อนิวัตติ์ ฟ้าเฟื่องวิทยากุล | วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (ECUST)

อนิวัตติ์ ฟ้าเฟื่องวิทยากุล (ตี๋)
ปริญญาเอก – วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ East China University of Science and Technology (ECUST)
ปริญญาโท – Control Science and Engineering, Beijing Institute of Technology (BIT)
ปริญญาตรี – คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“หลังจากเรียนจบ ผมมีแผนที่จะนำองค์ความรู้ที่ได้จากช่วงการศึกษาและวิจัยในระดับปริญญาเอกที่จีนนี้ไปต่อยอดในการสร้างแอพพลิเคชั่นที่เป็นในทาง Computer Vision โดยใช้ Deep Learning เข้ามาช่วย”

ปริญญาโท @ BIT

หลังจากที่จบปริญญาตรีและได้ทำงานเป็น Software Developer กับบริษัท Accenture ที่มาเลเซีย ได้ 2 ปี ก็คิดว่า ตัวเองคงไม่ได้ชอบการเขียนโปรแกรมมากนัก จึงได้เลือกเรียนในสาขาวิชาที่ต่างออกไปอย่าง Control Science and Engineering ที่อยู่ใน School of Automation ของ BIT

สาขานี้ในหลักสูตรระดับปริญญาโทและเอก จะเน้นหนักไปทางคณิตศาสตร์ การพิสูจน์สูตรและการทำ Optimization เพื่อนำไปปรับใช้ในการออกแบบหรือจัดทำอุปกรณ์ต่าง ๆ ของหุ่นยนต์ อุปกรณ์ทางเครือข่าย ทางด้านการทหาร หรือทางด้านยานอวกาศ ตอนเรียนปริญญาโท ผมโชคดีที่ได้อาจารย์ที่ปรึกษาที่ทำวิจัยในด้านซอร์ฟแวร์และการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ ผมจึงได้มีโอกาสมารู้จักกับ Machine Learning และภาษา Python (ในขณะที่เรียนยังไม่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมากนัก) ซึ่งทำให้ผมรู้สึกกลับมาชอบและรักการเขียนโปรแกรมอีกครั้ง (หลังจากที่พยายามหนีมาตลอด) ไม่เช่นนั้น งานวิจัยของผมคงเน้นไปทางด้านการทำ Optimization ที่ต้องใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์ค่อนข้างลึก BIT เป็นมหาวิทยาลัยที่มีนักเรียนไทยค่อนข้างน้อย แต่ก็อบอุ่นดีครับ มีรูปที่ถ่ายกับพี่ ๆ น้อง ๆ ที่เรียนด้วยกันตลอด 2 ปีที่ BIT มาให้ดูด้วยครับ

ปริญญาเอก @ ECUST

มหาวิทยาลัย East China University of Science and Technology (ECUST) มีชื่อเสียงด้านวิศวกรรมเคมี มี 2 วิทยาเขต คือ วิทยาเขตซูหุย (Xuhui) และวิทยาเขตเฟิงเซียน (Fengxian) กับอีกหนึ่งอุทยาวิทยาศาสตร์ (Science park) ที่จินซาน (Jinshan)

ปัจจุบันผมเรียนและอยู่หอพักที่วิทยาเขตซูหุยเป็นหลัก เนื่องจากวิทยาเขตนี้จะถูกจัดให้สำหรับนักศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ส่วนวิทยาเขตเฟิงเซียนนั้นจะถูกจัดให้มีการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาในระดับปริญญาตรีเท่านั้น

ด้านการเรียนการสอน

ผมได้รับทุนรัฐบาลจีน Chinese Scholarship Council  (CSC) มาเรียนที่ ECUST เป็นระยะเวลาทั้งหมด 4 ปี การเรียนการสอนจะมีทั้งวิชาที่สอนเป็นภาษาจีนและภาษาอังกฤษ หลักสูตรที่ผมเรียนเป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษ จึงเลือกลงทะเบียนวิชาที่เปิดสอนเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น ซึ่งตอนเข้าไปเรียนจริง ๆ มีทั้งวิชาที่เอกสารประกอบการสอนและบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ มีทั้งวิชาที่เอกสารการสอนเป็นภาษาอังกฤษแต่บรรยายเป็นภาษาจีน

