ไฮไลท์

  • สกุลเงิน “หยวน” กำลังมีบทบาทสำคัญในการชำระบัญชีการค้าและการลงทุนระหว่างเขตปกครองตนเองกว่างซีกับประเทศสมาชิกอาเซียน
  • ยอดการชำระบัญชีระหว่างประเทศด้วยสกุลเงินหยวนของกว่างซีมีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 1 ใน 12 มณฑลทางภาคตะวันตก และ 9 มณฑลชายแดนทั่วประเทศจีน
  • กว่างซีได้พัฒนานวัตกรรมการทำธุรกรรมเงินหยวนข้ามพรมแดนเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนมากยิ่งขึ้น เช่น การชำระบัญชีการค้าในตลาดการค้าชายแดนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยย่นระยะเวลาการทำรายการจาก 1 ชั่วโมง เหลือเพียง 1 นาที
  • กว่างซีได้ขยายความร่วมมือกับสถาบันการเงินในอาเซียนหลายประเทศ โดยเฉพาะการปราบปรามการฟอกเงินและการปลอมแปลงธนบัตร อีกทั้ง ยังเปิดกว้างให้สถาบันการเงินในต่างประเทศสามารถลงทุนในตลาดพันธบัตร อนุพันธ์ ตลอดจนการปล่อยสินเชื่อสกุลเงินหยวนให้กับโครงการต่างๆ ในอาเซียน

 

“หยวน” เป็นสกุลเงินที่ใช้ชำระบัญชีระหว่างประเทศมากที่สุดระหว่างเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงและประเทศสมาชิกอาเซียน นับเป็นอีกหนึ่งผลความสำเร็จของรัฐบาลกลางที่วางยุทธศาสตร์ให้กว่างซีเป็น “ประตูสู่อาเซียน”

อานิสงส์จากความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งและการพัฒนานวัตกรรมเงินหยวนข้ามแดนของกว่างซี ทำให้ธุรกรรมเงินหยวนข้ามแดนของกว่างซีสามารถรักษาระดับเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่กว่างซีดำเนินนโยบายจุดทดลองการชำระบัญชีระหว่างประเทศด้วยสกุลเงินหยวนเมื่อปี 2553 เป็นต้นมา “อาเซียน” เป็นพื้นที่เป้าหมายและเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในการพัฒนาธุรกรรมเงินหยวนข้ามแดนของกว่างซี และ “หยวน” ได้ก้าวขึ้นเป็นสกุลเงินอันดับแรกที่กว่างซีกับอาเซียนใช้ชำระบัญชีข้ามแดน

การชำระบัญชีระหว่างประเทศด้วยสกุลเงินหยวนของกว่างซีมีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 1 ใน 12 มณฑลทางภาคตะวันตก และ 9 มณฑลชายแดนทั่วประเทศจีน

สถิติระหว่างเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2562 พบว่า ยอดการชำระบัญชีระหว่างประเทศด้วยสกุลเงินหยวนของกว่างซีมีมูลค่ารวม 145,900 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 23.5% (YoY) ในจำนวนนี้ เป็นยอดการชำระบัญชีกับอาเซียน 61,400 ล้านหยวน คิดเป็น 42% ของยอดรวมการชำระบัญชีระหว่างประเทศด้วยสกุลเงินหยวนของกว่างซี และคิดเป็น 61% ของยอดรวมการชำระบัญชีระหว่างประเทศทั้งหมด (ทั้งสกุลเงินหยวนและสกุลเงินอื่น) กับอาเซียน

กว่างซีได้พัฒนานวัตกรรมการทำธุรกรรมเงินหยวนข้ามพรมแดนเพื่ออำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุนมากยิ่งขึ้น อาทิ การพัฒนาแพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลการชำระบัญชีการค้าข้ามพรมแดนในจุดผ่อนปรนตลาดการค้าชายแดนที่ด่านพรมแดน(กว่างซีกับเวียดนาม) ซึ่งเป็นการชำระบัญชีการค้าในตลาดการค้าชายแดนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งช่วยย่นระยะเวลาการทำรายการจาก 1 ชั่วโมงกว่า เหลือเพียง 1 นาที ซึ่งมีการใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวโดยครอบคลุมผู้ให้บริการในตลาดการค้าชายแดนแล้วตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2562

การตรววจสอบและชำระบัญชีผ่านแพลตฟอร์มมียอดสะสมรวม 22,225 ล้านหยวน ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับชาวชายแดนกว่า 95,000 คน

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งชาติจีน สาขาหนานหนิง ยังได้เชิญชวนให้ธนาคาร Canadia Bank ของกัมพูชาเข้าร่วมซื้อขายสกุลเงินหยวนกับสกุลเงินหยวนระหว่างธนาคาร การผลักดันการชำระบัญชีด้วยสกุลเงินหยวนให้แก่สถาบันในต่างประเทศที่ลงทุนในตลาดพันธบัตรระหว่างธนาคาร การสนับสนุนให้สถาบันธนาคารของกว่างซีให้บริการเงินหยวนและอนุพันธ์ให้กับสถาบันในต่างประเทศที่ทำธุรกรรมการซื้อขายเงินตราต่างประเทศแบบส่งมอบทันที เช่น สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures) การสวอปเงินตราต่างประเทศ (SWAP) สัญญาออปชันนอกตลาดหลักทรัพย์ (OTC options) และการปล่อยสินเชื่อสกุลเงินหยวนให้กับโครงการในอาเซียน

ขณะเดียวกัน กว่างซีได้ขยายความร่วมมือระหว่างประเทศในการปราบปรามการปลอมแปลงธนบัตรและการฟอกเงิน รวมทั้งการตรวจสอบความน่าเชื่อถือ (มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับเวียดนามในการป้องกันและปรามปรามการปลอมแปลงธนบัตรและการฟอกเงินหลายฉบับ) การชี้แนะให้มีการจัดตั้งศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านการเงินระหว่างประเทศที่เมืองฉงจั่วและกลไกการระงับข้อพิพาททางการเงินในพื้นที่ชายแดนเมืองไปเซ่อ

หลายปีมานี้ กว่างซีได้พัฒนาความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนทางการเงินในเชิงลึก เพื่อพัฒนาสู่การเป็น “ประตูการเงินสู่อาเซียน” โดยได้จัดงานประชุมเกี่ยวกับการเงินระหว่างจีนและอาเซียนหลายเวที การสนับสนุนให้สถาบันการเงินในอาเซียนเข้ามาจัดตั้งสำนักงานสาขาในกว่างซี การแสวงหากลไกความร่วมมือในการควบคุม ตรวจสอบ และเจรจาแลกเปลี่ยนในระดับเดียวกันระหว่างเขตทดลองการปฏิรูปการเงินตามแนวชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน

 

 

จัดทำโดย นางสาว นครชนก ศรีประเสริฐ นิสิตฝึกงานมหาวิทยาลัยพะเยา
ผู้เรียบเรียง นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.xinhuanet.com (广西新华网) วันที่ 18  มกราคม 2563
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (广西中新社) วันที่ 19 มกราคม 2563
รูปประกอบ www.thebalance.com

 

ที่มา : https://thaibizchina.com/