Way Forward 2022 “การขจัดความยากจนของจีน ผ่านมุมมอง Dongfang Scholar 2022”

“ในการประชุมทวิภาคีไทย-จีน เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวว่า จีนยินดีร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องการลดความยากจนและการพัฒนาชนบท โดยรัฐบาลจีนมีภาระหน้าที่สำคัญในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจีนและสร้างสรรค์บ้านเมืองในการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างรอบด้านโดยมีอัตลักษณ์ของจีน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของไทย จีนเห็นว่าทั้งสองฝ่ายควรจะเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ร่วมกัน แลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือที่สอดคล้องกันของทั้งสองประเทศอย่างยั่งยืน”

วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน 2565
เวลา 9.00-10.00 น. (ไทย)
10.00- 11.00 น. (จีน)

โดย วัชรินทร์ เศรษฐกุดั่น

คนไทยคนเดียวที่ได้เข้าร่วมโครงการ Peking University Dongfang Scholarship 2022 ณ มหาวิทยาลัยปักกิ่งในปีนี้ และมีโอกาสได้เดินทางศึกษาดูงานเรื่องการขจัดความยากจนในจีน จะมาเล่าสิ่งที่ได้เห็นและเรียนรู้จากพื้นที่จริง

ผู้ดำเนินรายการ
ศิริเพ็ญ กำแพงแก้ว


  • “One Corporate One Village” โครงการวิสาหกิจร่วมกับรัฐบาลช่วยเหลือชุมชน เป็นแนวนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์ “วิสาหกิจต้องแบ่งกำไรส่วนนึง มาช่วยพัฒนาพื้นที่ชนบท” – Prof. Pan Wei
  • นโยบาลหลัก 2 อย่าง (two-not-worries) คือ มีอาหารกินอิ่มท้อง (not worrying about food) ไม่ต้องห่วงเรื่องเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม (not worrying about clothing)  – Prof. Xia Qingjie
  • 想致富 先修路  (If you want to get rich, build roads first) ถ้าอยากมั่งมี ต้องสร้างถนนก่อน ให้ความสำคัญกับ “โครงสร้างพื้นฐาน” เป็นอันดับแรก เน้นการเข้าถึงสาธารณูปโภคของประชาชน เป็นแนวทางเพื่อขจัดความยากจน  จีน – Prof. Lei Shaohua
  • การสร้างความรู้สึกร่วม และตระหนักถึงสังคมส่วนรวม เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ – Prof. Sun Qixiang

การแก้ปัญหาความยากจนของจีน

  • ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตั้งแต่ยุคผู้นำเหมา เจ๋อตง มีอุดมการณ์และความมุ่งมั่นที่ต้องการทำให้ประชาชนทุกคนมีความกินดีอยู่ดีโดยทั่วกัน ด้วยแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  • แนวคิดนโยบายการแก้ปัญหาความยากจนของจีนเริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1949 ยุคเหมาเจ๋อตง ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา จีนสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนให้หลุดพ้นจากความยากจนได้มากถึง 800 ล้านคน โดยในยุคประธานาธิบดี สี จิ้นผิง มีคนพ้นจากความยากจนมากกว่า 80 ล้านคน คนในชนบทมีรายได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 77 บาท สูงกว่าเกณฑ์ของสหประชาชาติที่ระบุว่าคนจนคือคนที่มีรายได้ไม่ถึง 60 บาทต่อวัน
  • ในยุคของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง มุ่งพัฒนาจีนไปสู่ประเทศที่ทันสมัยด้วยอัตลักษณ์ของจีน (Socialism with Chinese characteristics)

นโยบายการพัฒนาประเทศของจีน

รัฐบาลจีนมีวิธีแก้ปัญหาความยากจนโดยการกระจายงานให้กระทรวงต่างๆ ร่วมกันรับผิดชอบ ดูแลพื้นที่ยากจน โดยทั้งภาครัฐและเอกชนจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาชนบท ถ่ายทอดองค์ความรู้ สร้างบ้าน สร้างงาน หาจุดแข็งในพื้นที่ ช่วยกระจายสินค้าให้เกษตรกร และส่งเสริมระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับเยาวชนในท้องถิ่น เพื่อเป็นการยกระดับผู้คนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นด้วยกัน โดยเน้นนโยบายหลัก 2 อย่าง (two-not-worries) คือ มีอาหารอิ่มท้อง (not worrying about food) และไม่ต้องห่วงเรื่องเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม (not worrying about clothing) (Professor Xia Qingjie)

ตัวอย่างโครงการแก้ปัญหาความยากจนในจีน

  • เขตมาลิโป้ มณฑลยูนนาน พื้นที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งในจีน ได้รับการสนับสนุนเงินจากรัฐบาลในการสร้างที่อยู่อาศัยที่มั่นคงแข็งแรง ให้คนในพื้นที่ มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้
  • “One Corporate One Village” พรรคคอมมิวนิสต์มีนโยบายกำหนดให้ บริษัทวิสาหกิจในประเทศ นำกำไรส่วนหนึ่งมาช่วยพัฒนาพื้นที่ยากจนในชนบท ถือเป็นนโยบายส่วนหนึ่งของโครงการพลิกฟื้นคืนชีพให้พื้นที่ชนบท (Rural Revitalization) (Professor Pan Wei)
  • หมู่บ้านหม่าเฟิง มณฑลชานซี เป็น 1 ใน 11 โครงการนำร่อง ที่บริษัทวิสาหกิจจีน China Resources Co., Ltd ร่วมกับรัฐบาลจีนดำเนินการช่วยเหลือชุมชนโดยออกงบประมาณส่วนหนึ่งเพื่อสร้างบ้านที่อยู่อาศัยให้คนในชุมชน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ชาวบ้านมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น และสามารถสร้างรายได้จากที่พักอาศัยด้วยการเปิดเป็นที่พักโฮมสเตย์ในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism and hostel)

สำนวนจีนที่พูดถึงการพัฒนา

想致富 先修路 (เสี่ยง จื้อ ฟู่ เซียน ชิว ลู่) มีความหมายว่า ถ้าอยากมั่งมี ต้องสร้างถนนก่อน

จีนจึงให้ความสำคัญ “โครงสร้างพื้นฐาน” เป็นอันดับแรก คือ การสร้างถนน และ เสาโทรคมนาคม เน้นการเข้าถึงสาธารณูปโภคของประชาชน โดยเชื่อมั่นว่าเมื่อทุกชุมชนเข้าถึงสาธารณูปโภคที่จำเป็น ก็จะสามารถแก้ปัญหาความยากจนได้ (Professor Lei Shaohua)

แนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนของจีน สู่การประยุกต์ใช้ในบริบทของไทย

การขจัดปัญหาความยากจนควรเป็นความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน และประชาชน สิ่งสำคัญคือการสร้างความรู้สึกร่วม และตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาประเทศเพื่อความก้าวหน้าไปด้วยกัน ประเทศจีนสามารถดำเนินการเพื่อให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมได้โดยง่าย ทั้งด้วยระบบการบริหารจัดการ ประกอบกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ เช่น มหาวิทยาลัย กระทรวงต่าง ๆ และบริษัทวิสาหกิจ รวมทั้งประชาชนที่มีความรู้ความสามารถ ต่างมีความตระหนักถึงความสำคัญของการช่วยกันพัฒนาพื้นที่ยากจน เพื่อให้ประเทศพัฒนาโดยทั่วถึง (Professor Sun Qixiang)