ในจีน เมืองที่มีการLockdown – ปิดเมือง ผู้คนใช้ชีวิตเช่นไร? และทางภาครัฐของจีนมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนอย่างไรบ้าง?

ในขณะนี้มีกระแสความกังวลของ Lockdown หรือปิดเมืองในประเทศไทย โดยเป็นความกังวลที่ว่า “ปิดเมือง จะใช้ชีวิตอย่างไร? อาหารการกินจะมีไหม?”

คราวก่อนที่อ้ายจง ได้พูดคุยสัมภาษณ์ น้องน้ำเพชร สาวไทยในหางโจว มณฑลเจ้อเจียง เมืองหนึ่งที่มีการ lockdown อ้ายจงจึงขอสรุปบางส่วนจากการสัมภาษณ์ รวมถึงนำตัวอย่างอื่นๆจากเมืองอื่นในจีน เช่น อู่ฮั่น มาเรียบเรียงเล่าให้ทุกคนได้เห็นตัวอย่างจริงจากในจีน

.

1. ก่อนอื่น ขอทำความเข้าใจก่อนว่า Lockdownในจีน รายละเอียดปลีกย่อยอาจมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละเมือง แต่หลักๆคือ เดินทางข้ามเมืองไม่ได้ แต่ยังสามารถออกมาซื้อของที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันได้

2. อย่างเช่นที่เมืองหังโจว สามารถขับรถไปซื้อของได้ แต่ ต้องไปกลับ ภายใน สี่ชม. ถ้าเกินจากนี้ เขาจะเรียกตำรวจมารับเราไปสถานกักตัวซึ่งก็คือโรงแรมที่รัฐบาลหางโจวเช่าไว้

3.ในกรณีของน้องคนไทยที่อ้ายจงพูดคุย เล่าว่า “ที่ชั้นหนึ่งของคอนโดจะมีเจ้าหน้าที่อยู่ โดยหนึ่งครอบครัวส่งคนออกไปซื้ออาหารได้แค่ หนึ่งคน และสองวันออกไปได้หนึ่งครั้ง

4. วิธีการออกจากบ้าน อย่างเช่นในเมืองหังโจว ต้องแลกบัตรประชาชน กรอกข้อมูลลงสมุดบันทึก ก็พวกชื่อ เบอร์ติดต่อ เจ้าหน้าที่ก็จะวัดอุณหภูมิละจดลงไปด้วย เพราะถ้าขากลับมาอุณภูมิสูงขึ้นกว่าตอนออก เขาก็มีความจำเป็นที่จะต้องเรียกรถพยาบาลมา (ตอนกรอกข้อมูลจะได้ใบสีขาวมา ซึ่งกลับเข้ามาก็ต้องเอามายื่นด้วย ถ้าหาย ไม่ได้เข้าตึก)

5. จากข้อ4 เงื่อนไขการออกไปข้างนอก เราจะต้องให้ดู healthcode ที่อยู่บนแอพมือถือด้วยนะ (ลักษณะเป็น QRCode) จะมีเป็นสีต่างๆ 3สี

สีแดงหมายถึง เคสต้องสงสัย ต้องกักตัว14วัน
สีเหลือง กักตัว7วัน
สีเขียว ร่างกายปกติไม่มีความเสี่ยง

ถ้า Health codeของเราได้สีเขียวถึงออกไปได้

โดยข้อมูลHealth Code ต้องคอยอัพเดท ทุกสิบสี่วัน

6. Health Code ไม่ได้มีแค่ที่ หังโจว เมืองอื่นๆอย่าง อู่ฮั่น ก็ใช้มาตรการแบบนี้

7. ในเมืองที่ lockdown เช่น หังโจว เวลาไปถึงห้างสรรพสินค้า ต้องใส่หน้ากากอนามัย มิเช่นนั้นเข้าไม่ได้ และก็จะมีเจ้าหน้าที่วัดอุณหภูมิละก็ขอเช็ค health code อีกรอบด้วย เรียกได้ว่าเข้มงวดมากๆ

ที่อู่ฮั่น ก็มีมาตรการทำนองนี้เช่นกันนะ

8. สำหรับใครที่ไม่อยากออกไปข้างนอก เมืองต่างๆในจีน รวมถึงอู่ฮั่น พื้นที่ระบาดหนัก ก็ยังคงมีให้บริการจาก Delivery ส่งอาหารให้เรา แต่ว่าจะมีมาตรการที่ป้องกันและควบคุมการระบาด เช่น ตามย่านที่พักอาศัย จะกำหนดจุดสำหรับวางอาหารเอาไว้ พร้อมมาตรการตรวจอุณหภูมิร่างกาย และมาตรการอื่นๆเพื่อให้มั่นใจว่า ผู้ที่มาส่งอาหาร ไม่ใช่ผู้ไม่ติดเชื้อ เพื่อลดการแพร่ระบาด

