จิรัตน์ชญา พจน์จริยาพร | นักศึกษาแพทย์แผนจีน Beijing University of Chinese Medicine

สวัสดีค่ะ ดิฉัน แพทย์จีน จิรัตน์ชญา พจน์จริยาพร นักศึกษาปริญญาโทปีที่ 1 มหาวิทยาลัยแพทย์แผนจีน กรุงปักกิ่ง (Beijing University of Chinese Medicine, BUCM)  สาขาวิชาฝังเข็มชั้นคลีนิค

บทความนี้ เป็นการบอกเล่าประสบการณ์การทำงานที่โรงพยาบาลจีน รวมถึงคำแนะนำสำหรับคนที่สนใจจะศึกษาต่อในด้านแพทย์ทางเลือกแผนจีนค่ะ หลักสูตรแพทย์แผนจีนมีให้เลือกเรียนทั้งภาคภาษาจีนและภาคภาษาอังกฤษ โดยการเรียนระดับปริญญาตรีภาคภาษาจีนใช้ระยะเวลาในการศึกษารวม 5 ปี แบ่งสาขาวิชาการเรียนแต่ละปีดังนี้

  • ปี 1  แพทย์จีนพื้นฐาน ประวัติศาสตร์​จีน​ วรรณ​กรรมจีน
  • ปี 2  ยาจีน Jingluo (จุดฝังเข็มและเส้นลมปราณ) การวินิจฉัยโรค​ กายวิภาคศาสตร์
  • ปี 3  แพทย์แผนปัจจุบันเบื้องต้น Tuina (ศาสตร์การนวดของแพทย์แผนจีน)​ ฝังเข็ม ​ตำรับยา​ และฝึกเทรนด์​ 2 เดือน
  • ปี 4  สูตินารีเวช ศัลยกรรมกระดูก อายุรกรรม กุมารเวช
  • ปี 5  ฝึกเทรนด์ตามแผนกต่างๆ ที่ทาง​ รพ.​ กำหนด​นาน 10 เดือน

โดยในแต่ละปีอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงลำดับหรือเพิ่มลดวิชาการเรียนและตารางเทรนด์ตามความเหมาะสม​ ทั้งนี้สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนอีกอย่างคือ​ ทางรัฐบาลจีนมีการให้ความสำคัญเกี่ยวกับการผสมผสานความรู้ทางแพทย์แผนจีนโบราณ​กับความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม​ของแพทย์แผนปัจจุบันมาก​ โดยแต่ละแผนก​สามารถที่จะเบิกยาจีนได้ตามอาการที่วินิจฉัย​ โดยครอบคลุมในหลักประกันชีวิตด้วย​  ดังนั้นผู้ป่วยสามารถมั่นใจได้ว่าจะได้รับตัวเลือกการรักษาที่หลากหลายและเหมาะสมมากที่สุดนั้นเอง

แผนกฝังเข็ม (Acupuncture)

แพทย์แผนจีน เป็นการรักษาแบบองค์รวม เน้นโรคเรื้อรังที่แพทย์แผนปัจจุบันรักษาไม่ค่อยหาย จุดเด่นของแพทย์แผนจีน คือ การปรับสมดุลของร่างกายและการทำงานของอวัยวะ โดยไม่ใช้สารเคมี

แผนกฝังเข็ม เป็นการรักษาโดยใช้การฝังเข็มเป็นหลัก ซึ่งนอกจากจุดที่ฝังเข็มแล้ว ยังต้องมีการจับชีพจร หรือ“แมะ” ประกอบการวินิจฉัย เพราะชีพจรจะสะท้อนสภาพร่างกายของผู้ป่วยที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ รวมทั้งการดูลักษณะและสีของลิ้น เพื่อวินิจฉัยโรคและกลุ่มอาการ ด้วยวิธีการทั้งหมดนี้ สามารถวิเคราะห์และหาสาเหตุได้

ส่วนตำรับยาจีน เป็นเรื่องพื้นฐานที่ต้องรู้และนำไปปรับใช้เพื่อผลการรักษาที่ดี

ในบางราย อาจจะรักษาโดยการครอบแก้ว หรือ การกระตุ้นไฟฟ้า ร่วมด้วย

ฝังเข็มรักษาโรคอะไร เจ็บไหม

การฝังเข็ม รักษาได้แทบทุกโรคที่มีอาการ เช่น ปวดหัว เครียด ภาวะผิดปกติของระบบในร่างกาย เช่น น้ำหนักเกิน ความดันเลือดสูงหรือต่ำ คลื่นไส้ อาเจียน อาการเจ็บปวดตามร่างกาย

ความเจ็บของร่างกาย เรียกว่า “ได้ชี่” (得气)  หรือปฏิกิริยาต่อเข็ม (needling sensation) คือความรู้สึกที่เกิดขึ้นหลังจากแทงเข็มลงไป โดยคนไข้อาจจะรู้สึกปวด ชา หน่วง หรือราวกับไฟฟ้าช๊อตบริเวณรอบจุดฝังเข็ม ถ้ามีอาการเหล่านี้ถือว่าดีค่ะ เป็นสัญญาณว่าการรักษาโรคนั้นได้ผล  ผู้ป่วยบางรายที่ไม่รู้สึกจากการแทงเข็ม หมอจะกระตุ้นเข็มเพื่อให้เกิดการ “ได้ชี่”

การครอบแก้ว​ (Cupping Therapy)

