นายหวาง จินไห่ เกษตรกรชาวสวนผลไม้ในเมืองเป่าซานของมณฑลยูนนาน มีโอกาสขายเสาวรสในราคาสูงเป็นครั้งแรกภายหลังเพาะปลูกเสาวรสมาเป็นเวลา 3 ปี โดยนอกจากนายหวางแล้ว ยังมีเกษตรกรชาวสวนผลไม้จากอีกกว่า 300 หมู่บ้านทั่วมณฑลยูนนานที่มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 จากการเพาะปลูกและควบคุมคุณภาพผลผลิตเสาวรสตามมาตรฐานที่อาลีบาบากำหนด
จากสถิติของอาลีบาบาพบว่า ในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม 2563 ยอดขายเสาวรสของมณฑลยูนนานภายใต้ห่วงโซ่อุปทานการเกษตรดิจิทัลและช่องทางการจำหน่ายของบริษัท ได้แก่ Taobao, Tmall และ Hema มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเฉลี่ยเดือนละกว่า 2 เท่าตัว
ที่ผ่านมา เสาวรสนำเข้าเป็นตัวเลือกอันดับแรกของผู้บริโภคจีนมาโดยตลอด โดยจีนเองเริ่มมีการปลูกเสาวรสเชิงพาณิชย์เมื่อปี 2555 ในเขตฯ กว่างซี มณฑลฝูเจี้ยน มณฑลยูนนาน และมณฑลกุ้ยโจว โดยมณฑลยูนนานและมณฑลกุ้ยโจวนับเป็นแหล่งผลิตเสาวรสแหล่งใหม่ และการร่วมมือด้านเกษตรดิจิทัลกับอาลีบาบายังช่วยทำให้เสาวรสของมณฑลยูนนานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค
ผลผลิตเสาวรสของมณฑลยูนนานมีคุณภาพดีจากปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการเพาะปลูก โดยการประกาศก่อตั้ง “แปลงเกษตรดิจิทัล” (数字农业基地) จำนวน 1,000 แห่งทั่วจีนของอาลีบาบาเมื่อเดือนตุลาคม 2562 ที่รวมถึงในมณฑลยูนนานด้วย มีส่วนช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรในมณฑลหันมาเพาะปลูกเสาวรสอย่างจริงจังมากขึ้น จากที่ในช่วงเริ่มแรกนิยมปลูกแซมในพื้นที่ว่างจากการเพาะปลูกพืชประเภทอื่นเท่านั้น ทั้งนี้ มณฑลยูนนานยังนับเป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญในการส่งเสริมการเกษตรดิจิทัลของอาลีบาบา เนื่องจากมีศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพสูง โดยเฉพาะการเกษตรที่ราบสูง กอปรกับการดำเนินยุทธศาสตร์ “ไพ่สามใบ” ของรัฐบาลมณฑลยูนนานที่เน้นการพัฒนาอาหารสีเขียว พลังงานสีเขียว และการเป็นจุดหมายปลายทางรักษ์สุขภาพ
นอกจากนี้ ในเดือนธันวาคม 2562 อาลีบาบายังได้เปิด “ศูนย์การเกษตรดิจิทัลอาลีบาบา” (数字农业集运加工中心) ในนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน โดยเป็นศูนย์การเกษตรดิจิทัลของบริษัทกลุ่มแรกในจำนวน 5 แห่งทั่วจีน นอกจากที่เขตฯ กว่างซี มณฑลเสฉวน มณฑลส่านซี และมณฑลซานตง ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2563 อาลีบาบากับมณฑลยูนนานยังยกระดับความร่วมมือระหว่างกัน ด้วยการลงนามข้อตกลงความร่วมมือยุทธศาสตร์เชิงลึกและข้อตกลงอื่น ๆ อีก 11 รายการ
อาลีบาบาเปิดเผยว่า บริษัทมีความตั้งใจสร้างมณฑลยูนนานให้เป็น “ตะกร้าผลไม้ดิจิทัลของจีน” ยกตัวอย่างเช่น เสาวรสซึ่งได้มีการก่อตั้งแปลงเกษตรดิจิทัลเสาวรสหลายแห่งในมณฑลยูนนาน โดยเฉพาะที่อำเภอชางหนิงในเมืองเป่าซาน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเสาวรสขนาดใหญ่หนึ่งในสามแหล่งของมณฑล ทั้งนี้ หัวใจสำคัญของ “ตะกร้าผลไม้ดิจิทัล” ได้แก่ การกำหนดมาตรฐานผลิตผลทางการเกษตรซึ่งสัมพันธ์กับการกำหนดราคาและแนวทางการเพาะปลูกตามเป้าหมายการเกษตรแนวทางใหม่ที่มี “คุณภาพเยี่ยม ราคาดี มีประสิทธิผล”
ภายหลังจากที่อาลีบาบาเลือกเสาวรสเป็นผลิตภัณฑ์หลักในปี 2563 ก็ได้จัดตั้งแผนกเกษตรดิจิทัล โดยบูรณาการความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในบริษัทเข้ามาดูแลสินค้าเสาวรสทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การรับซื้อ การคัดแยก การขนส่ง และการจำหน่าย โดยเฉพาะในขั้นตอนการคัดแยกซึ่งศูนย์การเกษตรดิจิทัลอาลีบาบาในนครคุนหมิงได้นำระบบการคัดแยกอัจฉริยะมาจัดแบ่งคุณภาพเสาวรสเป็น 8 ประเภทตามความต้องการที่แตกต่างกันของผู้บริโภคในแพลตฟอร์ม Taobao, Tmall และ Hema
ในภาพรวม ยอดขายและรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องช่วยให้เกษตรกรผู้เพาะปลูกเสาวรสในมณฑลยูนนานมีความมั่นใจ นำไปสู่การขยายความร่วมมือกับอาลีบาบา โดยพื้นที่เพาะปลูกเสาวรสในอำเภอชางหนิงได้ขยายเพิ่มขึ้นจาก 3,000 หมู่ (ประมาณ 1,250 ไร่) ในปี 2563 เป็น 10,000 หมู่ (ประมาณ 4,166 ไร่) ในปัจจุบัน
อนึ่ง นอกจากเสาวรส อาลีบาบายังจัดแบ่งระดับคุณภาพสินค้าเกษตรของมณฑลยูนนานรวม 18 ชนิด เช่น ส้ม องุ่น และข้าวโพดข้าวเหนียว เป็นต้น ซึ่งไม่เพียงสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังช่วยให้สินค้าเกษตรคุณภาพดีของมณฑลยูนนานสามารถจำหน่ายได้ในราคาดีอีกด้วย ปัจจุบัน อาลีบาบาได้เริ่มนำต้นแบบ “ตะกร้าผลไม้ดิจิทัล” ในมณฑลยูนนานไปประยุกต์ใช้ในมณฑลกุ้ยโจวและเขตฯ กว่างซีแล้ว
ที่มา: http://yn.yunnan.cn/system/2021/01/17/031239495.shtml
http://yn.yunnan.cn/system/2020/07/21/030817300.shtml