• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • ประมวลผลสำเร็จการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรของมณฑลยูนนานช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ชูจุดเด่น “เกษตรที่ราบสูงทันสมัยที่มีเอกลักษณ์” และผู้นำการผลิต “อาหารสีเขียว”

ประมวลผลสำเร็จการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรของมณฑลยูนนานช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ชูจุดเด่น “เกษตรที่ราบสูงทันสมัยที่มีเอกลักษณ์” และผู้นำการผลิต “อาหารสีเขียว”

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 รัฐบาลมณฑลยูนนานจัดงานแถลงข่าวผลการพัฒนา “อุตสาหกรรมเกษตรที่ราบสูงทันสมัยที่มีเอกลักษณ์” ตลอดช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 13 (2559-2563) ซึ่งหน่วยงานด้านการเกษตรและชนบทในทุกระดับของมณฑลยูนนานได้ดำเนิน “การปฏิรูปโครงสร้างอุปทานด้านการเกษตร” โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมการเกษตร ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตไปจนถึงการจำหน่ายผลิตผล ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าเกษตรจากมณฑลยูนนาน แต่ยังส่งผลให้อัตราการขยายตัวของรายได้เกษตรกรในมณฑลอยู่ในอันดับต้น ๆ ของจีน นอกจากนี้ มณฑลยูนนานยังดำเนินนโยบาย “ก้าวออกไป” ด้านเกษตรกรรมด้วยการเข้าไปลงทุนปลูกพืชผลทางการเกษตร
ในประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการส่งผลิตผลทางการเกษตรออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ เป็นต้น

สำหรับผลการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรตลอดระยะเวลา 5 ปีของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 13 ที่สำคัญ ประกอบด้วย

การเกษตรที่มีเอกลักษณ์ ได้แก่

– มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมขั้นปฐมภูมิเพิ่มขึ้นจาก 205,600 ล้านหยวนในปี 2558 เป็น 303,800 ล้านหยวนในปี 2562 พร้อมขยับจากอันดับ 14 ขึ้นไปอยู่ในอันดับที่ 11 ของจีน

– ปริมาณผลผลิตพืชอาหารมากเป็นอันดับที่ 14 ของจีนอย่างต่อเนื่องหลายปี โดยในปี 2563 มีผลผลิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของมณฑยูนนานด้วยปริมาณ 18.96 ล้านตัน

– ผลผลิตเนื้อสุกร โค แพะ และสัตว์ปีกในปี 2563 มีปริมาณรวม 4,060,000 ตัน ขยับจากอันดับที่ 11 ในปี 2558 ขึ้นไปอยู่ในอันดับที่ 7 ของจีน

– อุตสาหกรรมดอกไม้ตัดสดของมณฑลยูนนานมีพื้นที่เพาะปลูกและปริมาณผลผลิตมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก

–  พื้นที่เพาะปลูกและปริมาณผลผลิตยางพาราธรรมชาติ กาแฟ ยาสูบ วอลนัต และสมุนไพรจีน มากเป็นอันดับหนึ่งของจีนอย่างต่อเนื่องหลายปี

– พื้นที่เพาะปลูกและปริมาณผลผลิตอ้อยและใบชา มากเป็นอันดับ 2 ของจีน

– ได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์อาหารสีเขียว 1,746 รายการ ขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 8 ของจีน

– ได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์อินทรีย์ 1,169 รายการ ขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 6 ของจีน

– มีพื้นที่ปลูกชาอินทรีย์ 525,000 หมู่ (ประมาณ 218,750 ไร่) มากเป็นอันดับหนึ่งของจีน

– มีพื้นที่ปลูกผักอินทรีย์ 97,500 หมู่ (ประมาณ 40,625 ไร่) มากเป็นอันดับหนึ่งของจีน

– สินค้าเกษตรของมณฑลยูนนานมีจำหน่ายในกว่า 150 เมืองทั่วประเทศจีน รวมถึงส่งออกไปจำหน่ายกว่า 110 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก  ทั้งนี้ ในปี 2562 มณฑลมีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรรวม 4,780 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสินค้าเกษตรนับเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของมณฑล นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของมณฑลยูนนานสูงเป็นอันดับหนึ่งในบรรดามณฑลภาคตะวันตกเฉียงใต้และสูงเป็นอันดับที่ 6 ของจีน โดยในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2563 มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของมณฑลยูนนานเติบโตสวนกระแสโควิด-19 โดยขยายตัวถึงร้อยละ 9 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562

อุตสาหกรรมป่าไม้และทุ่งหญ้า ได้แก่

– มีพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ 423 ล้านหมู่ (ประมาณ 176 ล้านไร่) มีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 359 ล้านหมู่ (ประมาณ 150 ไร่) มีปริมาณสำรองไม้ 2,020 ล้านลูกบาศก์เมตร มากเป็นอันดับที่ 2 ของจีน มีพื้นที่ป่าไม้ครอบคลุมเนื้อที่มณฑลร้อยละ 62.4

