• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • ท่าเรือชินโจว Hub ขนส่งสินค้าเชื่อมจีนตะวันตก – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ท่าเรือชินโจว Hub ขนส่งสินค้าเชื่อมจีนตะวันตก – ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (Thailand Business Information Center in China)

ไฮไลท์

  • “เส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก” (New Western Land-Sea Corridor – NWLSC) เป็นยุทธศาสตร์แห่งชาติที่รัฐบาลกลางใช้ส่งเสริมการพัฒนาภาคตะวันตกของจีน และมีบทบาทเป็นตัวเชื่อมยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหม (BRI) และเขตเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Economic Belt)
  • เส้นทาง NWLSC ได้รับความนิยมจากผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกในพื้นที่จีนตอนในเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ปริมาณการขนส่งตู้สินค้าของท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ขยายตัวเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศจีน โดยเฉพาะผู้ประกอบการในนครฉงชิ่งและมณฑลเสฉวนได้หันมาใช้ประโยชน์จากโมเดลการขนส่งดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นแทนการขนส่งแบบเดิมที่ใช้การล่องผ่านแม่น้ำแยงซีเกียง (เข้า-ออกที่นครเซี่ยงไฮ้)
  • ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนของการขนส่งในรูปแบบ “รถไฟ+ท่าเรือ” คือ ประสิทธิภาพงานบริการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีความปลอดภัย คล่องตัว และตรงเวลา รวมทั้งประหยัดต้นทุนด้านโลจิสติกส์และต้นทุนการประกอบการของภาคธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น
  • การพัฒนาโครงข่ายเส้นทางรถไฟสำหรับการขนส่งสินค้ายังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง คาดว่า ในอนาคต ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้จะกลายเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าที่มีบทบาทสำคัญในเวทีการค้า เนื่องจากทำเลที่ตั้งที่อยู่ใกล้กับประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งเป็นทางเลือกใหม่ของผู้ประกอบการไทยที่สนใจส่งสินค้าไทยไปยังจีน หรือใช้ช่องทางดังกล่าวขนส่งสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรป ซึ่งปัจจุบัน ท่าเรือชินโจวมีเส้นทางเดินเรือไปยังท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพของไทยแล้ว

 

ปัจจุบัน ได้มีการลำเลียงรถจักรยานยนต์ ซิลิกอนสตีล โพลีไวนิลแอลกอฮอล์ (PVA) และวัสดุย้อมสี (Indigo blue) จากเขตฉางโซ่วในนครฉงชิ่งด้วยรถไฟมาถึงท่าเรือชินโจวเพื่อส่งออกไปยังเวียดนาม อินเดีย ปากีสถาน อินโดนีเซีย และมาเลเซียแล้ว

“เส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก” (New Western Land-Sea Corridor – NWLSC /西部陆海新通道) เป็นยุทธศาสตร์แห่งชาติที่รัฐบาลกลางใช้ส่งเสริมการพัฒนาภาคตะวันตกของจีน และมีบทบาทเป็นตัวเชื่อมยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหม (BRI) และเขตเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Economic Belt)

“กลุ่มท่าเรืออ่าวเป่ยปู้” ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (ท่าเรือชินโจว ท่าเรือฝางเฉิงก่าง และท่าเรือเป๋ยไห่) มีบทบาทสำคัญในยุทธศาสตร์ NWLSC เนื่องจากเป็น Hub เชื่อมระหว่างมณฑลทางภาคตะวันตกของจีนกับต่างประเทศเพื่อการนำเข้า-ส่งออกสินค้า ภายใต้โมเดลการขนส่ง “รถไฟ+เรือ”

เส้นทาง NWLSC ได้รับความนิยมจากผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกในพื้นที่จีนตอนในเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ปริมาณการขนส่งตู้สินค้าของท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ขยายตัวเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศจีน โดยเฉพาะผู้ประกอบการในนครฉงชิ่งและมณฑลเสฉวนได้หันมาใช้ประโยชน์จากโมเดลการขนส่งดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นแทนการขนส่งแบบเดิมที่ใช้การล่องผ่านแม่น้ำแยงซีเกียง (เข้า-ออกที่นครเซี่ยงไฮ้)

ระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2563 ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้มีปริมาณขนถ่ายสินค้า 42.87 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 16.56% และมีปริมาณขนถ่ายตู้สินค้า 5.7 แสนTEUs เพิ่มขึ้น 34.28%

หากเปรียบเทียบกับการขนส่งแบบเดิม การใช้เส้นทาง NWLSC ที่มีกว่างซีเป็น “ฮับ” นั้น มีความได้เปรียบกว่าทั้งเรื่องระยะทางและระยะเวลาการขนส่งสินค้าที่สั้นกว่ามาก สามารถควบคุมเวลาได้ดีกว่า การขนส่งมีความปลอดภัย สะดวกรวดเร็วกว่า และมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่า

ในแง่ประสิทธิภาพการขนส่ง ยกตัวอย่างการขนส่งจากนครฉงชิ่งกับกรุงจาการ์ตา (อินโดนีเซีย) จะใช้เวลาเพียง 20 วัน ซึ่งแบบเดิมใช้เวลามากกว่า 30 วัน

ในแง่ขั้นตอนการดำเนินการ เส้นทาง NWLSC มีขั้นตอนการขนส่งและขนถ่ายสินค้าที่สะดวกรวดเร็ว และขั้นตอนการผ่านพิธีการศุลกากรมีความราบรื่นมากกว่า

ณ วันที่ 22 มีนาคม 2563 การขนส่งสินค้าทางรถไฟในเส้นทาง NWLSC (ฉงชิ่ง-อ่าวเป่ยปู้) ได้มีการเปิดเดินรถแล้ว 144 ขบวน ขบวนรถไฟวิ่งสะสม 1,724 ขบวน มูลค่าการค้าต่างประเทศสะสมราว 940 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าการค้าในประเทศ 4,460 ล้านหยวน สินค้าส่งออกไปยัง 222 ท่าเรือใน 92 ประเทศ/ดินแดนทั่วโลก สินค้ามีมากกว่า 300 ประเภท อาทิ รถยนต์และอะไหล่ยานยนต์ วัตถุดิบและเคมีภัณฑ์ สินค้าเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ยา และอาหารสดแช่แข็ง

ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนของการขนส่งในรูปแบบ “ท่าเรือ+รถไฟ” คือ ประสิทธิภาพงานบริการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีความปลอดภัย คล่องตัว และตรงเวลา รวมทั้งประหยัดต้นทุนด้านโลจิสติกส์และต้นทุนการประกอบการของภาคธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น

การพัฒนาโครงข่ายเส้นทางรถไฟสำหรับการขนส่งสินค้ายังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง คาดว่า ในอนาคต ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้” จะกลายเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าที่มีบทบาทสำคัญในเวทีการค้า เนื่องจากทำเลที่ตั้งที่ใกล้กับประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งเป็นทางเลือกใหม่ของผู้ประกอบการไทยที่สนใจขนส่งสินค้าไทยไปยังจีน หรือใช้ช่องทางดังกล่าวขนส่งสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรป ซึ่งปัจจุบัน ท่าเรือชินโจวมีเส้นทางเดินเรือไปยังท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพของไทยแล้ว

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 26 มีนาคม 2563
        เว็บไซต์ www.gx.xinhuanet.com (广西新华网) วันที่ 1 เมษายน 2563
เครดิตภาพ www.vibexintl.com

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]