นครหนานหนิงเคาะแผนการขยายสนามบิน

ไฮไลท์

  • กรมการบินพลเรือนเห็นชอบ “แผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง” ฉบับปรับปรุงใหม่ปี 2562 ซึ่งมีแผนการระยะสั้นในการสร้างอาคารผู้โดยสารที่ 3 ทางวิ่งเส้นที่ 2 และหลุมจอด 195 หลุม เพื่อรองรับผู้โดยสาร 48 ล้านคน/ครั้ง การขนส่งสินค้า 5 แสนตัน และเครื่องบินขึ้น-ลง 3.38 แสนเครื่อง/ครั้ง
  • ปัจจุบัน บริเวณสนามบินอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ “ศูนย์การขนส่งภาคพื้นดิน” หรือ GTC ซึ่งเป็นโมเดลการคมนาคมแบบไร้รอยต่อสำหรับบริการขนส่งสาธารณะทุกรูปแบบ ทั้งสนามบิน รถไฟฟ้า รถประจำทาง รถไฟความเร็วสูงข้ามเมือง โดยคาดว่าการก่อสร้างทั้งหมดจะแล้วเสร็จพร้อมใช้งานในเดือนธันวาคม 2565
  • นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการสร้าง “ศูนย์บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศจุดเดียวเบ็ดเสร็จ” ซึ่งจะเป็น Cargo Complex เพื่อรองรับงานโลจิสติกส์และโกดังสินค้าระหว่างประเทศในอารักขาศุลกากร และเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้สนามบินแห่งนี้เป็นด่านนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างประเทศแบบเต็มตัว

 

ไม่นานมานี้ กรมการบินพลเรือนได้อนุมัติ “แผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง” ฉบับปรับปรุงใหม่ปี 2562 ซึ่งมีนัยสำคัญว่า ฝันของการเป็น “ประตูสู่นานาชาติ” ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงกำลังจะกลายเป็นความจริงแล้ว

ปัจจุบัน เขตฯ กว่างซีจ้วงมีสนามบินอยู่ทั้งหมด 7 แห่ง (จากทั้งหมด 14 เมือง) ตั้งอยู่ในนครหนานหนิง เมืองกุ้ยหลิน เมืองเป๋ยไห่ เมืองหลิ่วโจว เมืองอู๋โจว เมืองไป่เซ่อ และเมืองเหอฉือ ในปี 2562 มีปริมาณผู้โดยสารรวม 29.03 ล้านคน (อันดับ 18 ของประเทศ) เพิ่มขึ้น 5.0% (YoY)

โดย “สนามบินนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง” เป็นสนามบินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของมณฑล ในปี 2562 มีจำนวนผู้โดยสารรวม 15.76 ล้านคน คิดเป็น 54.28% ของทั้งมณฑล (อันดับ 7 ของภาคตะวันตก และอันดับ 26 จากทั้งหมด 239 แห่งทั่วประเทศ) มีปริมาณการขนส่งสินค้ารวม 1.22 แสนตัน (อันดับ 27 ของประเทศ) มีจำนวนเที่ยวบินขึ้น-ลง 1.14 แสนเที่ยว (อันดับ 30 ของประเทศ) และมีอัตราผู้โดยสารต่อเที่ยวบินอยู่ที่ 137.47 คน/ครั้ง

 

แผนแม่บทฯ ที่มีการปรับปรุงใหม่นี้ แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่

  • แผนการระยะสั้น 10 ปี (ปี 2573) ตั้งเป้าให้สนามบินสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสาร 48 ล้านคน/ครั้ง ปริมาณขนส่งสินค้า 5 แสนตัน จำนวนเครื่องบินขึ้น-ลง 3.38 แสนลำครั้ง อาคารผู้โดยสารที่ 3 (Terminal 3) / ทางวิ่งเส้นที่ 2 / หลุมจอด 195 หลุม
  • แผนการระยะยาว 30 ปี (ปี 2593) ตั้งเป้าให้สนามบินสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสาร 80 ล้านคนครั้ง ปริมาณขนส่งสินค้า 1.5 ล้านตัน จำนวนเครื่องบินขึ้น-ลง 5.59 แสนเครื่อง/ครั้ง สร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 และ 4 และแผนสำรองสำหรับทางวิ่งเส้นที่ 5 มีหลุมจอด 426 หลุม สร้างอาคารผู้โดยสารที่ 4 และ 5 รวมทั้งสร้างศูนย์การขนส่งภาคพื้นดินที่ 2 และ 3 (GTC 2, 3) เชื่อมกับ GTC 1

ขณะนี้ บริเวณสนามบินอยู่ระหว่างการพัฒนาโครการ ศูนย์การขนส่งภาคพื้นดิน หรือ GTC (Ground Transportation Centre) เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและงานโลจิสติกส์ โดย GTC จะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมแบบไร้รอยต่อสำหรับบริการขนส่งสาธารณะทุกรูปแบบ ทั้งสนามบิน รถไฟฟ้า รถประจำทาง รถไฟความเร็วสูงข้ามเมือง โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมใช้งานในเดือนธันวาคม 2565 พร้อมกับรถไฟความเร็วสูง เส้นทาง “นครหนานหนิง-ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวี-เมืองฉงจั่ว”

นอกจากนี้ สนามบินแห่งนี้อยู่ระหว่างการสร้าง “ศูนย์บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศจุดเดียวเบ็ดเสร็จ” ซึ่งจะเป็น Cargo Complex เพื่อรองรับงานโลจิสติกส์และโกดังสินค้าระหว่างประเทศในอารักขาศุลกากร และเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้สนามบินแห่งนี้กลายเป็นด่านนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างประเทศอย่างเต็มตัว เมื่อเดือนตุลาคม 2562 บริษัท Guangxi Shunfeng Express ได้เปิดให้บริการเที่ยวบินขนส่งสินค้าแบบเที่ยวประจำในเส้นทาง “นครหนานหนิง-นครโฮจิมินห์” เป็นครั้งแรกของกว่างซี โดยให้บริการสัปดาห์ละ 5 เที่ยว

การเปิดบริการเที่ยวบินขนส่งสินค้าดังกล่าวช่วยลดวงจรโลจิสติกส์ (logistics cycle) ของภาคธุรกิจ ลดต้นทุน ยกระดับฟังก์ชันงานโลจิสติกส์ทางอากาศในภูมิภาค ช่วยดึงดูดให้ภาคธุรกิจในพื้นที่ใกล้เคียงส่งสินค้ามารวมไว้ที่นครหนานหนิง ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนสินค้า และกระตุ้นการพัฒนาการค้า e-Commerce ระหว่างประเทศได้อีกด้วย

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gxnews.com.cn (广西新闻频网) วันที่ 24 มีนาคม 2563
เครดิตภาพ www.hscbw.com

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]