอนใน วงแหวนเศรษฐกิจจีนตะวันตกเฉียงใต้ และวงแหวนเศรษฐกิจอาเซียน ที่สำคัญยังเป็น “ประตู” ที่พื้นที่ตอนในของจีนใช้เชื่อมกับโลกภายนอกได้สะดวกที่สุด โดยเฉพาะกับอาเซียน

หลายฝ่ายมองว่า ประสิทธิภาพการทำงานและต้นทุนค่าใช้จ่ายในการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ในระยะยาว รัฐบาลกว่างซีจึงประกาศใช้ “แผนการทำงานเพื่อยกระดับกระบวนการนำเข้า-ส่งออกตู้สินค้าของท่าเรืออ่าวเป่ยปู้กว่างซี”  เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มท่าเรือ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

ปฏิรูปกระบวนการนำเข้า-ส่งออก สำหรับการนำเข้า จะนำกระบวนการเคลียร์สินค้าแบบ “2 ขั้นตอน” และพัฒนาระบบ “การดำเนินพิธีการศุลกากรแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (Single window) สำหรับการค้าต่างประเทศให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และนำเทคโนโลยีต่างๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อร่นเวลาในการนำเข้า เช่น การยื่นขอท่าเทียบเรือ การขอลากเรือ และการขอเรือนำร่องผ่านทางออนไลน์ ซึ่งล้วนช่วยพัฒนาให้ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้สู่การเป็น “ท่าเรืออัจฉริยะ”

หากเปรียบเทียบกับการเคลียร์สินค้าแบบเดิม ผู้นำเข้าจะต้องเตรียมเอกสารประกอบการนำเข้าให้ครบถ้วนในครั้งเดียวก่อนนำไปเคลียร์สินค้า ซึ่ง “ค่าประกันการขนส่ง” (Shipping Insurance) จะสรุปได้ก็ต่อเมื่อเรือสินค้าเข้าเทียบท่าแล้ว หรือในกรณีที่กรอกข้อมูลผิดพลาดหรือตกหล่นแล้วจำเป็นต้องแก้ไขใหม่ ทำให้ต้องใช้เวลาในกระบวนการเคลียร์สินค้านาน

แต่สำหรับกระบวนการเคลียร์สินค้าแบบ 2 ขั้นตอน ระหว่างที่สินค้ากำลังขนส่งมา เมื่อผู้นำเข้าได้รับใบขนสินค้า (B/L) รวมถึงรายการใบอนุญาตการนำเข้าแล้ว ก็สามารถยื่นสำแดงเพื่อขอรับสินค้าก่อนได้เลยและค่อยนำเอกสารประกอบการนำเข้าที่เกี่ยวข้องยื่นเพิ่มเติมต่อศุลกากรภายใน 14 วัน หลังจากเรือสินค้าเทียบท่า ช่วยให้ผู้นำเข้าประหยัดเวลาในการยื่นสำแดงและเคลียร์สินค้า ลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้เป็นอย่างมาก

ลดค่าใช้จ่าย โดยมีการแสดงบัญชีรายการ รายละเอียด และขอบเขตการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายของท่าเรืออ่าวเป่ยปู้อย่างชัดเจน เพื่อป้องกันการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นนอกเหนือจากที่ระบุในบัญชีรายการค่าใช้จ่าย และลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ในกระบวนการนำเข้า-ส่งออก รวมทั้งเปิดให้หน่วยงานภายนอก (Third party) ได้ประเมินค่าใช้จ่ายของด่านท่าเรือ เพื่อปรับปรุงการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน และดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายกับการเรียกเก็บเงินที่ไม่ถูกต้องของเจ้าหน้าที่

โดยผู้นำเข้าที่ต้องการขนตู้สินค้าต่อทางรถไฟตามเส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก (New Western Land-Sea Corridor – NWLSC) ได้ตั้งเป้าหมายว่า กระบวนการตรวจและขนถ่ายสินค้าจะใช้เวลาลดลงจาก 11 ชั่วโมงในปัจจุบัน ให้เหลือเพียง 7 ชั่วโมงภายในปลายปี 2563

ปัจจุบัน ท่าเรือในหัวเมืองการค้าขนาดใหญ่ของจีนมีความแออัดและเกือบจะอิ่มตัวแล้ว กระบวนการตั้งแต่การรอคิวเข้าเทียบท่า การขนถ่ายสินค้าจากเรือลงท่า การตรวจสอบและกักกันโรคสินค้า การเคลียร์เอกสาร และการเคลียร์ตู้สินค้า ล้วนต้องใช้เวลานาน หากเป็นสินค้าที่ต้องการความเร่งด่วน หรือสินค้าเกษตรสด ก็อาจได้รับความเสียหายไม่น้อย

ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้จึงเป็นโอกาสและเป็นอีกตัวเลือกสำหรับผู้ส่งออก(ไทย)ที่จะใช้ประโยชน์จากท่าเรือแห่งนี้ และเชื่อว่ามาตรการข้างต้นจะช่วยดึงดูดให้ผู้ค้าหันมาใช้ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้เพื่อการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเพิ่มมากขึ้นในอนาคต สำหรับผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกสินค้าที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยมีสายเรือ SITC ให้บริการเส้นทางเดินเรือไปยังท่าเรือชินโจวอยู่แล้ว

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gxnews.com.cn (广西新闻频网) วันที่ 3 เมษายน 2563
       เว็บไซต์ http://fun.gxzf.gov.cn (广西政府网) วันที่ 1 เมษายน 2563
      เว็บไซต์ www.sohu.com (搜狐网)
เครดิตภาพ www.hscbw.com

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]