ภวิสร ชื่นชุ่ม (คิงส์)
ปริญญาเอก – วิศวกรรมชลศาสตร์การจัดการทรัพยากรน้ำและไฟฟ้าพลังงานน้ำ มหาวิทยาลัยชิงหัว ประธานนักเรียนไทยมหาวิทยาลัยชิงหัว
ปริญญาโท – วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปริญญาตรี – วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

“ผมมีความมุ่งมั่นว่า เมื่อจบปริญญาเอก ผมอยากกลับมาประเทศไทย เพื่อนำความรู้และประสบการณ์กลับมาช่วยพัฒนาประเทศทางด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”

สวัสดีครับ ผมชื่อ ภวิสร ชื่นชุ่ม ชื่อเล่น คิงส์ เป็นนักเรียนทุนรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน (CSC) ระดับปริญญาเอกประจำปี 2018-2022 ศึกษาอยู่ที่ Institute of Hydraulic Structures Engineering and Project Management คณะวิศวกรรมโยธา (Civil Engineering) ณ มหาวิทยาลัยชิงหวา (Tsinghua University) ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงปักกิ่ง

ผมคิดว่า มหาวิทยาลัยชิงหวานี้ต้องอยู่ในความฝันของใครหลาย ๆ คนแน่นอน เนื่องจากปัจจุบัน มหาวิทยาลัยชิงหฺวา ติดอันดับมหาวิทยาลัยโลกในอันดับที่ 15 ประจำปี 2020-2021 โดย QS World University Rankings และอันดับที่ 20 ของโลก โดย Times Higher Education นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยชิงหวาเคยถูกจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับที่ 1 ของเอเซียมาแล้ว ในปี 2019-2020

รู้จักมหาวิทยาลัยชิงหวา

ผมขอเล่าข้อมูลของมหาวิทยาลัยชิงหวาแบบคร่าว ๆ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับคนที่สนใจนะครับ มหาวิทยาลัยชิงหวา ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1911 ในบริเวณสวนของราชวงศ์ชิง โดยเงินบริจาคของรัฐบาลแมนจู ด้วยการเสนอของประธานาธิบดีธีโอดอร์ โรสเวลต์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาและมติของรัฐสภาสหรัฐอเมริกา จากเงินอุดหนุนการช่วยเหลือสมัยเหตุการณ์กบฏนักมวย มหาวิทยาลัยชิงหวาเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงที่สุดหนึ่งในสองแห่งของจีน อีกแห่งคือมหาวิทยาลัยปักกิ่ง โดยมหาวิทยาลัยชิงหฺวามีศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีนสองคน ได้แก่ หู จิ่นเทา และ สี จิ้นผิง

สาขาวิชาที่โดดเด่น ได้แก่ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี สถาปัตยกรรมศาสตร์ นิเทศศาสตร์ สังคมวิทยา ประวัติศาสตร์ ลัทธิมาร์กซิสต์ บริหารธุรกิจ และวิทยาศาสตร์ ในระดับเอเชียและระดับโลก

ในสายตาชาวจีนมหาวิทยาลัยชิงหฺวามีความโดดเด่นด้านวิชาการเทียบเท่ามหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่บริเวณข้างเคียงกัน มหาวิทยาลัยปักกิ่งเน้นการเรียนการสอนสาขาวิชาด้านภาษา และสังคมศาสตร์ โอเคโม้พอแล้วครับ ผมขอกลับเข้าสู่เรื่องที่ผมจะมาเล่าให้ทุกคนได้อ่านในวันนี้คือ ประสบการณ์การเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยชิงหวากันครับ

แผนการเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยชิงหวา

หลักสูตรการเรียนด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ระดับปริญญาเอกที่ชิงหวาเป็นหลักสูตร 3-4 ปี โดยจะแบ่งเป็นการเรียนวิชาเชิงทฤษฎี และการทำวิจัย ซึ่งนักศึกษาปริญญาเอกจะต้องลงหน่วยกิตขั้นต่ำ 16 หน่วยกิต เพื่อจะจบการศึกษาในทั้งสองส่วนที่กล่าวมา

