ทิศทางการค้าสินค้าออนไลน์กับพฤติกรรมการบริโภคสินค้าของชาวจีน

 

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565 สำนักข่าว Red Star News และ Chengdu Departure เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการบริโภคสินค้าของชาวนครเฉิงตู โดยเปิดให้ชาวนครเฉิงตูตอบแบบสอบถามออนไลน์ ตลอดระยะเวลา5 วัน มีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 1,163 คน โดยกว่าร้อยละ 63 เป็นผู้บริโภคที่เกิดระหว่างปี 2523-2542 (อายุระหว่าง 23-42 ปี) และกว่าร้อยละ 73 เป็นเพศหญิง ผลสำรวจดังกล่าวมีนัยสำคัญดังนี้

  1. ความถี่ของการซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์และออฟไลน์

ความถี่ที่ผู้บริโภคชาวนครเฉิงตูส่วนใหญ่ซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์และออฟไลน์คือเดือนละ 2-5 ครั้ง

 

  1. ช่องทางการโปรโมทสินค้าที่ช่วยให้ผู้บริโภคช่วยตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น (เลือกตอบได้หลายตัวเลือก)


ผู้บริโภคกว่าร้อยละ 67 ตัดสินใจซื้อสินค้าหลังจากรับชมวิดีโอสั้นและ Live streaming ซึ่งมากกว่าจาก
การโฆษณาแบบดั้งเดิม (โฆษณาทางโทรทัศน์ เว็บไซต์-แอปพลิเคชั่นจำหน่ายสินค้า หรือคำแนะนำจากพนักงาน) เกือบเท่าตัว

ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  แบรนด์หรูและห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ในนครเฉิงตูหันมาพัฒนาช่องทางจำหน่ายสินค้าออนไลน์ด้วยการ Live streaming มากขึ้น

 

  1. อัตราส่วนผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าผ่านทาง Live streaming

ผู้บริโภคกว่าร้อยละ 77 รับชมสินค้าผ่านทาง Live streaming และกว่าร้อยละ 65 ซื้อสินค้าผ่านทาง Live streaming

 

  1. นิยมซื้อสินค้าประเภทใด ผ่านช่องทาง Live streaming

ผู้บริโภคชาวนครเฉิงตูส่วนใหญ่นิยมซื้อสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ อาหาร ของใช้ในชีวิตประจำวันผลิตภัณฑ์บำรุงผิว-สินค้าเพื่อสุขภาพ และเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ผ่านทาง Live streaming

 

  1. ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าโดยพิจารณาจาก…… (เลือกตอบได้หลายตัวเลือก)


แม้ว่าผู้บริโภคชาวนครเฉิงตูจะชื่นชอบการซื้อสินค้าผ่าน Live streaming แต่ในทางกลับกัน KOL ซึ่งเป็นผู้ทำการ Live streaming กลับมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อน้อยมาก โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่ตัดสินใจซื้อสินค้าโดยพิจารณาจากราคาสินค้า คุณภาพสินค้า และแบรนด์สินค้าเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ยอดจำหน่ายมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อน้อยมากเช่นกัน ดังนั้น “การปั่นจำนวนยอดขาย” จึงอาจไม่จำเป็นอีกต่อไป

 

  1. ปัญหาที่ผู้บริโภคพบเจอมากที่สุด (เลือกตอบได้หลายตัวเลือก)

ปัญหาที่ผู้บริโภคชาวนครเฉิงตูพบเจอมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) อาหารที่ซื้อทางออนไลน์ไม่สด ไม่อร่อย หรือคุณภาพไม่ตรงกับที่โฆษณา (2) ขณะ Live streaming โฆษณาว่าลดราคา ขายราคาที่ถูกที่สุด แต่ความจริงแล้วเป็นราคาปกติ (3) ซื้อบัตรรับประทานอาหาร ชุดสำรับอาหารล่วงหน้า แต่เมื่อไปถึงร้าน ทางร้านเพิ่งแจ้งข้อกำหนดในการใช้งาน

 

  1. สิ่งที่ผู้บริโภคไม่ชอบมากที่สุด (เลือกตอบได้หลายตัวเลือก)


สิ่งที่ผู้บริโภคชาวนครเฉิงตูส่วนใหญ่ไม่ชอบ 3 อันดับแรกได้แก่ (1) สินค้าที่มีคุณภาพไม่ดี (2) บริการหลังการขายไม่ดี และ (3) การโฆษณาหลอกลวง

ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประชาชนหันมาซื้อของออนไลน์มากขึ้น จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้อีคอมเมิร์ซในประเทศจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน การ Live streaming บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเป็นหนึ่งในวิธีการโปรโมทสินค้าที่ช่วยให้ผู้บริโภคเกิดความต้องการซื้อและตัดสินใจซื้อได้ง่ายที่สุด และยังช่วยให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าได้อย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการนำสินค้ามาจำหน่ายในประเทศจีนผ่านอีคอมเมิร์ซ อาจพิจารณาโปรโมทสินค้าผ่านทาง Live streaming ที่กำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคจีนในปัจจุบัน โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และควรคำนึงถึงราคาสินค้า คุณภาพสินค้า และความน่าเชื่อถือของแบรนด์ ความซื่อสัตย์และซื่อตรงต่อลูกค้า บริการหลังการขาย ซึ่งมีความสำคัญมากต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภค นอกจากนี้ควรติดตามข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้ธุรกิจตามทันทิศทางของตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีน และประสบความสำเร็จได้ง่ายยิ่งขึ้น

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง: เว็บไซต์ myzaker.com (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565)

https://app.myzaker.com/news/article.php?f=Normal&pk=6229a0bd8e9f094ee506ad61

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]