วิชาที่เรียนส่วนใหญ่ก็จะเป็นวิชาคณิตศาสตร์ที่จำเป็นสำหรับการวิจัยและวิชาทางด้านคอมพิวเตอร์ เช่น วิชาปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI) การประมวลผลแบบคลาวด์ (Cloud Computing) สำหรับผมแล้ววิชาที่น่าสนใจก็คงหนีไม่พ้นวิชาคณิตศาสตร์สำหรับการทำ Optimization และวิชาปัญญาประดิษฐ์ ที่อาจารย์ได้ให้การบ้านเป็นรายงานพร้อมนำเสนอผลงานในทุกคนในคลาสฟังเกี่ยวกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเหมือนกับว่าเราได้ทำการ Literature Review ในเนื้อหาที่เราสนใจไปในเวลาเดียวกัน อีกทั้งยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับเนื้อหาที่เพื่อนคนจีนในห้องคนอื่น ๆ สนใจด้วย

ส่วนการสอบ ก็จะมีการสอบทั้งเป็นแบบข้อเขียนและแบบการทำรายงานส่ง เนื่องจากเป็นวิชาระดับปริญญาเอก รายงานที่ส่งจะเป็นในลักษณะการวิจัย ศึกษาค้นคว้า และสรุปคัดย่อ

นอกจากจะเรียนวิชาเรียนในระดับปริญญาเอกแล้ว นักศึกษาต่างชาติของที่นี่สามารถเลือกลงคอร์สเรียนภาษาจีนเพื่อพัฒนาภาษาจีน โดยเราจะต้องจ่ายค่าลงทะเบียนเรียนเองถ้าไม่ได้ขอทุนเรียนภาษาไว้ แต่มหาวิทยาลัยก็จะมอบส่วนลดให้ เพื่อให้เราได้เรียนภาษาจีนในราคาที่ถูกกว่าคนภายนอกทั่วไปที่ไม่ได้เรียนในมหาวิทยาลัย

ด้านงานวิจัย

งานวิจัยในระดับปริญญาโทของผม เป็นเรื่องการนำเทคโนโลยีทาง Machine Learning มาประยุกต์ใช้กับ Online Learning platform โดยเน้นว่าทำอย่างไรถึงจะสามารถวัดประสิทธิภาพของผู้เรียนออนไลน์และออกแบบคอร์สออนไลน์ให้ตรงตามความต้องการของผู้เรียนได้ โดยผมใช้เทคโนโลยีชื่อ Facial emotion recognition เพื่อทำการวิเคราะห์อารมณ์จากใบหน้าของผู้เรียนออนไลน์ การวิเคราะห์แบบนี้จะสามารถทราบได้ว่าบทเรียนที่ผู้เรียนเรียนอยู่นั้นง่ายหรือยากไปสำหรับผู้เรียนหรือไม่โดยดูจากใบหน้าของผู้เรียนในแต่ละช่วงของวิดีโอที่อยู่ในแพลตฟอร์ม นอกจากนี้เราอาจจะนำการวัดผลอื่นๆ เข้ามาประเมินด้วยเช่นคะแนนจาก Quiz แบบสอบถามหรือเกมส์ที่ผู้เรียนทำระหว่างเรียน เพื่อที่จะทำผลลัพธ์ดังกล่าวกลับมาใช้ในการปรับปรุงบทเรียนออนไลน์ต่อไป

ส่วนงานวิจัยในระดับปริญญาเอก ในปีแรกของการศึกษา ซึ่งต้องเรียนวิชาบังคับและวิชาเลือก การวิจัยก็จะเน้นไปทางด้านเรียนรู้และทำการสำรวจ (Survey) งานวิจัยมากกว่า ว่าขณะนี้มีงานวิจัยไหนทางสาขาคอมพิวเตอร์ที่น่าสนใจบ้าง และนักวิจัยส่วนใหญ่ทั่วโลกให้ความสำคัญไปทางเรื่องไหน มีทฤษฎีไหนที่จำเป็นต่อการทำวิจัยบ้าง โดยเป็นเหมือนการเตรียมพร้อมเพื่อนำไปสู่การเลือกหัวข้อวิจัยในภายหลัง