การครอบแก้ว​เป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน​ เนื่องด้วยเป็นวิธีที่ปลอดภัย​ สะดวก​ และเห็นผลชัดเจน​ ทั้งยังมีคุณสมบัติทางการรักษาที่หลากหลาย​ เช่น​ การคลายกล้ามเนื้อ​  กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด​ ลดการอักเสบ​ รวมถึงใช้ในด้านความงาม​ เป็นต้น

การครอบแก้วที่นิยมใช้กัน​นั้นแบ่งเป็นสองประเภทคือ​ ครอบแก้วแบบแห้ง​ และแบบเปียก ​โดยแบบแห้งนั้นเน้นเพื่อการคลายกล้ามเนื้อเพียงอย่างเดียว ส่วนแบบเปียกนั้นเน้นการคลายกล้ามเนื้อควบคู่กับการปรับการไหลเวียนโลหิต ทั้งนี้อาจใช้ร่วมกับยาจีนเพื่อเพิ่มการดูดซึมบริเวณ​ดังกล่าวยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจหากตาม​รพ.​ หรือคลีนิคเสริมความงาม​ จะมีบริการครอบแก้วไว้ให้บริการ

การทำงานในโรงพยาบาลจีน

เริ่มจากจุดคัดกรอง ที่ต้องซักประวัติและเขียนรายงาน แน่นอนว่าเป็นภาษาจีนทั้งหมด การสื่อสารกับคนไข้นั้นสำคัญมาก เราจะต้องออกเสียงให้ชัดเจน ถามคำถามตรงไปตรงมา ไม่วกวน และไม่ลืมที่จะถามโรคประจำตัวหรืออาการแพ้ต่างๆของคนไข้ด้วย โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกเขียนหรือพิมพ์ลงระบบข้อมูลของโรงพยาบาลที่มีทั้งการวิเคราะห์แบบแพทย์แผนปัจจุบันและแผนจีน

เราต้องวินิจฉัยอาการของผู้ป่วยว่า ควรไปรับการรักษาในแผนกใด และต้องทราบด้วยว่า ห้องตรวจรักษาแต่ละแผนกอยู่ตรงไหน เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจนกับคนไข้

การวิเคราะห์และการรักษาจะยึดตามหลักจีนโบราณเป็นหลัก ประกอบกับผลตรวจเลือดหรือผลตรวจร่างกายอื่นๆ เช่น เอ็กซเรย์ หรือ MRI เพื่อหาต้นเหตุของการเกิดอาการ นำมาประกอบ ประยุกต์และปรับใช้ข้อมูลเข้าด้วยกัน เพื่อหาทางรักษาที่ดีที่สุด

การจ่ายยา ต้องคำนึงถึงผลข้างเคียงหรือการใช้ยาทั้งสองแผนเข้าร่วมกัน และต้องสื่อสารกับคนไข้ให้ชัดเจนว่าแต่จะมีวิธีใช้ที่ต่างกันอย่างไร

การทำงานในโรงพยาบาลไม่ง่ายค่ะ  ดิฉันเป็นลูกหลานคนจีน รูปร่างหน้าตาคล้ายกับคนจีน ทำให้บ่อยครั้งที่มีอาจารย์หมอ และคนไข้คิดว่าเราเป็นคนจีน ก็จะ “แร็ปจีน” ใส่ทั้งในการทำงานหรือการพูดคุย ซึ่งต้องใช้สมาธิและสติจดจ่ออยู่กับทสนทนาตลอด เพราะการถามซ้ำหรือทวนคำถามในบางครั้ง จะทำให้ความน่าเชื่อถือในฐานะหมอลดลง  บางครั้ง ถึงกับต้องพกเครื่องอัดเสียงหรือกระดาษจดติดตัวไว้เสมอ เพื่อป้องกันการสื่อสารที่ผิดพลาดและง่ายต่อการจำ

ข้อแนะนำสำหรับคนที่อยากศึกษาต่อแพทย์แผนจีน

อย่างแรกเลย ควรจะถามใจตัวเองก่อนว่า ชอบแพทย์แผนจีนจริงหรือเปล่า เมื่อแน่ใจว่าชอบก็เริ่มเรียนภาษาจีน อาจจะหาเวลาไปศึกษาเป็นคลาสสั้นๆ ที่จีนในเมืองที่จะไปเรียน เพื่อพัฒนาทักษะการฟังและการพูด  เพราะสำเนียงและวิธีการพูดของคนจีนในแต่ละพื้นที่จะไม่เหมือนกัน จะได้ใช้สื่อสารกับทั้งหมอและผู้ป่วยได้ง่ายขึ้น

สอง ต้องไม่หยุดค้นคว้าและหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา ทุกโรคหรืออาการที่แสดงออกมานั้น เกี่ยวข้องกับภายในร่างกายทั้งหมด บางครั้ง เราคิดว่าสาเหตุมาจากตำแหน่งหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วอาจมาจากตำแหน่งอื่นก็ได้ การรู้ให้รอบคอบ รู้ให้ครอบคลุมจึงสำคัญมาก

สุดท้าย คือ เตรียมความพร้อมทางใจที่จะสู้และเรียนในมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาล

ไม่มีการแพทย์แผนไหนง่ายหรือยากไปกว่ากัน ขึ้นอยู่แต่เพียงเราสนใจด้านไหน ขอให้ตั้งใจและอดทน โดยมีจุดมุ่งหมายที่แน่วแน่  เชื่อว่าทุกคนจะเป็นแพทย์แผนจีนที่ดีในอนาคต ได้แน่นอนค่ะ

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]