ดร.นิศาชล ไทยทอง | เศรษฐศาสตร์ประยุกต์ การพัฒนาเขตการค้าจีน-อาเซียน

ดร.นิศาชล ไทยทอง
ปัจจุบัน เป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติ และนักวิจัยประจำศูนย์วิจัยจีน-อาเซียน มหาวิทยาลัยกวางสี เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ประเทศจีน
ปริญญาเอก – เศรษฐศาสตร์ประยุกต์ การพัฒนาเขตการค้าจีน-อาเซียน มหาวิทยาลัยกวางสี
ปริญญาโท – เศรษฐศาสตร์ การค้าระหว่างประเทศ (หลักสูตรภาษาจีน) มหาวิทยาลัยกวางสี
ปริญญาตรี – อักษาศาสตร์ เอกภาษาจีน มหาวิทยาลัยศิลปากร

“เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ได้ถูกกำหนดบทบาทให้เป็นประตูสู่อาเซียนตามสภาพภูมิศาสตร์ ทำให้ภูมิภาคนี้มีความต้องการที่จะเรียนรู้ภาษา แลกเปลี่ยนความรู้ทางด้าน ต่าง ๆ กับกลุ่มประเทศอาเซียน”

มากกว่าเรียนภาษาจีน

หลายคนคิดว่าการเรียนต่อที่ประเทศจีน คือ ไปเรียนภาษาจีนหรือด้านอักษรศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ แต่จริง ๆ แล้ว การเรียนต่อที่จีนนั้น มีให้เลือกหลากหลายสาขาวิชาทั้งสายวิทย์และสายศิลป์

หลังจาก นิศาชล หรือ ลู่ลู่ จบปริญญาตรีคณะอักษรศาสตร์ วิชาเอกภาษาจีน และวิชาโทเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อปี พ.ศ.2553 เธอตัดสินใจเลือกเรียนต่อปริญญาโทในสาขาเศรษฐศาสตร์ การค้าระหว่างประเทศ (หลักสูตรภาษาจีน) ณ มหาวิทยาลัยกวางสี ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน ด้วยเหตุผลว่ามีความรู้พื้นฐานภาษาจีนมาแล้ว และอยากหาความรู้เพิ่มเติมทางด้านอื่น ๆ นอกจากนี้ ประเทศจีนยังมีความโดดเด่นทางด้านเศรษฐกิจและการค้าด้วย

ถึงแม้ว่าจะจบเอกภาษาจีนมา ลู่ลู่บอกว่า ความรู้ด้านภาษาจีนที่มีอยู่ ก็ยังไม่เพียงพอต่อการศึกษาต่อวิชาเฉพาะในหลักสูตรภาษาจีน โดยเฉพาะคำศัพท์เฉพาะทางเศรษฐศาสตร์  เนื่องจากในประเทศจีน จะเรียกชื่อเฉพาะทุกอย่างเป็นทับศัพท์ภาษาจีน เช่น บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิค Adam Smith ภาษาไทยเรียกเหมือนภาษาอังกฤษ คือ อดัม สมิธ  แต่ภาษาจีน ใช้ชื่อว่า ย่าตางซือมี่  亚当·斯密  ที่ไม่มีความคล้ายคลึงกับชื่อภาษาอังกฤษเลย ในช่วงเริ่มต้นของการเรียนที่จีน ทำให้ต้องปรับตัว เรียนรู้สิ่งใหม่ และต้องขยันมาก ๆ  แต่ก็ได้รับการช่วยเหลือจากอาจารย์และเพื่อนชาวจีนเป็นอย่างดี

3 ปีที่เรียน ป.โท ที่จีน ( พ.ศ. 2553 – 2556 )

ปีแรก – ใช้เวลาไปกับการเรียนและทำกิจกรรมของนักศึกษาต่างชาติเป็นส่วนใหญ่  เวลาเรียนแบ่งเป็นสามช่วง ช่วงเช้าเริ่มเรียน 7.00 – 12.00 น. พักเที่ยง คนจีนทางใต้จะมีพักนอนกลางวันประมาณ 2 ชั่วโมง ภาคบ่าย เริ่ม 14.45 – 17.00 น. แล้วจะต่อด้วยเรียนภาคค่ำ 19.40 – 22.00 น. ปีแรกนี้ ใช้ชีวิตส่วนใหญ่กับเพื่อนชาวไทยและนักศึกษาต่างชาติด้วยกัน