สำหรับส่วนแรก คือ การเรียนวิชาเชิงทฤษฎี นักศึกษาจะต้องเลือกเรียนวิชาที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่ตนเองจะทำวิจัยเป็นหลัก เพื่อให้มีความรู้เพียงพอในการประยุกต์สมการหรือกรอบแนวความคิดเพื่อต่อยอดองค์ความรู้ในศาสตร์ที่ตนเองสนใจ ยกตัวอย่างในสาขาที่ผมเรียนลงเรียน เช่น Hydropower Engineering, River Dynamics and Integrated River management, และ World River Governance เป็นต้น

การสำรวจแม่น้ำและการเกิดตะกอน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิชาด้านชลศาสตร์

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยจะให้นักศึกษาเรียนวิชาบังคับ 1-2 วิชา เช่น ภาษาจีน หรือสังคมและวัฒนธรรมจีน เป็นต้น เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตในสังคมหรือสภาพแวดล้อมที่จีนได้นั่นเอง โดยในการเรียนส่วนนี้ ควรจะใช้เวลาทั้งหมด 1 ปีหรือมากกว่านั้น ซึ่งขึ้นอยู่กับอาจารย์ที่ปรึกษาจะกำหนดวิชาเรียนให้ อย่างไรก็ตาม ภายในระยะเวลา 1 ปีที่เรียนวิชาเชิงทฤษฎี นักศึกษาควรใช้เวลานี้ค้นหาหัวข้อวิจัยที่ตนเองอยากจะทำ โดยพยายามพูดคุยปรึกษากับทางอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นประจำ เริ่มตั้งขอบเขตงานวิจัยให้มีความเป็นรูปธรรม และหาข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้ในงานวิจัย เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ โดยปกติแล้วอาจารย์แต่ละท่านจะกำหนดวันประชุมติดตามงานวิจัยเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อคอยให้คำแนะนำที่มีประโยชน์ให้กับนักศึกษาในสังกัดของตัวเอง

เมื่อขึ้นปีที่ 2 เทอมที่ 1 นักศึกษาทั้งหมดไม่ว่าจีนหรือต่างชาติ จะถูกกำหนดให้สอบวัดคุณสมบัติระดับปริญญาเอกหรือที่เรียกว่า Ph.D. Qualifying Examination (QE) เพื่อทำการทดสอบว่านักศึกษามีคุณสมบัติและความรู้เพียงพอหรือไม่ที่จะทำวิจัยในระดับปริญญาเอก การสอบ QE ของคณะผมจะแบ่งการสอบเป็น 3 รอบ ได้แก่

  • รอบที่หนึ่ง คือการวัดความรู้จากการให้นักศึกษาเขียนรายงานอธิบายว่าที่ผ่านมา นักศึกษาเรียนอะไรมาบ้าง และจะดำเนินงานวิจัยระดับปริญญาเอกอย่างไร ในรอบนี้ นักศึกษาจะมีเวลาประมาณ 1 เดือนในการเขียนรายงาน ถ้านักศึกษาได้รับการประเมินจากกรรมการว่าผ่าน ก็จะมีสิทธิ์ขึ้นสอบ QE ในรอบที่สอง
  • รอบที่สอง คือการสอบข้อเขียนเพื่อวัดความรู้ในศาสตร์ที่ตนเองเรียนมา ซึ่งนักศึกษาจะไม่รู้แนวข้อสอบแต่อย่างใด ดังนั้น นักศึกษาจะต้องอ่านหนังสืออย่างเข้มข้น เพื่อเตรียมพร้อมกับโจทย์ต่าง ๆ ที่ทางอาจารย์เตรียมไว้ให้ ถ้าสามารถสอบได้คะแนนเกิน 70% จะถือว่าผ่านการสอบ QE แต่ถ้าคะแนนที่ได้รับต่ำกว่า 70% แต่เกิน 60% นักศึกษาจะต้องไปสอบ QE ในรอบที่สามต่อไป
  • รอบที่สาม คือการสอบวัดความรู้แบบปากเปล่า ซึ่งนักศึกษาจะไม่รู้แนวข้อสอบแต่อย่างใดเช่นเดียวกับรอบที่สอง โดยนักศึกษาจะต้องตอบคำถาม และบรรยายในสิ่งที่กรรมการสอบถาม ถ้าสามารถสอบได้คะแนนเกิน 70% จะถือว่าผ่านการสอบ QE ถ้าต่ำกว่านั้นถือว่าสอบตก QE