ผมมีโอกาสได้พบกับอาจารย์ที่ปรึกษา (Professor) ตั้งแต่ปีที่ 1 โดยมหาวิทยาลัยจะจัดการนัดให้เราและอาจารย์ที่ปรึกษา (Professor Yi Guo) ได้พบปะและพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกัน นอกจากนี้ ผมยังมีผู้ช่วยอาจารย์ที่ปรึกษา (Professor Fangli Ying) ซึ่งได้พบและพูดคุยบ่อยกว่าอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งเราจะมีการนัดเพื่อพูดคุยถึงความคืบหน้าการวิจัยในทุกสัปดาห์ ๆ ละ 1 ครั้ง

จุดประสงค์ในการทำเช่นนี้ ผู้ช่วยอาจารย์ที่ปรึกษาบอกผมว่าเพื่อเป็นการฝึกนำเสนอและทำความเข้าใจกับเนื้อหาที่เราทำการวิจัยอยู่ด้วยไปในตัว ซึ่งอาจารย์ทั้งสองท่านดูแลผมเป็นอย่างดี พร้อมให้คำแนะนำในส่วนที่เราขาดไปหลาย ๆ อย่าง ทำให้ผมได้เห็นแนวทางในการทำวิจัยของผมตั้งแต่ปีแรกของการเรียนปริญญาเอกนี้เลย อาจารย์ที่ปรึกษาของผมยังได้มอบโอกาสให้นักศึกษาภายใต้การดูแลของท่านได้เข้าไปเยี่ยมชมบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งซึ่งเป็นบริษัทที่จัดการข้อมูลมหัต (Big Data) ของเซี่ยงไฮ้อีกด้วย

เมื่อขึ้นปีที่สองเทอมแรก จะเป็นการเตรียมนำเสนอหัวข้อการวิจัยในระดับปริญญาเอก ถึงแม้ว่าเราจะเตรียมตัวมาตั้งแต่ปีที่ 1 แต่แนวโน้มงานวิจัยทางด้านสาขาคอมพิวเตอร์จะเปลี่ยนแปลงค่อนข้างไวกว่าสาขาอื่น ทำให้ผมต้องทำการศึกษาและค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อนำเสนอหัวข้อวิจัยของตนเอง โดยก่อนหมดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษาที่ 2 ผมได้จัดทำรายงานหัวข้อวิจัยพร้อมกับนำเสนอหัวข้อวิจัยให้กับอาจารย์ที่ปรึกษาและกรรมการอีก 4 ท่านเพื่อให้แน่ใจว่าหัวข้อวิจัยของเราจะไม่ไปซ้ำซ้อนกับของใคร หรือมีใครทำไปแล้ว

หัวข้องานวิจัยของผมที่ได้ผ่านการสอบหัวข้อแล้วจะเป็นหัวข้อวิจัยเกี่ยวกับการเรียนวิธีการเรียนรู้ของตนเอง (Meta-Learning) ทางด้านการสร้างโมเดลที่ใช้ในรูปภาพ (Image Generative Models) โดยใช้หลักการของการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) เข้ามาช่วย

Meta-Learning (source)

การเรียนวิธีการเรียนรู้ของตนเองนี้จะเป็นการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) ที่จำลองมาจากการเรียนรู้ของมนุษย์โดยนำความรู้ที่มีหรือเคยเรียนไปแล้วมาปรับใช้กับชุดข้อมูลใหม่ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีปริมาณน้อย (Few-shot Learning) และไม่เคยถูกเรียนรู้มาก่อน

อย่างที่ทราบกันดีว่า การที่จะนำการเรียนรู้เชิงลึกมาประยุกต์ใช้ได้นั้นจะต้องอาศัยขนาดข้อมูลที่ใหญ่หรือที่เรารู้จักกันในชื่อข้อมูลมหัต (Big data) แต่การวิจัยของผมจะมุ่งเน้นไปที่ทำอย่างไรถึงจะนำองค์ความรู้ของการเรียนรู้เชิงลึกมาใช้กับข้อมูลซึ่งมีขนาดเล็กอีกทั้งยังเป็นข้อมูลใหม่ที่ไม่เคยมีการเรียนรู้มาก่อนได้ โดยลักษณะการเรียนรู้เช่นนี้จะมีลักษณะคล้ายกับการเรียนรู้ของมนุษย์มากกว่า แต่เดิมมนุษย์เรียนรู้สิ่งใหม่ได้เร็วก็เพราะว่ามนุษย์เรียนรู้จากความรู้เดิมที่ตนเองมีอยู่แล้วโดยไม่ต้องเริ่มเรียนรู้ใหม่ทุกครั้ง

