กว่างซีลงดาบ “การค้าสัตว์ป่า”

ไฮไลท์

  • การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่หลายฝ่ายเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากการบริโภคสัตว์ป่า เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้รัฐบาลจีนหันมาเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามการค้าสัตว์ป่า รวมถึงการควบคุมธุรกิจเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าเพื่อการค้าและการบริโภค
  • ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน ชุดที่ 13 ครั้งที่ 16 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอห้ามลักลอบค้าสัตว์ป่าแบบผิดกฎหมาย และเลิกพฤติกรรมการบริโภคสัตว์ป่า เนื่องจากเป็นพฤติกรรมที่ไม่ควรปฏิบัติและเป็นการคุ้มครองชีวิตและสุขภาพของประชาชน หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องรับโทษตามกฎหมาย โดยมีผลบังคับใช้ทันที
  • รัฐบาลเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงได้ขานรับนโยบายจากส่วนกลาง โดยได้กำหนดแนวทางการทำงานที่มีความเข้มข้นมากขึ้น ทั้งการกำกับดูแลและคุ้มครองสัตว์ป่า การเฝ้าระวังและเตือนภัยโรคระบาดในสัตว์ป่า การกำกับดูแลธุรกิจเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่า การปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่าแบบผิดกฎหมาย และการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อเพื่อสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชน ตลอดจนการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการต่อต้านการค้า-บริโภคสัตว์ป่า

 

พฤติกรรมการค้า การล่า และการบริโภคสัตว์ป่าในประเทศจีนมาถึงจุดเปลี่ยน โดยรัฐบาลจีนได้หันมาเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามการค้าสัตว์ป่าหลังการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่หลายฝ่ายเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากการบริโภคสัตว์ป่า รวมถึงการควบคุมธุรกิจเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าเพื่อการค้าและการบริโภคอีกด้วย

การประชุมคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน ชุดที่ 13 ครั้งที่ 16 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบข้อเสนอห้ามลักลอบค้าสัตว์ป่าแบบผิดกฎหมายและเลิกพฤติกรรมการบริโภคสัตว์ป่า เนื่องจากเป็นพฤติกรรมที่ไม่ควรปฏิบัติและเป็นการคุ้มครองชีวิตและสุขภาพของประชาชน หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องรับโทษตามกฎหมาย

เพื่อเป็นการขานรับแนวทางของรัฐบาลกลางในการคุ้มครองสัตว์ป่าอย่างรอบด้าน รวมถึงห้ามค้าขายและบริโภคสัตว์ป่าทุกกรณี กรมป่าไม้เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (Department of Forestry of Guangxi/广西林业局) ได้กำหนดแนวทางการทำงาน 5 ด้าน เพื่อเพิ่มระดับความเข้มงวดในการกำกับดูแลและคุ้มครองสัตว์ป่า ห้ามลักลอบค้าสัตว์ป่าแบบผิดกฎหมาย และเลิกพฤติกรรมการบริโภคสัตว์ป่า ได้แก่