ปีที่สอง – มีเวลามากขึ้นในการเรียนรู้วัฒนธรรมต่าง ๆ ได้ไปท่องเที่ยวเมืองอื่น ศึกษาดูงานและได้รู้จักกับเพื่อนคนจีนมากขึ้น

ปีที่สาม – เวลาส่วนใหญ่จะใช้ไปกับการเขียนวิทยานิพนธ์และฝึกงานหาประสบการณ์เพื่อพัฒนาตนเอง ลู่ลู่ได้สมัครไปฝึกงานที่ศูนย์ธุรกิจไทยในจีน (Business Information Center -BIC) ที่สถานกงสุลใหญ่ไทย ประจำนครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ประเทศจีน ซึ่งเป็นโอกาสที่จะได้นำความรู้ทางด้านภาษาจีน การค้าระหว่างประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยจีน มาใช้ในการปฏิบัติงาน ในขณะที่เพื่อนร่วมชั้นเรียนชาวจีน ก็จะเริ่มหางานทำก่อนเรียนจบประมาณหกเดือน ซึ่งจะตรงกับช่วงเดือนธันวาคม มกราคมของทุก ๆ ปี

บนเส้นทางเรียน ป.เอก ในจีน

ในขณะที่เพื่อน ๆ เริ่มทำงานกัน ลู่ลู่ ได้รับทุนรัฐบาลจีนศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ในสาขาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ การพัฒนาเขตการค้าจีน-อาเซียน ที่มหาวิทยาลัยกวางสี เนื่องจากเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ได้ถูกกำหนดบทบาทให้เป็นประตูสู่อาเซียนตามสภาพภูมิศาสตร์ ทำให้ภูมิภาคนี้มีความต้องการที่จะเรียนรู้ภาษา แลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านสังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ พร้อมทั้งส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่าง ๆ กับกลุ่มประเทศอาเซียน  

ระหว่างเรียนปริญญาเอก ลู่ลู่ มีโอกาสได้เรียนรู้และร่วมทำงานวิจัยกับทางสถานบันวิจัยต่าง ๆ ทั้งของจีนและกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงประเทศไทย แต่ละประเทศจะมีรูปแบบการทำงานที่แตกต่างกันออกไป ประเทศจีน – งานวิจัยส่วนใหญ่จะเป็นเชิงมหาภาค เน้นสถิติตัวเลข แบบจำลองทางเศรษฐมิติ เป็นต้น  ในส่วนการทำวิจัยกับประเทศอื่นๆในอาเซียน เช่นประเทศสิงคโปร์กับประเทศมาเลเชีย จะมีนักวิจัยเชื้อสายจีน จึงสามารถใช้ภาษาจีนและภาษาอังกฤษในการทำงานร่วมกัน หากเป็นประเทศอื่นๆเช่น เวียดนาม ลาว พม่าและกัมพูชา การเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกและข้อมูลทางสถิติยังคงมีความยากลำบาก จึงเกิดการแลกเปลี่ยนระยะสั้นเพื่อไปทำวิจัยเก็บข้อมูล ณ ประเทศนั้นๆ หรือเป็นการทำวิจัยร่วมกันกับนักศึกษาปริญญาเอกจากประเทศนั้นๆ ที่ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยกวางสี

การจบปริญญาเอกในประเทศจีนสำหรับนักศึกษาต่างชาตินั้น นับวันจะยิ่งยากมากขึ้น สำหรับมหาวิทยาลัยกวางสี นอกจากวิทยานิพนธ์แล้ว จะต้องมีการตีพิมพ์บทความในระดับนานาชาติ 2 ฉบับ และเข้าร่วมการประชุมนานาชาติไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง

ด้วยความมานะ อดทน และพยายาม การได้รับกำลังใจและแรงสนับสนุนจากอาจารย์ที่ปรึกษา ทำให้ ลู่ลู่ เรียนจบในที่สุด ดังคำกล่าวที่ว่าความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น ขอเป็นกำลังใจให้นักศึกษาทุกท่านนะคะ

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]