ยกตัวอย่างเช่น ตอนเรายังเป็นเด็กและเริ่มรู้จักสัตว์ใหม่ ๆ อาจจะเริ่มรู้จักว่าสัตว์ตัวไหนคือสุนัขตัวไหนคือแมว จากนั้นเมื่อเห็นเสือครั้งแรกก็อาจจะคิดว่าเป็นแมวแต่ก็ยังไม่แน่ใจจนกระทั่งเห็นครั้งที่ 2-3 จึงมั่นใจว่าไม่ใช่แมว ต่อมาเมื่อมีคนบอกว่าสัตว์ตัวนั้นคือเสือ มนุษย์ก็จะจำได้ว่าสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายแมวแต่ขนาดตัวใหญ่กว่าหลายเท่าตัวนั้นคือเสือ เป็นต้น ซึ่งการเรียนรู้เช่นนี้เป็นการเรียนรู้ของตนเองหรือ Meta-Learning

ส่วนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษาที่ 2 จะเป็นการวิจัยเกี่ยวกับหัวข้อที่เราได้สอบไปแล้วเพื่อเขียนผลงานสำหรับตีพิมพ์ในวารสารต่อไป โดยเงื่อนไขในการจบของที่นี่ ควรจะต้องมีผลงานตีพิมพ์อย่างน้อย 4 ผลงาน ซึ่งในผลงานทั้งหมดนั้นมี 2 ผลงานที่อยู่ในวารสารที่กำหนดโดยประเทศจีน หรือ China Computer Federation (CCF) List

หลังจากเรียนจบ ผมมีแผนที่จะนำองค์ความรู้ที่ได้จากช่วงการศึกษาและวิจัยในระดับปริญญาเอกที่จีนนี้ไปต่อยอดในการสร้างแอพพลิเคชั่นที่เป็นในทาง Computer Vision โดยใช้ Deep Learning เข้ามาช่วย ปัจจุบันแอพพลิเคชั่นทางด้านนี้มีความหลากหลายและเป็นที่ต้องการ เช่น การทำนายมะเร็งจากฟิล์มเอกเรย์ทางด้านการแพทย์ การวิเคราะห์โรคของพืขผลจากภาพทางด้านการเกษตร การลดขนาดวิดีโอโดยคัดเฉพาะช่วงที่สำคัญอัตโนมัติ (Video Summarization) หรือแม้กระทั่งการตัดต่อภาพอัตโนมัติโดยไม่ใช้ Photoshop เป็นต้น

ด้านกิจกรรม

ทุก ๆ ปี มหาวิทยาลัยจะจัดกิจกรรมให้นักศึกษาชาวต่างชาติได้มีโอกาสเข้าร่วมหรือเป็นเจ้าภาพในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กิจกรรม One-day trip at Shanghai ซึ่งกิจกรรมนี้นักศึกษาใหม่ทุกคนมีสิทธิ์เข้าร่วม ทางมหาวิทยาลัยเองจะมีการจัดรถบัสพร้อมไกด์นำทางเยี่ยมชมรอบเมืองเพื่อให้นักศึกษาได้รู้จักเมืองเซี่ยงไฮ้มากขึ้น

กิจกรรมที่น่าสนใจอีกกิจกรรมที่นักศึกษาต่างชาติได้เข้าร่วมคือ กิจกรรมจัดซุ้มประจำชาติ ซึ่งกิจกรรมนี้นักศึกษาแต่ละชาติจะสามารถจัดทำซุ้มประจำชาติของตัวเองพร้อมทั้งสามารถแสดงศิลปะประจำชาติของตนให้นักศึกษาจีนและนักศึกษาจากประเทศอื่นได้รับชมอีกด้วย

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]