– มูลค่าอุตสาหกรรมป่าไม้และทุ่งหญ้าของมณฑลยูนนานเพิ่มขึ้นจาก 170,200 ล้านหยวนในปี 2559 เป็น 252,256 ล้านหยวนในปี 2562 คิดเป็นอัตราเฉลี่ยร้อยละ 14 ต่อปี

– มีพื้นที่เพาะปลูกวอลนัต 43 ล้านหมู่ (ประมาณ 18 ล้านไร่) มีปริมาณผลผลิต 1.2 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35.8 และ 28.7 ของจีน มากเป็นอันดับหนึ่งของโลก คิดเป็นมูลค่า 29,500 ล้านหยวน

– มีพื้นที่เพาะปลูกแมกคาเดเมีย 3,300,000 หมู่ (ประมาณ 1,375,000 ไร่) มากเป็นอันดับหนึ่งของโลก พื้นที่เพาะปลูกคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60.6 ของโลกและร้อยละ 90 ของจีน มีปริมาณผลผลิต 46,800 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1,436 ล้านหยวน

– มณฑลยูนนานมีเห็ดป่า 2,753 ชนิด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 94 ของจีน มีปริมาณผลผลิตกว่า 1,000,000 ตัน แต่มีปริมาณการเก็บเห็ดป่า 200,000 ตัน ครองสัดส่วนร้อยละ 50 ของโลกและร้อยละ 66 ของจีน คิดเป็นมูลค่ากว่า 10,000 ล้านหยวน

– อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ อาทิ การท่องเที่ยว สุขภาพ มีการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่า 60 ล้านหมู่ (ประมาณ 25 ล้านไร่) คิดเป็นมูลค่า 65,000 ล้านหยวน สร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนกว่า 1,300,000 คน สร้างรายได้แก่ประชาชนเฉลี่ยรายละ 1,100 หยวน  ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2559 กิจการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและการใช้ป่าเพื่อฟื้นฟูสุขภาพของมณฑลยูนนานต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนและต่างชาติรวม 73.55 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 20,571 ล้านหยวน

พืชอาหาร ได้แก่

– มีปริมาณผลผลิตพืชอาหารต่อปีมากกว่า 18 ล้านตันต่อเนื่อง 5 ปี ปริมาณเฉลี่ยต่อจำนวนประชากรในมณฑลยูนนานมากกว่าคนละ 380 กิโลกรัม

– มีปริมาณธัญญาหารสำรอง 2,250,000 ตัน สร้างคลังสำรองข้าวสารระดับมณฑลขนาด 150,000 ตัน คลังสำรองธัญญาหารสำเร็จรูประดับมณฑลขนาด 50,000 ตัน และมีปริมาณสำรองน้ำมันเพื่อการบริโภค 90,000 ตัน

– ปัจจุบัน มณฑลยูนนานมี่ปริมาณสำรองพืชอาหารอยู่ในระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์ของมณฑล สามารถรองรับการบริโภคภายในมณฑลได้เป็นระยะเวลามากกว่า 4 เดือนครึ่ง

ในภาพรวม การเดินทางตรวจเยี่ยมมณฑลยูนนานของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อเดือนมกราคม 2558 นับเป็นแรงผลักดันให้อุตสาหกรรมการเกษตรของมณฑลยูนนานเกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยประธานาธิบดีสีได้มอบภารกิจให้มณฑลยูนนานใช้ประโยชน์จากพื้นฐานทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายพัฒนา “การเกษตรที่ราบสูงทันสมัยที่มีเอกลักษณ์” อย่างเต็มที่ ต่อมา เมื่อเดือนมกราคม 2563 ประธานาธิบดีสีได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมมณฑลยูนนานอีกครั้งและได้ชื่นชมความสำเร็จของมณฑล
ที่สามารถยกระดับความปลอดภัยและความมั่นคงด้านอาหาร รวมทั้งยังเน้นย้ำให้มณฑลเร่งปฏิรูปโครงสร้างอุปทานด้านการเกษตรเพื่อพัฒนา “การเกษตรที่ราบสูงทันสมัยที่มีเอกลักษณ์” ให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ที่มา: http://ccwb.yunnan.cn/html/2020-12/16/content_1386521.htm?div=-1

The post ประมวลผลสำเร็จการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรของมณฑลยูนนานช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ชูจุดเด่น “เกษตรที่ราบสูงทันสมัยที่มีเอกลักษณ์” และผู้นำการผลิต “อาหารสีเขียว” appeared first on thaibizchina.

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]