ถ้านักศึกษาสอบตก QE จำนวน 2 ครั้ง จะถือว่าไม่มีคุณสมบัติเพียงพอต่อการเรียนปริญญาเอกที่ชิงหวา ซึ่งนักศึกษาจะถูกบังคับให้ลาออกครับ

หลังจากสอบผ่าน QE แล้ว นักศึกษาจะต้องเร่งทำงานวิจัย เพื่อตีพิมพ์ผลงานแรกในวารสารวิชาการระดับนานาชาติในฐานข้อมูลระดับ Q1 เพื่อให้มีสิทธิ์ขึ้นสอบ Ph.D. thesis proposal defense หรือการสอบป้องกันโครงร่างวิทยานิพนธ์ ในขั้นตอนนี้ผมคงไม่สามารถระบุเวลาได้ว่า นักศึกษาแต่ละคนจะดำเนินการได้เสร็จเมื่อไหร่ เนื่องจากการทำวิจัยจำเป็นต้องอาศัยทั้งเวลา งบประมาณ และความรู้เชิงทฤษฎีมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ๆในการพัฒนา และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่โลกเผชิญอยู่

อย่างไรก็ตาม นักศึกษาจะต้องวางแผนและกำหนดเวลาให้กับตัวเอง มิฉะนั้น อาจจะทำให้การเรียนระดับปริญญาเอกยาวนานขึ้นจากหลักสูตรที่วางเอาไว้ หลังจากสอบผ่าน Ph.D. thesis proposal defense นักศึกษาจำเป็นต้องตีพิมพ์ผลงานชิ้นที่สองในวารสารวิชาการนานาชาติในฐานข้อมูลระดับ Q1 อีกหนึ่งงาน โดยใช้เวลา 1 ปีหรือมากกว่านั้น ก่อนที่จะมีสิทธิ์ขึ้นสอบ Ph.D. thesis defense หรือการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ ถ้านักศึกษาสามารถดำเนินการได้ตามนี้ แน่นอนว่าจบปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยชิงหวาได้แน่นอน

งานวิจัย การกัดเซาะของผิวดินและการเกิดตะกอนในแม่น้ำ

สำหรับงานวิจัยของผม ผมเน้นการสร้างกรอบแนวคิดการวิเคราะห์เชิงบูรณาการของกระบวนการการกัดเซาะของผิวดินและการเกิดตะกอนในแม่น้ำ จากกระบวนการทางธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ ซึ่งมีผลต่อการผลิตและการบริหารจัดการกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำในแม่น้ำโขง รวมไปถึงการศึกษาหาความสมดุลที่เหมาะสมระหว่างระบบนิเวศกับความต้องการของมนุษย์ ภายใต้ความดูแลของ Professor Wenzhe Tang และ Professor Mengzhen Xu

กลุ่มวิจัยด้าน Hydropower Engineering ภายใต้การดูแลของ Prof. Wenzhe Tang

ก้าวสุดท้ายของปริญญาเอก

ขณะนี้ ผมสอบผ่าน Ph.D. thesis proposal defense แล้วเมื่อเดือนมิถุนายน 2020 ที่ผ่านมา โดยเป็นการสอบรูปแบบออนไลน์ครั้งแรกผ่านระบบ Zoom เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ทำให้ไม่สามารถเดินทางกลับจีนได้ นอกจากนี้ ผมได้ตีพิมพ์วารสารวิชาการระดับนานาชาติในฐานข้อมูลระดับ Q1 จำนวน 2 ฉบับ เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยผมโดยตรง ผลงานวิชาการทั้งสองงานจะทำการอธิบายวิธีการประมาณปริมาณตะกอนจากสมการการกัดเซาะบนผิวดิน และการคาดการณ์ปริมาณตะกอนในอนาคตจากอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถ้าเป็นไปตามแผนผมน่าจะจบประมาณปลายปี 2021 ครับ (หวังสุดๆ)

งานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติในฐานข้อมูล Q1

บรรยากาศการเรียนและสภาพแวดล้อมที่มหาวิทยาลัยชิงหวา

หลังจากอ่านเรื่องเครียด ๆ ของการเรียนไปแล้ว เรามาเปลี่ยนอารมณ์กันบ้างดีกว่าโดยผมจะมาเล่าบรรยากาศการเรียนและสภาพแวดล้อมที่มหาวิทยาลัยชิงหวา