  1. ส่งเสริมงานกำกับดูแลและคุ้มครองสัตว์ป่าอย่างรอบด้าน ขยายผลการตรวจสอบสถานการณ์การเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าทั้งมณฑล ศึกษาและดำเนินมาตรการให้ผู้เลี้ยงเปลี่ยนอาชีพ ปิดกิจการ การใช้ประโยชน์ รวมถึงมาตรการชดเชย
  2. ส่งเสริมมาตรการกำกับดูแลพื้นที่ที่เป็นถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่าอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะงานสำรวจ ลาดตระเวนและคุ้มครองถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่าอย่างนกอพยพ อาทิ แหล่งวางไข่ในฤดูผสมพันธุ์ จุดแวะพักก่อนการอพยพ เส้นทางการอพยพ และพื้นที่รวมฝูง การเฝ้าระวังและเตือนภัยโรคระบาดในสัตว์ป่า การจัดเวรเฝ้าระวังรับมือเหตุฉุกเฉินและรายงานความผิดปกติของสัตว์ป่าที่แม่นยำและทันท่วงที เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรค
  3. ส่งเสริมงานกำกับดูแลธุรกิจ/สถานที่เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่า ดำเนินมาตรการกักกันฟาร์มเพาะและขยายพันธุ์สัตว์ป่า ลงพื้นที่ตรวจนับจำนวนเพื่อไม่ให้มีการนำสัตว์ป่าเข้าสู่ตลาดแบบไม่กำหนดเวลา กำหนดแนวปฏิบัติและตรวจสอบการฆ่าเชื้อในโรงเรือนทุกวัน และตรวจสอบเฝ้าระวังโรคระบาดในสัตว์ที่เลี้ยงอย่างเคร่งครัด
  4. ปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่าและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าแบบผิดกฎหมายอย่างเข้มข้น ทั้งการซื้อขาย การขนส่ง การพกพา และการจัดส่ง โดยการลงพื้นที่จริงเพื่อตรวจสอบทั้งในตลาดซื้อขายสินค้าเกษตร ตลาดซื้อขายสัตว์และพันธุ์พืช ร้านค้า แผงลอย และบนแพลตฟอร์ม e-Commerce
  5. ประชาสัมพันธ์และรณรงค์การเลิกพฤติกรรมการบริโภคสัตว์ป่าผ่านสื่อประเภทต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงของโรคระบาดจากสัตว์ป่า แนะนำให้ประชาชนทั่วไปเพิ่มความตระหนักถึงความมั่นคงทางสาธารณสุขและการคุ้มครองระบบนิเวศ พร้อมส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแสการกระทำผิดเกี่ยวกับสัตว์ป่า

ตามรายงาน ธุรกิจการเลี้ยง “หนูอ้น” (Bamboo rat) ในเขตฯ กว่างซีจ้วง อาจเป็นหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศใช้กฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับใหม่  กว่างซีเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงหนูอ้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจีน (พื้นที่เพาะเลี้ยงหลักอยู่ที่เมืองกุ้ยหลิน) มีกำลังการผลิต 50% ของทั้งประเทศ สร้างมูลค่าการผลิตได้ปีละกว่า 2,000 ล้านหยวน การเลี้ยงหนูอ้นเป็น “โครงการแก้จน” ในหลายพื้นที่ของกว่างซี ทำให้หนูอ้นเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่คนนิยมนำไปบริโภค ซึ่งนอกจากการจำหน่ายในมณฑลแล้ว หลักๆ ได้ส่งไปจำหน่ายในมณฑลหูหนานและมณฑลกวางตุ้ง ขณะนี้ รัฐบาลกว่างซีอยู่ระหว่างการตรวจสอบและประเมินสถานการณ์เพื่อหามาตรการรองรับ ทั้งการเปลี่ยนอาชีพและการจัดสรรเงินชดเชยเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของภาคธุรกิจการเลี้ยงหนูอ้น ซึ่งต้องรอดูกันต่อไป

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นบทเรียนให้กับหลายประเทศที่ยังคงมีการลักลอบค้า-บริโภคสัตว์ป่าแบบผิดกฎหมาย ทำให้ทุกฝ่ายหันมาตระหนักถึงความสำคัญในการคุ้มครองอนุรักษ์สัตว์ป่ามากยิ่งขึ้น

อย่างในเขตฯ กว่างซีจ้วง การที่เป็นมณฑลชายแดน(ติดเวียดนาม) จึงเป็นช่องทางที่ผู้ลักลอบใช้เป็นเส้นทางการขนส่งสัตว์ป่ามีชีวิต ซากสัตว์ป่า รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์ป่า (หนัง เขี้ยว เกล็ด กระดอง เขา กระดูก) จากประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าสู่ประเทศจีน โดยมีการจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำผิดได้อยู่เป็นระยะ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐได้เพิ่มระดับความเข้มงวดในการสืบสวนและเอาผิดขั้นรุนแรงกับผู้กระทำผิด จึงเป็นข้อเตือนใจให้ผู้ที่กำลังทำผิดหรือคิดจะทำผิด

 

 

จัดทำโดย นางสาววัชราภรณ์ พรหมพินิจ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา  เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中国新闻网) ประจำวันที่ 12 มีนาคม 2563
        เว็บไซต์ www.sohu.com (搜狐网) ประจำวันที่ 16, 17 มีนาคม 2563
       เว็บไซต์ www.gov.cn (中华人民共和国中央人民政府) ประจำวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563
รูปประกอบ www.pixabay.com, www.sohu.com

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]