ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 13 (2559-2563) มณฑลหูหนานได้เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะด้านการคมนาคม รวมทั้งขยายขนาดการลงทุนด้านการขนส่งอย่างต่อเนื่อง จนสามารถเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ด้านการจราจรและความเป็นเมืองของมณฑล ส่งผลดีต่อการเดินทางของประชาชน
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หูหนานสร้างเส้นทางรถไฟเพิ่มขึ้น 991 กิโลเมตร ทำให้ปัจจุบัน มณฑลมีเส้นทางรถไฟทั้งสิ้น 5,582 กิโลเมตร ในจำนวนนี้ เป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูง 1,986 กิโลเมตร สูงเป็นอันดับที่ 3 ของจีน ที่สำคัญ เส้นทางรถไฟความเร็วสูงยังพาดผ่านเกือบทุกเมืองของมณฑล ยกเว้นเขตฯ เซียงซี ขณะเดียวกัน การเชื่อมโยงด้านคมนาคมของกลุ่มเมือง “ฉางซา-จูโจว-เซียงถาน” ที่มีทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟระหว่างเมือง และทางด่วน ยังทำให้ทั้งสามเมืองสามารถเดินทางถึงกันได้ภายในระยะเวลาครึ่งชั่วโมง นอกจากนี้ นครฉางซายังมีรถไฟใต้ดินให้บริการถึง 5 เส้นทาง รวมระยะทางที่เปิดใช้งานแล้วกว่า 100 กิโลเมตร
ในส่วนของถนน หูหนานสร้างทางด่วนใหม่เพิ่มขึ้น 21 เส้นทาง รวม 1,300 กิโลเมตร ทำให้ปัจจุบัน มณฑลมีทางด่วนที่เปิดใช้งานแล้ว 6,953 กิโลเมตร สูงเป็นอันดับที่ 7 ของจีน นอกจากนี้ ภายในปี 2563 หูหนานจะมีทางด่วนเชื่อมถึงทุกอำเภอและมีทางหลวงครอบคลุมทุกหมู่บ้านของมณฑล โดยมีระยะทางของทางหลวงกว่า 200,000 กิโลเมตร
เส้นทางอากาศ หูหนานเปิดท่าอากาศยานใหม่เพิ่ม 2 แห่ง ทำให้ปัจจุบัน มณฑลมีท่าอากาศยานรวม 8 แห่ง โดยมีท่าอากาศยานนานาชาติหวงฮัว นครฉางซา เป็นท่าอากาศยานหลักของมณฑลที่มีเส้นทางบินทั้งในและต่างประเทศรวม 145 เส้นทาง รวมทั้งอยู่ระหว่างขยายเส้นทางบินเพิ่มเติม เพื่อให้กลายเป็นศูนย์กลางวงกลมเศรษฐกิจการบินภายในระยะ 4 ชั่วโมง
เส้นทางน้ำ หูหนานได้เพิ่มศักยภาพเครือข่ายการขนส่งทางน้ำ ทำให้ปัจจุบัน มณฑลมีระยะทางเดินเรือ 12,000 กิโลเมตร สูงเป็นอันดับที่ 3 ของจีน และมีเส้นทางเดินเรือที่สามารถรองรับเรือขนาดระวางบรรทุกกว่า 1,000 ตัน เป็นระยะทาง 1,111 กิโลเมตร
ทั้งนี้ ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 14 (2564-2568) หูหนานจะผลักดันให้มณฑลกลายเป็น “ฮับ” การขนส่งระดับประเทศ ด้วยการสร้างเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงภายในมณฑลให้สามารถเดินทางถึงกันได้ภายใน 2 ชั่วโมง และสามารถเดินทางถึงเมืองเอกของมณฑลข้างเคียงภายใน 3 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังมีแผนสร้างเครือข่ายทางด่วนเพื่อเสริมสร้างการขนส่งระหว่างมณฑล เสริมสร้างการเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำ และสร้างเครือข่ายการบินที่ทันสมัย เพื่อส่งเสริมให้นครฉางซากลายเป็นวงกลมเศรษฐกิจระหว่างประเทศภายในระยะ 4 ชั่วโมง
ที่มา: https://mp.weixin.qq.com/s/Sut1cR1-DlrCs0Fyzu0BwA
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู