ไฮไลท์
- ประเทศจีนในวันนี้กำลังจะสิ้นสุดยุคสินค้าและค่าแรงถูก อุตสาหกรรมการผลิตในจีนแผ่นดินใหญ่ได้เข้าสู่ยุคดิจิทัล ยุคสมัยที่การผลิตมุ่งเน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม ยุคสมัยที่ธุรกิจ(ต่างชาติ)ต้องหันมามองจีนในฐานะ “ตลาดผู้บริโภค” ขนาดใหญ่มากกว่าการมองว่าจีนเป็น “โรงงานโลก” อย่างเช่นในอดีต
- ทางการกว่างซีใช้กลไก “เงินเดือน” เป็นเครื่องมือในการสร้างความสมดุลให้กับระบบเศรษฐกิจและสังคม และนำพากว่างซีเข้าสู่ “สังคมเสี่ยวคัง” (สังคมกินดีอยู่ดี) ซึ่งการประกาศเกณฑ์อ้างอิงเงินเดือนเป็นหนึ่งในแนวทางที่รัฐบาลนำมาใช้เพื่อให้วิสาหกิจใช้ประกอบการจ้างงานลูกจ้างตามความสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน
- เทรนด์การจ้างงานในกว่างซี(จีน)ได้เปลี่ยนแปลงไป องค์กรธุรกิจต้องการพนักงานที่มีทักษะรอบด้าน นอกจากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในสายงานตนเองแล้ว ยังต้องการพนักงานที่มีทักษะด้านดิจิทัล การออกแบบดีไซน์ และความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อมัลติมีเดีย เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (digital transformation) ซึ่งขณะนี้ ตลาดยังอยู่ในสภาวะขาดแคลน ทั้งนี้ ในบางกลุ่มอาชีพพบว่ากำลังถูกทดแทนด้วยการใช้ระบบอัตโนมัติ โดยเฉพาะแรงงานในสายการผลิต
ทางการกว่างซีใช้กลไก “เงินเดือน” เป็นเครื่องมือในการสร้างความสมดุลให้กับระบบเศรษฐกิจและสังคม และนำพากว่างซีเข้าสู่ “สังคมเสี่ยวคัง” (สังคมกินดีอยู่ดี) เมื่อไม่นานมานี้ กรมทรัพยากรมนุษย์และหลักประกันสังคมเขตฯ กว่างซีจ้วง (Guangxi Human Resources and Social Security Department/广西人力资源和社会保障厅) ได้ประกาศเกณฑ์อ้างอิงเงินเดือนสำหรับตลาดแรงงานเขตฯ กว่างซีจ้วง ปี 2564 เพื่อให้วิสาหกิจใช้ประกอบการจ้างงานลูกจ้าง
ตามรายงาน กรมทรัพยกรมนุษย์ฯ ได้เก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ข้อมูลจากประกาศรับสมัครงานของบริษัท 12,266 ราย ซึ่งเปิดสมัครงานรวม 45,606 ตำแหน่ง จำนวนการรับสมัคร 517,085 คน เงินเดือนเฉลี่ยได้รวมเงินค่าตอบแทนรายชั่วโมง รายชิ้นงาน เงินรางวัล เงินอุดหนุน และค่าตอบแทนนอกเวลาแล้ว โดยเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 6,126 หยวน
กรมทรัพยากรมนุษย์ฯ ได้จำแนกสาขาอาชีพเป็น 6 กลุ่มใหญ่ ประกอบด้วย (1) สายงานบริหารจัดการ 9,528 หยวน (2) สายทักษะวิชาชีพเฉพาะด้าน 6,413 หยวน (3) สายปฏิบัติการ 4,784 หยวน (4) สายงานบริการ 5,631 หยวน (5) สายงานเกษตร ป่าไม้ ปศุสัตว์ และประมง 5,647 หยวน และ (6) สายงานผลิต 4,750 หยวน
ตามรายงาน พบว่า เงินเดือนในสายงานบริหารจัดการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในทุกตำแหน่ง เนื่องจากการตลาดที่มีการแข่งขันสูง องค์กรธุรกิจจึงต้องการพนักงานที่มีทักษะที่หลากหลาย นอกจากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในสายงานตนเองแล้ว ยังจำเป็นต้องมีทักษะด้านดิจิทัล การออกแบบดีไซน์ และความรู้ในงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อมัลติมีเดีย เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (digital transformation) ซึ่งขณะนี้ ตลาดยังอยู่ในสภาวะขาดแคลน (talent shortage) ขณะที่ในบางกลุ่มอาชีพอย่างแรงงานในสายการผลิต กำลังถูกทดแทนด้วยการใช้ระบบอัตโนมัติ
นอกจากนี้ สื่อให้ความสนใจกับเงินเดือนในสายงานบริการค่อนข้างมาก โดยเฉพาะพนักงานรับส่งพัสดุ มีเงินเดือนเฉลี่ยขั้นกลางอยู่ที่ 7,134 หยวน (เงินเดือนเฉลี่ยขั้นสูงอยู่ที่ 9,677 หยวน) พนักงานเดลิเวอรี 5,965 หยวน (เงินเดือนเฉลี่ยขั้นสูงอยู่ที่ 7,238 หยวน) และพนักงานร้านค้าออนไลน์ 5,213 หยวน (เงินเดือนเฉลี่ยขั้นสูงอยู่ที่ 7,049 หยวน)
ขณะที่สายงานบริการและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับที่พักอาศัยก็เป็นอีกจุดสนใจของสื่อเช่นกัน อาทิ พนักงานขายอสังหาริมทรัพย์ 10,401 หยวน (เงินเดือนเฉลี่ยขั้นสูงอยู่ที่ 14,463 หยวน) คนงานติดกระเบื้อง 6,802 หยวน (เงินเดือนเฉลี่ยขั้นสูงอยู่ที่ 11,218 หยวน) และคนงานประกอบวัสดุประตูตู้ 6,581 หยวน (เงินเดือนเฉลี่ยขั้นสูงอยู่ที่ 10,541 หยวน)
การประกาศเกณฑ์อ้างอิงเงินเดือนเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวสำคัญ หลังจากที่ปีที่แล้ว รัฐบาลกว่างซีมีมติปรับค่าแรงขั้นต่ำทุกพื้นที่ในมณฑล เพื่อสร้างหลักประกันการดำรงชีวิตของผู้ที่มีรายได้ต่ำให้เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เฉลี่ยเพิ่มราว 9% มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 ซึ่งเป็นไปตาม “แผนการเพิ่มรายได้เฉลี่ยที่ใช้จ่ายได้เป็นเท่าตัวของประชากรเขตเมือง” โดยใช้เกณฑ์การพิจารณาจากอัตราค่าครองชีพ โดยเฉพาะรายจ่ายในการดำรงชีพของประชาชนเขตเมือง สัดส่วนการนำส่งเงินประกันสังคมของพนักงาน เงินกองทุนเพื่อที่อยู่อาศัย เงินเดือนเฉลี่ยของพนักงาน ภาวะเศรษฐกิจและสังคม ภาวะเงินเฟ้อ ผลิตภาพแรงงาน รายได้เฉลี่ย รวมถึงเป้าหมายแผนพัฒนาเศรษฐกิจประจำปี สถานการณ์การจ้างงาน ต้นทุนแรงงาน และผลประกอบการธุรกิจ
BIC ขอเน้นว่า กลไกเงินเดือนสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศจีนในวันนี้กำลังจะสิ้นสุดยุคสินค้าและค่าแรงถูก อุตสาหกรรมการผลิตในจีนแผ่นดินใหญ่กำลังเข้าสู่ยุคดิจิทัล ยุคสมัยที่การผลิตมุ่งเน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม ยุคสมัยที่ธุรกิจ(ต่างชาติ)ต้องหันมามองจีนในฐานะ “ตลาดผู้บริโภค” ขนาดใหญ่ที่มีความหลากหลายและศักยภาพในการจับจ่ายใช้สอยมหาศาล มากกว่าการมองว่าจีนเป็น “โรงงานโลก” อย่างเช่นในอดีต
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.sina.com (新浪网) วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564
ภาพประกอบ www.freepik.com