9. เวลาส่งอาหาร ก่อนที่จะให้บริการ ผู้ส่งอาหารก็จะมีการฆ่าเชื้อกล่องที่ใส่สำหรับวางอาหารลูกค้า รวมถึงตรวจอุณหภูมิตนเองก่อนออกไปส่งอาหาร

10. นอกจากอาหาร ส่งของอื่นๆ ก็เป็นในลักษณะเดียวกัน คนส่งจะต้องเข้ารับมาตรการป้องกันและควบคุมการระบาดก่อนออกมาส่ง เช่น ฆ่าเชื้อกล่องที่จะใส่ของมาส่ง ,ใส่หน้ากากอนามัย

เวลามาส่งของ ก็จะวางในจุดที่เตรียมไว้

11. อีกสิ่งหนึ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ อย่างเช่น ยา,อุปกรณ์สำหรับป้องกันตนเอง จีนก็ออกกฎระเบียบห้ามขายเกินราคา และบางเมืองมีการแจกอุปกรณ์ที่ขาดแคลน เช่น หน้ากากอนามัย หรือเปิดจำหน่ายตามจุดต่างๆแบบจำกัดจำนวนและเลือกจุดที่จะไปซื้อที่ใกล้บ้านตนเองได้ ในลักษณะของการลงทะเบียนจอง/ซื้อผ่านระบบออนไลน์

ช่วงแรกของการปิดเมืองอู่ฮั่น ร้านขายยาจำนวนมากปิดให้บริการ ทางเมืองอู่ฮั่นจึงออกประกาศให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เพื่อให้ร้านขายยาในอู่ฮั่นเปิดให้บริการปกติ เพื่อให้ประชาชนสามารถหาซื้อยาและอุปกรณ์ดูแลป้องกันตนเองในช่วงการแพร่ระบาด

12. นอกจากจีน จะคุมราคาของยา ,อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นสำหรับใช้ป้องกันตนเอง ตั้งแต่การแพร่ระบาดหนัก จีนได้ออกกฎห้ามฉวยโอกาสขึ้นราคาผัก-ผลไม้,ของสด,วัตถุดิบทำอาหาร รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ หากใครฝ่าฝืนจะโดนลงโทษหนัก เพื่อเป็นการการันตีว่าประชาชนทุกคนจะมีสิ่งจำเป็นสำหรับกรรดำรงชีพได้

แต่ก็มีผู้ประกอบการบางรายในจีน ฉวยโอกาสขี้นราคาและโดนลงโทษไปแล้ว ขอยกสักหนึ่งตัวอย่าง

บริษัทอาหารและเครื่องดื่มแห่งหนึ่งในอู่ฮั่นถูกปรับ3ล้านหยวน (ประมาณ 13.5ล้านบาท) เนื่องจากฉวยโอกาสขึ้นราคาผักและผลไม้ ในช่วงการแพร่ระบาดCOVID-19 และปิดเมือง โดยขายเกินราคาบนแพลทฟอร์ม E-commerce ขายออนไลน์

ตัวอย่างราคาที่ขายเกินจริง เช่น

– ข้าวโพดสด 10หยวน/1 ฝัก (ประมาณ 45บาท)

– หัวไชเท้า 16หยวน/1กิโลกรัม (ประมาณ 72บาท)

– แครอท 25หยวน/1 กิโลกรัม (ประมาณ 112.5บาท)

โดยขายแพงกว่าที่ขายกันปกติ 2-6เท่า

13. ขนส่งมวลชน : เมืองที่ Lockdown จะจำกัดเรื่องการเดินทางอยู่แล้ว ทำให้ไม่สะดวกดหมือนตอนภาวะปกติ แต่ทางรัฐบาลจีนและเมืองนั้นๆ ก็จะมีนโยบายเพื่อช่วยเหลือ

เช่น เมืองอู่ฮั่น จัดรถแท็กซี่ให้บริการแบบพิเศษ 6,000คัน และยังมีรถเมล์อีก300กว่าคัน สำหรับผู้ที่มีความจำเป็นต้องออกข้างนอก, ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ

14. มีการจัดตั้งหน่วยควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด ตามย่านที่พักอาศัยและเขตต่างๆ พร้อมทั้งตั้ง Hotline สายด่วนสำหรับประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือ อย่างเช่น เมืองอู่ฮั่น จะมี hotline แยกเบอร์โดยแบ่งตามจุดประสงค์ของการโทรเข้ามา ไม่ว่าจะ ขอความช่วยเหลือ ต้องการไปรพ. ,ต้องการอาหาร , แจ้งว่าป่วย เป็นต้น

—–

และนี่ก็คือตัวอย่างของการใช้ชีวิตของคนจีน ในช่วง Lockdown รวมถึงมาตรการของทางจีนที่ออกมาบังคับใช้เพื่อช่วยเหลือประชาชน

สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นแนวทางที่ดีได้สำหรับบ้านเรา หากต้อง Lockdownจริงๆ

#อ้ายจง #เล่าเรื่องเมืองจีน #ชีวิตในจีน





ขอบคุณที่มาของข้อมูล :
แฟนเพจอ้ายจง