• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ รมว.อว. ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่

เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ รมว.อว. ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 นายหาน จื้อเฉียง (Mr. Han Zhiqiang) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย และคณะ ได้เข้าเยี่ยมคารวะ ศ.(พิเศษ) ดร.อเนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วยผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. เข้าร่วมหารือฯ ณ ห้องพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยจะเสริมสร้างความร่วมมือและให้การสนับสนุนซึ่งกันและกันให้มากยิ่งขึ้น บนพื้นฐานของการที่ไทยและจีนเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างกัน โดย อว. ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาและขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ระหว่างไทย-จีน เพื่อยกระดับความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายในภาพใหญ่ให้มีทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจนและให้เกิดประโยชน์ร่วมกันมากยิ่งขึ้น การแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ สรุปได้ดังนี้

กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ยินดีให้การสนับสนุนการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนด้านภาษาและวัฒนธรรมซึ่งสถาบันอุดมศึกษาของไทยและจีนมีความร่วมมือที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีสถาบันขงจื่อตั้งอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาไทยถึง 16 แห่ง อีกทั้งจากการที่ อว. มีความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับ Chinese Academy of Sciences (CAS) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน จึงมีแนวคิดที่จะศึกษารูปแบบของ CAS มาปรับใช้ในการจัดตั้งหน่วยงานในลักษณะเดียวกันในไทยในอนาคตโดยอาจใช้ชื่อว่า Thailand Academy of Science (TAS)
ผู้บริหารหน่วยงานของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้นำเสนอประเด็นความร่วมมือรายสาขาที่ต้องการผลักดันและสานต่อ เช่น การส่งนักวิทยาศาสตร์ของไทยไปฝึกอบรมและดูงานการใช้เครื่องปฏิกรณ์ Tokamak การพัฒนาบุคลากรสำหรับการพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็ก การร่วมสนับสนุนการจัดตั้ง Asian Treaty Organization for Astronomy เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีด้านดาราศาสตร์ของประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชีย การยกระดับความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาระบบขนส่งราง การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการบำรุงรักษาระบบราง การสนับสนุนการจัดตั้ง Sustainable Manufacturing Center (SMC) ณ EECi โดยขอให้จีนสนับสนุนด้านการพัฒนา SMEs ไทยให้เป็น Smart manufactory และการพัฒนากำลังคนด้าน AI การถ่ายทอดเทคโนโลยีการตรวจสุขภาพเขื่อนให้แก่กลุ่มประเทศอาเซียน การส่งเสริมการเกษตรให้มีมูลค่าสูง และความร่วมมือในการขจัดความยากจนโดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้เสนอข้อริเริ่มความร่วมมือด้านการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรม เนื่องจากประเทศจีนเป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมที่สำคัญของโลกและเมื่อไม่นานมานี้ ไทยก็ได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ร่ำรวยมรดกทางวัฒนธรรมของโลกเป็นอันดับที่ 7 (โดย US News & World Report) ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายอาจร่วมมือกันส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมไทย-จีน ซึ่งนับเป็นข้อริเริ่มใหม่ในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีที่สามารถขยายผลไปสู่ระดับพหุพาคีต่อไป ทั้งนี้ ฝ่ายจีนแสดงความสนใจและยินดีอย่างยิ่งที่จะให้การสนับสนุนในเรื่องดังกล่าว

ข้อมูลข่าว : กกต.อว.
เขียนข่าว  : ปราณี ชื่นอารมณ์
ถ่ายภาพ : สกล นุ่นงาม

กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2610 5241-47 0 2333 3700 ต่อ 3728 – 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : [email protected]
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailan

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]