ผมคิดว่า มหาวิทยาลัยชิงหวาเป็นมหาวิทยาลัยที่มีบรรยากาศสวยมาก ๆ ทั้งรูปแบบอาคารและตึกที่มีความเป็นยุโรปผสมกับกลิ่นอายของวัฒนธรรมจีน ครบรสทั้ง 4 ฤดูกาล ที่มีความสวยงามแตกต่างกันไป เนื่องจากมหาวิทยาลัยชิงหวาเคยเป็นที่ตั้งของอุทยานหลวงของราชวงศ์ชิงมาก่อน บางครั้งที่ผมเครียดจากการเรียนหรือวิจัยมา ออกมาเดินดูสวน ช่วยทำให้รู้สึกคลายเครียดและผ่อนคลายจากธรรมชาติในมหาวิทยาลัย

เพื่อนใหม่จากทั่วโลก    

อีกหนึ่งสิ่งที่ผมคิดว่ามีสำคัญมาก คือ การมีเพื่อนใหม่จากหลากหลายประเทศทั่วโลกที่มาเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้รวมไปถึงคนจีน ทำให้ผมได้ศึกษาและเข้าใจวัฒนธรรมจากหลากหลายประเทศ นอกจากนี้ เพื่อน ๆ ทุกคนมีอัธยาศัยที่ดี ช่วยเหลือผมในการเรียน และการทำงานกลุ่ม โดยเฉพาะเพื่อนคนจีน เนื่องจากกระบวนการทางเอกสารบางอย่าง จำเป็นต้องอาศัยเพื่อนคนจีนในการช่วยเหลือและติดต่อกับฝ่ายธุรการ ซึ่งถ้าผมไม่มีพวกเขาคงแย่แน่นอนครับ

นอกจากนี้ เพื่อน ๆ คนไทยด้วยกัน ก็มีส่วนช่วยเหลืออย่างมากในการเรียน และการใช้ชีวิตอยู่ที่มหาวิทยาลัย โดยกลุ่มคนไทยที่ชิงหวามีจำนวนไม่มากนัก ทำให้อยู่กันแบบครอบครัว มีความสนิทสนมกันมาก ซึ่งทำให้ลดการคิดถึงบ้านลงไปได้บ้าง กิจกรรมที่คนไทยในชิงหวาชอบที่สุดคือ การรวมกลุ่มทำอาหารไทยทานด้วยกัน เป็นกิจกรรมที่มาอัพเดตชีวิตและอร่อยไปพร้อม ๆ กันครับ

กิจกรรมต่าง ๆ ของคนไทย

ท้ายที่สุดนี้ การที่ผมได้มาเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ ถือเป็นความโชคดีอย่างมากของชีวิต ผมต้องขอขอบคุณผู้ที่ให้โอกาสและสนับสนุนผมมาโดยตลอดคือ คณาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่คอยผลักดันให้ผมสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์การเรียนและการวิจัยในระดับโลกได้

ผมมีความมุ่งมั่นว่า เมื่อจบการศึกษาปริญญาเอกแล้ว ผมอยากกลับมาประเทศไทย บ้านเกิดเมืองนอนของผมเอง เพื่อนำความรู้และประสบการณ์กลับมาช่วยพัฒนาประเทศทางด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมไปถึงการเป็นทูตสันธวไมตรีทางด้านวิชาการระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศไทยต่อไปในอนาคต ไว้ถ้ามีโอกาสจะมาแบ่งปันประสบการณ์ต่างๆที่มหาวิทยาลัยชิงหวาอีกนะครับ

Tsinghua Yao Yao  

ถ้าใครสนใจสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยชิงหวา สามารถติดตามข้อมูลจากเพจ Tsinghua Yao Yao และกลุ่มแนะแนวเข้าชิงหวาใน Facebook ได้เลยครับ โดยทั้งเพจและกลุ่มใน Facebook นี้ ผมเป็นแอดมินดูแลเองครับ ร่วมกับพี่ ๆ น้อง ๆ ชิงหวา ทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน มาคอยตอบคำถามและข้อสงสัยของน้อง ๆ ในแต่ละหลักสูตร ไม่มีค่าใช้จ่ายนะครับ พวกเราทำเป็นวิทยาทานล้วน ๆ เพื่อส่งต่อโอกาสดีดีให้กับพี่ ๆ น้อง ๆ ที่สนใจศึกษาต่อมหาวิทยาลัยนี้ครับ ไว้เจอกันใหม่ สวัสดีครับ!!!